xs
xsm
sm
md
lg

สื่อเทศประโคมข่าว พธม.ตั้งพรรค-ชี้จะกลายเป็นกลุ่มทรงอิทธิพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขบวนพาเหรดในงานรำลึก193 วัน 1 ปีการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ASTVผู้จัดการรายวัน/เอเจนซี - สื่อมวลชนต่างประเทศพากันรายงานข่าว พันธมิตรฯลงมติจัดตั้งพรรคการเมือง โดยสำนักข่าวเอเอฟพี และหนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลในแวดวงการเงินโลก อย่าง วอลล์สตรีท เจอร์นัล ประเมินว่า เป็นการสร้างกลุ่มพลังซึ่งมีศักยภาพที่จะกลายเป็นกลุ่มทรงอิทธิพล

สำนักข่าวระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์ ต่างรายงานข่าวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ลงมติด้วยเสียงท่วมท้นให้จัดตั้งพรรคการเมือง ขณะที่ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ก็ตีพิมพ์รายงานข่าวนี้ไว้ทั้งในฉบับที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ และในฉบับเอเชีย

ทั้ง เอเอฟพี และรอยเตอร์ ใจตรงกัน โดยในพาดหัวข่าวต่างใช้คำว่า “เสื้อเหลือง”

เอเอฟพี นั้น กล่าวว่า พรรคการเมืองใหม่พรรคนี้มีสัญญาณส่อแสดงว่าจะทรงอิทธิพล โดยมีศักยภาพที่จะดึงคะแนนเสียงจากฐานสนับสนุนเดียวกันกับที่หนุนหลังคณะรัฐบาลผสมอันง่อนแง่นของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนหน้าการเลือกตั้งซึ่งอาจจะจัดขึ้นในปีหน้า

ขณะที่ รอยเตอร์ บอกว่า กลุ่มพันธมิตรฯประกาศที่จะต่อสู้เพื่อ “การเมืองใหม่” ที่สะอาดกว่า มีความรับผิดชอบและตรวจสอบได้มากกว่า

แต่ รอยเตอร์ ติดใจกับคำพูดของ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่กล่าวว่า หลังจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว ก็จะไม่หยุดขบวนการต่อสู้ตามท้องถนน แต่ทั้งสองส่วนนี้จะเสริมซึ่งกันและกัน

สำนักข่าวแห่งนี้ได้อ้างคำพูดของ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ศาสตราจารย์แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่กล่าวว่า “การเมืองไทยจะไม่ได้ประโยชน์ ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งมีขบวนการเคลื่อนไหวตามท้องถนนของตนเอง”

นอกจากนั้น รอยเตอร์ ยังได้อ้างข้อเขียนของ นายวีระ ประทีปชัยกุล คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่บอกว่า กลุ่มพันธมิตรฯยังจะต้องอธิบายให้ชัดเจนถึงวาระของตนในเรื่องเกี่ยวกับพรรคการเมืองใหม่นี้ โดย นายวีระ เขียนไว้ว่า ยังแทบไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่า “การเมืองใหม่” หมายถึงอะไร

รอยเตอร์ ระบุด้วยว่า นักวิเคราะห์หลายราย บอกว่า การที่กลุ่มพันธมิตรฯหันเข้าสู่การเมืองระบบพรรคแบบกระแสหลักเช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งคงจะต้องมีขึ้นในไม่ช้า และอ้างคำพูดของ นายสุขุม นวลสกุล นักวิเคราะห์การเมือง ที่กล่าวว่า “ถ้าคุณต้องการเตรียมตัวให้พร้อม คุณก็ต้องเริ่มการรณรงค์หาเสียงกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้”

สำหรับรายงานข่าวของวอลล์สตรีท เจอร์นัล กล่าวในย่อหน้าแรกว่า “สมาชิกกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อเหลืองในไทย มีมติให้จัดตั้งพรรคการเมือง เป็นการสร้างกลุ่มที่มีศักยภาพจะกลายเป็นกลุ่มทรงอิทธิพล ในขณะที่ประเทศกำลังดิ้นรนหาทางรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

