xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหน้าเบื้องหลัง พรรคการเมืองใหม่ : New Politics Party

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในที่สุดการจัดตั้งพรรคการเมืองตามฉันทามติของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2552 ก็ได้เกิดขึ้นเป็นจริงแล้ว เมื่อกลุ่มคน 27 คน ซึ่งมีมากกว่าจำนวนขั้นต่ำ 15 คน ตามกฎหมายได้มารวมตัวกันเมื่อวันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2552 เพื่อมาจัดตั้งพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของประชาชน

27 คน ซึ่งมีผู้หญิงกว่าครึ่งหนึ่งได้มารวมตัวกัน ประชุมกันอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อก่อตั้งพรรค ซึ่งแค่บรรยากาศการประชุม “จริง” เพื่อก่อตั้งพรรค ก็แตกต่างกับหลายพรรคการเมืองที่ประชุมเพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองตามเอกสารเท่านั้น และก็ไม่ได้มีการประชุมกันจริง

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน เป็นตัวแทนในการร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ และเชิญตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกภูมิภาค และหลากหลายอาชีพ ทั้งนักธุรกิจ ทหาร แรงงาน เกษตรกร ศิลปิน นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ที่น่าสนใจตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ การก่อตั้งพรรคการเมืองครั้งนี้มีผู้หญิงเข้ามาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งเกือบครึ่งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมมากที่สุดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

การประชุมมีบรรยากาศเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เมื่อผู้เข้าร่วมในการก่อตั้งต่างแสดงความเห็นกันอย่างอิสระ ตั้งแต่การตั้งชื่อพรรค การเลือกหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค โฆษกพรรค และกรรมการบริหารพรรค ล้วนแล้วแต่มีการเสนอ การอภิปราย ในทุกหัวข้ออย่างกว้างขวางและมีการลงมติยกมือในทุกวาระ

เมื่อตั้งบรรทัดฐานไว้เช่นนี้ จึงหมายถึงว่าหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค เลขาธิการพรรค โฆษกพรรคในอนาคต “หลังจากมีสมาชิกพรรคและสาขาพรรคตรงตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้” ก็ต้องมาจากประชาชนเช่นเดียวกัน

พรรคชื่อ “การเมืองใหม่” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “New Politics Party” ใช้ชื่อย่อภาษาไทยว่า ก.ม.ม. และมีตัวย่อภาษาอังกฤษว่า “N.P.s.P” ส่วนตัวอักษร N.P หรือ N.P.P. นั้นมีพรรคการเมืองใช้แล้วไม่สามารถใช้ซ้ำได้อีก

สำหรับตราประจำสัญลักษณ์พรรคในเบื้องต้น ที่ประชุมได้เสนอออกแบบมาเบื้องต้น (ซึ่งอาจมีการปรับปรุงอีก) เป็นดังที่ปรากฏข้างต้น มีคำอธิบายดังนี้

สีเขียวหมายถึง การเมืองใหม่ เป็นการเมืองที่ไร้มลพิษ โปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต สร้างชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ สีเหลืองหมายถึงธรรมะเป็นการเมืองที่ใช้ธรรมนำหน้า มือสีเหลือง 4 มือหมายถึง มือของประชาชนที่ยึดมั่นในธรรมจากทุกภูมิภาค ทุกภาคส่วน และทุกสาขาอาชีพ มาร่วมมือกันเพื่อโอบอุ้มและลงมือทำการเมืองใหม่ด้วยมือประชาชนเอง โดยมีหัวใจสีเหลือง หมายถึงศูนย์กลางจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ยึดมั่นในธรรมและราชบัลลังก์ ส่วนมีหัวใจ 4 ดวงหมายถึงมีหัวใจที่แน่วแน่ที่จะยึดมั่นอุดมการณ์ด้วยความเสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และมีความสามารถ

แต่ที่สำคัญไปมากกว่านั้นชื่อ “พรรคการเมืองใหม่” ที่กำลังจะก่อตัวขึ้นกำลังจะเป็นองค์กรที่เปรียบเทียบกับ “พรรคการเมืองเก่า” ทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบ

เส้นแบ่งระหว่างการเมืองใหม่กับการเมืองเก่า แตกต่างกันที่เนื้อหาสาระ 10 ประการดังต่อไปนี้

1. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่เลือกข้างในคุณงามความดี ยึดมั่นในจริยธรรม และศีลธรรม ในขณะที่การเมืองเก่าคือการเมืองเลือกข้างความชั่ว ไม่มีจริยธรรม และไม่มีศีลธรรม

2. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่เลือกข้างความซื่อสัตย์ สุจริต การเมืองเก่าคือการเมืองที่เลือกข้างความทุจริต ฉ้อฉล

3. การเมืองใหม่ คือการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม การเมืองเก่าคือการเห็นแก่ตัวทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

4. การเมืองใหม่ คือความกล้าหาญในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพร้อมเลือกข้างความถูกต้องชอบธรรม การเมืองเก่าคือความขลาดกลัวในการตัดสินใจ ไม่กล้าเลือกข้างความถูกต้องหรือข้างใดๆ

5. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างโปร่งใส การเมืองเก่าคือการเมืองที่นักการเมืองและนายทุนเพียงไม่กี่คนในการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง

6. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่ส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมือง และหาทางป้องกันมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ การเมืองเก่าคือการเมืองที่ส่งเสริมให้นายทุนของพรรคทำมาหากินเพื่อคืนทุนพรรคอย่างสามานย์ คนดีไม่มีอำนาจ คนชั่วครองเมือง

7. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นธรรมในสังคมและเน้นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ส่วนการเมืองเก่า คือการเมืองที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจตกอยู่ในอาณัตินายทุนผูกขาดเพียงไม่กี่คน

8. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่พัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นฐานในการดำเนินชีวิตและอาชีพตามภูมินิเวศน์ การเมืองเก่าคือการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนเพียงไม่กี่คนแต่ทำลายวิถีชีวิตและทรัพยากรของคนทั้งชาติ

9. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่ให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพที่ใช้ได้ในชีวิตจริงควบคู่ไปกับคุณธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ส่วนการเมืองเก่าคือการเมืองที่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเอาชนะทางการเมืองและเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่สร้างประโยชน์ผูกขาดให้กับนายทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม

10. การเมืองใหม่ คือการเมืองที่เปิดกว้างในข้อมูลข่าวสารให้พัฒนาก้าวไกลด้วยข้อมูลข่าวสาร ปฏิรูปสื่อให้เป็นองค์กรพัฒนาจิตสำนึกและศักยภาพของคนในชาติ การเมืองเก่าคือการทำให้สื่อมวลชนเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจของนายทุนและพวกพ้องเป็นสำคัญโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม

มีคำถามว่าพรรคการเมืองใหม่จะมีฐานเสียงอยู่เท่าใด เป็นเรื่องที่ยากแก่การตอบคำถามนี้อย่างยิ่งเพราะพรรคการเมืองใหม่ จะไม่ใช่พรรคเพื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่จะเป็นพรรคของประชาชนทั้งชาติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แต่ผลสำรวจที่เคยทำกันมาที่อาจจะพออ้างอิงได้ ก็ดูเหมือนจะเป็นการสำรวจของ รังสิตโพลล์ ระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ได้สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่งผลของการสำรวจในขณะนั้นยังไม่มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ จึงมีการทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อ “ศักยภาพ” และ “การให้การยอมรับ” ระหว่าง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคนเสื้อแดง ดังต่อไปนี้

1. ประชาชนเห็นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกลุ่มคนที่ “มีศักยภาพ” คิดเป็นร้อยละ 46.89 เห็นว่าไม่มีศักยภาพคิดเป็นร้อยละ 23.68 ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็นคิดเป็นร้อยละ 29.43

2. ประชาชนเห็นว่า นปช. หรือคนเสื้อแดง เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพคิดเป็นร้อยละ 30.29 เห็นว่าไม่มีศักยภาพคิดเป็นร้อยละ 34.51 ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็นคิดเป็นร้อยละ 35.19

3. ประชาชนเห็นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกลุ่มคนที่ “มีศักยภาพและให้การยอมรับ” คิดเป็นร้อยละ 26.84 ส่วนคนเสื้อแดงประชาชนเห็นว่าเป็นกลุ่มคนที่ “มีศักยภาพและให้การยอมรับ” เพียงร้อยละ 15.61

