xs
xsm
sm
md
lg

คลินิกเมินรับยาหวัด ร่วมแค่31แห่งกลัวถูกฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (2 ส.ค.)ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เป็นประธานในการประชุมการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์และจัดอบรมความรู้ในการวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ให้กับคลินิกเอกชนต่างๆในกทม. ซึ่งมีคลินิกลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและรับการอบรมครั้งจำนวน 181 แห่ง จากคลินิกในกทม.ทั้งหมดจำนวน 3,805 แห่ง ทั้งนี้ หากคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ กองประกอบโรคศิลปะจะจ่ายยาต้านไวรัสให้ทันทีจำนวน 50 เม็ด รักษาผู้ป่วยได้ 5 คน โดยพร้อมที่จะใช้รักษาประชาชนตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป
นพ.สมยศกล่าวว่า สธ. ที่มีให้เลือก 2 แนวทาง คือ 1. เข้าร่วมเฉพาะการคัดกรองผู้ป่วย และส่งต่อในโรงพยาบาลแม่ข่ายที่กำหนด 2.เข้าร่วมโครงการ และพร้อมจ่ายยาต้านไวรัสตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งปรากฏว่ามีคลินิกลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเป็นเครือข่ายคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วย จำนวน 39 แห่งจากทั้งหมด 181 แห่ง ในจำนวนนี้มีคลินิกเพียง 31 แห่ง ที่สมัครใจรับยาต้านไวรัสสำรองในคลินิก แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นิ่งต้องรอให้ครบกำหนดคือวันที่ 5 ส.ค.นี้เป็นวันสุดท้าย
“ยอมรับว่ามีคลินิกที่สมัครรับยาต้านไวรัสน้อย เพราะคลินิกทั้ง 181 แห่ง ประมาณ 2 ใน3 เป็นคลินิกรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น คลินิกผิวหนัง โรคหัวใจ หู คอ จมูก เป็นต้น แต่เป็นคลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไป เพียง 1 ใน 3 ของคลินิกทั้งหมดในเขตกทม.”
นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่เข้าใช้บริการที่คลินิกที่ร่วมโครงการฯ จะได้รับการยกเว้นค่ายาเฉพาะยาต้านไวรัสโอเซลทาเวียร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่บริการอื่นๆคงต้องจ่ายตามปกติ
ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้กระจายยาไปยังต่างจังหวัดที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เรียบร้อยแล้ว โดยในวันที่ 3 ส.ค.สสจ.จะเริ่มหารือร่วมกับคลินิกในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีคลินิกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมากน้อยเท่าใด แต่คาดว่าจะมีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการฯไม่มาก

**แพทยสภาห่วงปชช.แห่ฟ้องหมอคลินิก
นอ.(พิเศษ.) นพ.อิทธิพร คณะเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การกระจายยาลงคลินิกเอกชนไม่กังวลเรื่องการรักษาเพราะแพทย์มีมาตรฐาน และมีแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อยู่แล้ว แต่เป็นห่วงในส่วนของประชาชน เพราะมีความรู้ ความเข้าใจโรคแตกต่างกัน และมีจำนวนมากที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง ว่า หากไปรักษาที่คลินิกแล้วจะต้องได้รับยาต้านไวรัสทันที ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว หากไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่มีอาการของโรค ก็จะไม่ได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งจุดนี้อาจทำให้เกิดปัญหาปัญหาความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดเกิดขึ้น อาจเป็นจุดที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยฟ้องร้องแพทย์ได้
นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องคลินิกจ่ายยาต้านไวรัสให้เด็กเล็กเพราะจะต้องผ่านการะบวนการแบ่งยาเพื่อให้ได้ปริมาณยาที่เหมาะสมกับน้ำนัก และอายุของเด็ก ซึ่งไม่สามารถใช้การหักยา ตัด หรือแบ่งยาเหมือนกันยาทั่วไปอื่นๆ ได้ ต้องใช้เครื่องทำละลายตัวยาโดยเฉพาะ และผสมกับน้ำให้เด็กทาน ซึ่งในคลินิกจะไม่มีเครื่องละลายยา หรือไม่มีความเชี่ยวชาญพอ มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด และอาจทำให้เด็กได้รับอันตรายได้ ดังนั้น หากมีผู้ป่วยเด็กเล็กควรส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลเด็กทันที
ด้านแพทย์เจ้าของคลินิก รายหนึ่ง กล่าวว่า ปฏิเสธไม่เข้าร่วมรับยาต้านไวรัส เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องไวรัส และยาต้านไวรัส จึงไม่ต้องการเพิ่มความเสี่ยงในการรักษาผู้ป่วย หากเกิดความผิดพลาด เพราะโรคนี้ถือเป็นโรคระบาดใหม่ ประกอบกับตนเป็นสูตินรีแพทย์ และเกษียณอายุราชการมา 5-6 ปีแล้ว จึงไม่มีความเชี่ยวชาญโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ที่คลินิกมีผู้ป่วยไข้หวัดมารักษา วันละ 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งหากมีผู้ป่วยอาการหนัก ก็จะแนะนำให้ส่งต่อไปโรงพยาบาลทันที

**แฉขรก.เป็นเป็นหวัดแต่ปล่อยให้มาทำงานปกติ
นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยบุคลากรวิชาชีพสาธารณสุข 40,000 กว่าคน ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยกว่า 9,800 แห่ง และเป็นผู้ดูแล อสม. 980,000 คน ทั่วประเทศ เห็นว่า สาเหตุสำคัญในการที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องมาจากยุทธศาสตร์ ในการควบคุมและป้องกันโรคไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการพบว่ามีการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญ โดยรัฐให้น้ำหนักกับการควบคุมและป้องกันโรคน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังจะเห็นได้จากข้อมูล หรือข้อความที่มีการสื่อสารออกมาสู่สังคม โดยไปเน้นในจุดที่ไม่ตรงประเด็น และสร้างความสับสนให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ที่ดูเหมือนจะมีความสับสนอย่างยิ่ง เพราะเป็นการไปเบี่ยงเบนประเด็นสร้างความเข้าใจผิด ทำให้ประชาชนต้องสิ้นเปลืองหาซื้อหน้ากากอนามัยมาใส่กันอย่างกว้างขวาง
ทั้งๆ ที่ประเด็นสำคัญของการควบคุมโรคไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและตรงจุด คือการให้คนที่ป่วย หรือมีอาการสงสัยว่าจะป่วยให้อยู่บ้านเพื่อดูอาการ 5-7 วัน ซึ่งครม.ก็มีมติให้หยุดได้โดยไม่ถือเป็นวันลา กลับไม่ได้รับการเน้นย้ำเท่าที่ควรและไม่ใช่ประเด็นหลักในการรณรงค์ ทำให้มีผลอย่างมากในการแพร่ระบาด เพราะการที่ผู้ป่วยออกมาใช้ชีวิต หรือมาร่วมทำกิจกรรมกับคนทั่วไปตามที่ชุมชนก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคแพร่ระบาดไปอย่างกว้างขวางรวดเร็วจนน่าตกใจ แม้ภายหลังจะมีการให้ความสำคัญและเน้นในประเด็นนี้มากขึ้น หากไม่มากเท่ากับการรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอนามัย
"เมื่อประมาณวันที่ 30-31 ก.ค.ที่ผ่านมา ผมเข้าไปประชุมที่กระทรวงฯมีข้าราชการสังกัดสำนักงานหนึ่งในสธ. 2-3 ราย เดินเข้ามาบอกว่าให้ไปดูที่ชั้น 3 ของตึกหนึ่งภายในกระทรวงสาธารณสุข เพราะเจ้าหน้าที่และข้าราชการต้องใส่หน้ากากอนามัยกันทั้งชั้น เนื่องจากมีแพทย์ป่วยเป็นไข้หวัด ยังไม่ยอมหยุดพักอยู่บ้านแต่กลับมาทำงานตามปกติ เป็นการสะท้อนว่าแม้แต่บุคลากรของสธ.บางคนยังขาดจิตสำนึกและไม่ตระหนักในเรื่องนี้ "นายไพศาลกล่าว

