xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ4 กก.บริหารพรรคร่วมผลักดันการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมผู้เข้าร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ มีแนวร่วมพันธมิตรฯจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมประชุมจำนวน 21 คน ทั้งนี้ หลังจากได้มีมติในที่ประชุมให้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคดำรงตำแหน่งต่างๆอย่างไม่เป็นทางการ ทางกรรมบริหารพรรคบางส่วนได้ให้สัมภาษณ์ในสาระสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับทาง ASTVผู้จัดการรายวัน ดังต่อไปนี้

นายบรรจง นะแส กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ในฐานะตัวแทนสาย เอ็นจีโอ กล่าวว่า จากการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอันเนื่องจากนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทิศทางการพัฒนาของรัฐบาลได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ และความขัดแย้งด้านศาสนา และวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิม รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เช่น กรณีกรือเซะ , ตากใบ หรือกรณีที่ประชาชนรวมตัวกันคัดค้านการสร้างโรงแยกก๊าซ และท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย หน่วยราชการก็ใช้อำนาจรัฐทุบตี และจับเข้าคุก ที่ผ่านมา ภาครัฐยัดเยียดโครงการต่างๆ ลงไปในพื้นที่โดยที่ประชาชนไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น
ปัจจัยดังกล่าวทำให้องค์กรเอ็นจีโอ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐก็ตัดสินใจเข้าเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ เพื่อขับไล่รัฐบาล ของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเมื่อการชุมนุมยุติลง และพี่น้องพันธมิตรฯมีมติร่วมกันว่าจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปสู้ในสภา และสร้างการเมืองใหม่ กลุ่มของเราก็เห็นว่า เราควรเข้ามาร่วมขับเคลื่อนตรงนี้ เพราะการเมืองใหม่ดูจะเป็นช่องทางเดียวที่เราพอจะมีความหวังได้ว่า เสียงของประชาชนจะเข้าไปกู่ร้องในสภาได้
"ผมมองว่าการกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศนั้น นโยบายไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งประเทศ เหมือนกันทุกภาค ทุกจังหวัด คือที่ผ่านมา นักการเมืองมักจะกำหนดนโยบายแบบครอบจักรวาล แต่การเมืองใหม่นั้นเท่าที่คุยกันคร่าวๆ คณะกรรมการบริหารชุดก่อตั้งพรรค เราเห็นตรงกันว่า นโยบายมันต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม ของแต่ละพื้นที่"


นายวิลิต เตชะไพบูลย์ กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ และอดีตเจ้าของโรงแรมรีเจนท์ ชะอำ ที่ผันตัวไปทำนา ในฐานะตัวแทนสายเกษตรกร
ด้วยความที่ผมคลุกคลีอยู่กับพี่น้องเกษตรกร ทำให้เห็นชัดว่าการดำเนินนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรนั้นส่วนใหญ่มักเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การประกันราคาข้าว ในขณะที่การกำหนดนโยบายในการผลิตข้าวกลับมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออก คือให้ชาวนาปลูกข้าวให้ได้จำนวนมากๆ แทนที่จะส่งเสริมให้ชาวไร่ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อนโยบายการปลูกข้าวเป็นเช่นนั้น ชาวนาก็ต้องเร่งใส่ปุ๋ย และการรอบการปลูกให้มากขึ้น ซึ่งการทำเช่นนั้นทำให้ชาวนาต้องเป็นหนี้ค่าปุ๋ย ค่ายา กำไรที่ได้จากการขายข้าวก็ไม่พอที่จะใช้หนี้ ทำให้ชาวนาไทยอ่อนแอ และไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง หากเรามีตัวแทนที่มาจากชาวนาเข้าไปในสภาเราก็สามารถสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น และผลักดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างถูกทาง
"พรรคการเมืองใหม่ของเราจะมีแนวทางที่ต่างจากการเมืองเดิมๆ คือให้ประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายด้วย เพราะเขาจะรู้ปัญหาของตัวเองดีที่สุด สำหรับของตัวผมจะเป็นตัวแทนสายเกษตรกรในช่วงเริ่มก่อตั้งพรรคเพื่อที่จะวางโครงสร้างและแนวทางในทำงานเท่านั้น หลังจากนี้จะต้องไปฟังความเห็นจากเกษตรในแต่ละพื้นที่และให้เขาสรรหาตัวแทนที่คิดว่าเหมาะสมต่อไป เพราะการทำงานเราต้องฟังเสียงคนทุกกลุ่ม ส่วนผมก็จะถอยออกไปอยู่ในส่วนของภาคประชาชนเหมือนเดิม"