ถ้าเสียงสะท้อนของคนเสื้อแดงเป็นเสียงมวลชนที่มีความเชื่อมโยงกับฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ก็อาจกล่าวได้ว่าฐานเสียงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ซึ่งอาจทับซ้อนกับเสียงของพรรคประชาธิปัตย์) ในวันนี้มีมากกว่าพรรคเพื่อไทย

มิพักต้องพูดถึงการเปรียบเทียบในเชิงปริมาณจากผลการเลือกตั้งที่ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านเสียงในช่วงปี 2544 – 2548 และพรรคไทยรักไทยมีคะแนนเสียงสูงสุดที่ 19 ล้านเสียงในปี 2548 แต่ภายหลังจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 ประชาธิปัตย์มีเสียงเพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านเสียงในปี 2550 ในทางตรงกันข้ามพรรคพลังประชาชนฐานเสียงหายไปประมาณ 6 ล้านเสียงเช่นเดียวกัน

อิทธิพลหลังการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เกิดการเคลื่อนย้ายคะแนนถึง 6 ล้านคะแนน

จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่เสียงสะท้อนต่อสู้กันในเรื่องการตั้ง/ไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่ในอินเทอร์เน็ตมีความรุนแรงมากในหลายเว็บไซต์ เพราะมี “เสียงจำนวนหนึ่ง” ที่ไม่เห็นด้วยนั้นเป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ที่มีมากอยู่พอสมควร

ที่น่าประหลาดใจคือ การสำรวจในครั้งนี้ประชาชนที่เห็นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกลุ่มคนที่ “มีศักยภาพและให้การยอมรับ” มากที่สุดกลับเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นร้อยละ 54.15 และอันดับที่สองรองลงมาคือภาคใต้คิดเป็นร้อยละ 52.55

เสียงจากภาคใต้ซึ่งผูกขาดกับพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ในการประชุมสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เสียงส่วนใหญ่จากภาคใต้กลับตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรตั้งพรรคถึงร้อยละ 74.79

ในขณะที่ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นฐานเสียงของระบอบทักษิณ กลับแสดงความคิดเห็นในการสำรวจของรังสิตโพลล์ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมีศักยภาพและให้การยอมรับเพียงร้อยละ 24.54

แต่เมื่อจำแนกตามรายได้ก็จะพบว่าคนที่มีรายได้สูงจะเห็นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และให้การยอมรับมากกว่าคนที่มีรายได้น้อยดังนี้ รายได้ต่ำกว่า 7,500 บาทเห็นว่าพันธมิตรฯ มีศักยภาพและให้การยอมรับร้อยละ 34.56 ระหว่าง 7,501-20,000 บาท เห็นว่าพันธมิตรฯ มีศักยภาพและให้การยอมรับร้อยละ 39.67 ในขณะที่ผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท เห็นว่าพันธมิตรฯ มีศักยภาพและให้การยอมรับร้อยละ 45.39 และเมื่อจำแนกตามอาชีพพบว่าคนที่ยอมรับพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ทำธุรกิจส่วนตัว, ค้าขาย, รับจ้างทั่วไป, พนักงานเอกชน, ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เป็นผู้ที่จะต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา

และเมื่อสำรวจผู้ที่ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา ปี 2552 มีจำนวน 9,338,200 คน แต่มายื่นเสียภาษี 7,618,319 คน ซึ่งตามกฎหมายสามารถยื่นบริจาคให้พรรคการเมืองไม่เกินรายละ 100 บาท ตามมาตรา 58 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ซึ่งปรากฏว่ามีการยื่นแสดงความจำนงบริจาคให้พรรคการเมืองเพียง 66,364 คน

มีประชาชนได้ยื่นบริจาคภาษีให้พรรคประชาธิปัตย์ 57,124 ราย คิดเป็นเงินประมาณ 5.7 ล้านบาท ที่เหลือจากยอดบริจาคให้พรรคอื่นๆ ซึ่งได้รับน้อยมาก

แต่ถ้าพรรคการเมืองใหม่เป็นความหวังของประชาชนที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุน และทำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง เงินภาษีดังกล่าวซึ่งมีวงเงินประมาณเกือบพันล้านบาท อาจจัดสรรให้กับพรรคการเมืองแห่งความหวังของประชาชนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น