**แจงเหตุหวัด2009 ติดอันดับโลก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกก็กังวลกันมาก รัฐบาลขอยืนยันว่าเราติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ตอนนี้จุดหลักจะอยู่ที่เรื่องระบบการกระจายยา และติดตามว่าเชื้อตัวนี้ไปมีผลกระทบ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ สำหรับที่จะต้องป้องกันไว้ เผื่อมีระลอก 2 ระลอก 3 และ เท่าที่ติดตามขณะนี้ สถานการณ์ในกรุงเทพฯ น่าจะเริ่มเบาลง แต่ในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด จะเริ่มออกไป เพราะฉะนั้น นอกเหนือจากเรื่องยาแล้ว ระบบ อสม. ต้องช่วยดูในส่วนของภาคชนบท ส่วนภาคในเมือง ถ้าระบบการกระจายยาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก็คงจะลดความเสียหายได้
นายกฯ กล่าวอีกว่าไม่ค่อยสบายใจ ที่มีคนชอบไปพูดว่า เรามีปัญหามากที่สุดในโลก ซึ่ง ที่จริงไม่ใช่ เพราะว่าระบบการเปรียบเทียบตัวเลข องค์การอนามัยโลก (WHO) เขาเลิกให้รายงานไปแล้ว เพราะว่าหลายประเทศขณะนี้เขาถือว่าเหมือนกับโรคปกติธรรมดา และตัวเลขจะไปขึ้นอยู่กับระบบการรายงาน บางประเทศก็รายงานถี่ รายงานบ่อย ตัวเลขก็จะขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางประเทศตนสังเกตดูว่าถึงจุดหนึ่ง มีตัวเลขก็หยุดนิ่งอยู่เฉยๆ ซึ่งคงไม่ใช่ว่าปัญหาไม่มี แต่ว่าตอนนี้การติดเชื้อ และการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาก ที่เห็นชัดคือ ชิลี บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา และอังกฤษเอง ถึงขั้นบอกว่า บางวันอาจจะต้องเสียชีวิตกันเป็นร้อยคน ซึ่งหวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น และยังไม่อยากจะเชื่อเท่าไร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆแล้วเราส่งเสริมทุกองค์กร และความรับผิดชอบขององค์กรจะเป็นโรงเรียน สถานประกอบการ ถ้าจัดรณรงค์ในเรื่องของการล้างมือ และถ้าไปในที่เสี่ยง ก็ใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาด กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ก็เป็นเรื่องที่เราอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำอยู่แล้ว อยากจะส่งเสริม เพราะคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะไข้หวัดใหญ่ ต่อไปถ้าเราฝึกฝนให้เป็นนิสัย เรื่องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และที่สำคัญคือว่า เวลาตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม คือไม่ใช่ว่าป่วยแล้ว ก็ยังไปโรงเรียน ป่วยแล้วก็ยังไปทำงาน อันนี้เป็นตัวปัญหา
"ไข้หวัดบางครั้งทำให้แผนงานของเรากระทบ ผมเห็นชัดเจนเลย คุยกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ผมจะคุยอยู่เป็นประจำ เขาบอกกำลังจะดีอยู่แล้ว มันเกิดเรื่องนี้อีก กำลังจะดีอยู่แล้วทำไมมันเกิดเรื่องนี้อีก ผมก็อยากจะวิงวอนครับ ที่ควบคุมไม่ได้ไม่เป็นไร อย่างที่ว่าเกิดปัญหาไข้หวัดมาจากข้างนอก ไม่เป็นไร แต่พวกเรากันเอง ตอนนี้ผมเห็นว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคณะต่างๆ เดินทางมาประชุม แข่งขันกีฬา อะไรต่าง ๆ ความเชื่อมั่นเริ่มมี ยิ่งประชุมอาเซียนเรียบร้อย ผมไปจีนมาได้รับการสนองตอบจากจีนเป็นอย่างดี ที่นักท่องเที่ยวเข้ามา อย่าให้มีเหตุการณ์อะไรที่มาทำให้สะดุดอีก" นายกฯกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น