นางชญาบุญ ศริญญามาศ กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ ตัวแทนพื้นที่สมุย สุราษฎร์ธานี
นโยบายของภาครัฐที่ผ่านมานั้นมุ่งเสริมให้เกาะสมุยพัฒนาในเชิงวัตถุเพียงอย่างเดียว มีหมู่บ้านจัดสรร มีห้างปลีกเต็มไปหมด แต่ไม่ฟังเสียงคนในพื้นที่ว่าเขาต้องการให้สมุยยังคงความเป็นธรรมชาติเอาไว้ เพราะที่นี่เราขายการท่องเที่ยว ขายธรรมชาติ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่คนสมุยจะลุกขึ้นมากำหนดนโยบายในการพัฒนาบ้านเมืองของเราเอง
“ตอนนี้ 80% ต้องการการเมืองใหม่ เพราะที่ผ่านมาเราเลือกนักการเมืองไปแล้ว เขาจะกำหนดนโยบายอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ คนที่ได้รับเลือกตั้งบอกว่าตัวเองมาจากเสียงข้างมาก เสียงข้างมากต้องการอย่างนี้ แล้วเสียงข้างน้อยไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะพูดอะไรไม่ได้เลยหรือ มันก็ไม่ใช่ แต่การเมืองใหม่นี่เขาต้องการให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ฟังข้อคิดเห็นของกันและกัน แล้วก็เอาปัญหานั้นมาแก้ไข แล้วคนสมุยเขาก็ไม่ได้ยึดติดกับพรรคใดพรรคหนึ่งนะ ถ้าถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ นั้นในความเป็นสถาบันของเขาดีไหม ก็ตอบว่าดี แต่ถามว่าในส่วนของตัวบุคคลที่เข้ามาทำงานการเมืองในพรรคล่ะดีหรือเปล่า คือถ้าคนในพรรคประชาธิปัตย์ดี ก็คงต้องออกมาคัดค้านเรื่องการเช่ารถเอ็นจีวีแล้ว แต่นี่ไม่มีเลย"

นางเสาวนีย์ รุ่งช่วง กรรมการบริหารพรรค ตัวแทนพื้นที่ปากช่อง นครราชสีมา ผู้ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นสมาชิกพรรคมาเกือบ 20 ปี เพื่อมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่
เนื่องจากเห็นว่าการตั้งพรรคของพันธมิตรฯ เพื่อเข้าไปทำงานในสภาเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะสามารถผลักดันให้มีการแก้ปัญหาต่างๆ ตามที่ประชาชนต้องได้อย่างแท้จริง เพราะพรรคนี้จะเป็นพรรคที่มีตัวแทนของประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศเข้าไปร่วมในการวางกรอบนโยบาย
“ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวทุกครั้งที่มีวิกฤติการเมืองของประเทศ ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ16 จนมาถึงการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชั่น เพราะอยากเห็นบ้านเมืองไทยดีขึ้น แต่การชุมนุมก็ไม่สามารถทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนจากน้ำเสีย มาเป็นน้ำดีได้ พี่เป็นสมาชิกพรรคพรรคประชาธิปัตย์มาเกือบ 20 ปี เพราะมองว่าพรรคนี้เป็นพรรคที่ดีกว่าพรรคอื่นๆ แต่พรรคก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ดังนั้นถ้าเรามีพรรคที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ และร่วมกำหนดทิศทางการทำงานได้ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า"
กำลังโหลดความคิดเห็น