วอลล์สตรีท เจอร์นัล เล่าว่า สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรือนหมื่น ได้รวมตัวกันที่สนามกีฬาแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีในวันจันทร์ (25) และลงมติให้กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นและคว่ำรัฐบาลไปแล้วถึงสองชุด จัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ โดยผู้ชุมนุมได้ลงมติดังกล่าวด้วยการพร้อมใจกันลุกขึ้นยืนเกือบทั้งหมด

ทั้งนี้ ในการชุมนุมคราวนี้ ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมาก ยังคงสวมเสื้อสีเหลืองอันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม และบางส่วนก็ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไว้ด้วย

หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลฉบับนี้ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงคราวนี้แสดงถึงการขยายบทบาททางการเมืองของพวกแกนนำกลุ่ม และคาดว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นพลังขับดันการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ จะมีบทบาทเพิ่มขึ้น

วอลล์สตรีท เจอร์นัล ให้ภูมิหลังว่า การลงมติตั้งพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ มีขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะเลวร้ายที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หดตัวลงถึง 7.1 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้า และนับเป็นผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุด ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ระหว่างปี 1997-98

รัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์ บอกว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะลงมาถึงหรือใกล้จะถึงก้นเหวแล้ว อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังคงถูกกระหน่ำด้วยการทรุดตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการท่องเที่ยวก็ไหลรูดท่ามกลางความไม่สงบทางการเมือง

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ บอกว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เองได้รับผลกระทบของวิกฤตการณ์ดังกล่าว แล้วก็เล่าถึงเหตุการณ์การพยายามลอบสังหาร นายสนธิ เมื่อเดือนที่แล้ว และนายสนธิ บอกว่า เป็นฝีมือของพวกนักการเมืองและทหารฉ้อฉลที่กังวลว่าพลังการเมืองมวลชนจะเข้มแข็งขึ้น

“ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมาก กล่าวว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับประเทศไทย และถือเป็นคำมั่นสัญญาของหนทางใหม่ๆ ในการบริหารประเทศที่เป็นเสาหลักเสาหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” วอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุ

ในเวอร์ชันเอเชีย หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังได้อ้างคำพูดของ นายธนากิตติ์ บูรณาพาวัง นักธุรกิจวัย 52 ปี ที่ไปลงคะแนนที่สนามกีฬาด้วย ซึ่งกล่าวว่า “เราต้องการที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงกันเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย” และ “มันจะไม่เกิดขึ้นในชั่วเวลาข้ามคืนหรอก แต่กลุ่มพันธมิตรฯคือความหวังที่ดีที่สุดของเรา”

วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานคำพูดของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ ที่กล่าวว่า เขาไม่วิตกกังวลกับการที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะมาแย่งที่นั่งในรัฐสภา ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปน่าจะมีขึ้นในปี 2010 และเขาไม่คิดว่าจะมี ส.ส.ของประชาธิปัตย์มากนักที่จะขอย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองใหม่

แต่หนังสือพิมพ์นี้ ระบุว่า พวกนักวิเคราะห์กลับมีความเห็นที่แตกต่างไป

วอลล์สตรีท เจอร์นัล อ้างคำพูดของ นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า กลุ่มผู้สนับสนุนสำคัญของพันธมิตรฯ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งชนชั้นกลางในเมือง จึงทับซ้อนอยู่กับฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแม้ว่าจะมีแนวทางปฏิรูปแต่ก็มีคะแนนเสียงไม่เข้มแข็งนัก

หนังสือพิมพ์นี้ในเวอร์ชันเอเชีย ยังกล่าวต่อไปว่า แม้ว่าประชาธิปัตย์ยังจะเป็นพรรคใหญ่กว่าพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯไปอีกระยะหนึ่ง แต่การตัดสินใจของขบวนการนี้ที่จะเข้าสู่การเมืองในรัฐสภา ก็อาจจะลดทอนคะแนนเสียงของนายอภิสิทธิ์ไปเป็นจำนวนมากได้

“นายสนธิ และกลุ่มพันธมิตรฯ เห็นว่า ประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำให้วาระของกลุ่มบรรลุผลสำเร็จ” วอลล์สตรีท เจอร์นัล อ้างคำพูดของ นายฐิตินันท์ “พวกเขารู้สึกว่าถูกหลอกใช้”
กำลังโหลดความคิดเห็น