สธ.เผยสาวใหญ่เครียดจัด หวั่นลูก-สามีติดหวัด 2009 ไม่มีเงินรักษา โทรขู่ใช้น้ำมันเบนซินราดตัว ฆ่ายกครัว โชคดีสายด่วนหวัด 2009 เตือนสติแนะนำใจเย็น ประสาน รพ.ลำลูกกาช่วยเหลือจนลูกหายป่วย ขณะที่สามียังหนัก ไข้สูง เอกซเรย์พบก้อนเนื้อที่ปอด คาดเป็นมะเร็ง-เนื้องอก แต่ไม่มีเงินเดินทางไปรับการรักษาอีก พักอยู่บ้าน วอนช่วยเหลือรับตัวรักษา
วันที่ 31 ก.ค. พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดสายด่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทางหมายเลข 0-2590-3333 และ 1422 บริการตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม ประชาชนสนใจโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม 100-200 สายต่อวัน เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็น 300-400 สายต่อวัน และล่าสุดช่วงเดือนกรกฎาคม เฉลี่ยกว่า 900 สายต่อวัน มากถึง ส่วนใหญ่มีความสงสัยเรื่องอาการป่วย การรักษา การป้องกัน วัคซีน ยาต้านไวรัสและร้องเรียน
พญ.ศิริพร กล่าวต่อว่า ในจำนวนประชาชนที่โทรศัพท์เข้ามาขอรับคำปรึกษาพบ หญิงรายหนึ่งโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาที่คอลเซ็นเตอร์เมื่อประมาณวันที่ 23 ก.ค.2552 โดยระบุว่าครอบครัวมีทั้งหมด 4 คน ขณะนี้ป่วยเป็นไข้หวัด 3 คน คือ ตน สามี และบุตรชายวัย 8 ขวบ ส่วนบุตรคนเล็กได้แยกไปฝากญาติดูแลเนื่องจากเกรงจะติดไข้หวัด มีฐานะยากจน เดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลลำลูกกา แพทย์สั่งจ่ายยา และให้กลับบ้าน ปรากฎว่าบุตรชายตัวร้อนสูง เกรงว่าจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ไม่มีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอที่จะเดินทางกลับไปโรงพยาบาลอีกครั้งและไม่มีแน่ใจว่า หากเป็นโรคดังกล่าว จะต้องเสียเงินค่ารักษาจำนวนมากเท่าไหร่ มีความทุกข์และเครียดมาก จนจะใช้น้ำมันเบนซินราดเผาทั้งครอบครัว เพื่อหนีปัญหา ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ได้รับฟัง จึงแนะนำให้ใจเย็นและประสานให้โรงพยาบาลลำลูกกาเร่งเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวดังกล่าวทันที
นอกจากนี้ยังมีกรณีหญิงสูงอายุ ชาว จ.สระบุรี โทรศัพท์กลับมาที่คอลเซ็นเตอร์ เพื่อแสดงความขอบคุณ โดยระบุว่า ตัวเองปอดมีปัญหาและป่วยเป็นไข้หวัด ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรับยามาทานและเจาะเลือด ต่อมาไปพบแพทย์ที่คลินิกอีกครั้ง อาการไม่ดีขึ้น จึงโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่คอลเซ็นเตอร์ เมื่อได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ที่รับโทรศัพท์จึงปฏิบัติตาม ขณะที่โทรพักรักษาตัวอยู่ในห้องปลอดเชื้อของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยเจ้าตัวระบุว่า ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่รับโทรศัพท์เป็นอย่างมาก หากไม่ได้รับคำแนะนำที่ดีป่านนี้คงเสียชีวิตไปแล้ว
“ผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถโทรศัพท์มาปรึกษาที่คอลเซ็นเตอร์ของ สธ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขอย้ำว่าผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามสิทธิการรักษาที่ตนเองมีอยู่ เช่น บัตรทองหรือประกันสังคม ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก” พญ.ศิริพรกล่าว
**เครียดจัด ป่วยยกบ้าน
นางสุวาลัย ผลทวี วัย 48 ปี อาชีพนวดแผนไทย อยู่บ้านเลขที่ 6/3 ม.17 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี กล่าวว่า บุตรชายมีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.มีไข้สูง วันที่ 20 ก.ค.จึงพาไปพบแพทย์ที่คลินิกตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และรับยาลดไข้มาทาน พร้อมกับแพทย์ให้คำแนะนำว่าหากไข้ไม่ลดใน 2 วันให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 21 ต.ค.สามีเริ่มมีอาการไข้ วันที่ 22 ก.ค.จึงพาลูกที่มีอาการไข้สูง 39 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก และอาเจียนและสามีที่มีอาการไข้สูงและอาเจียนไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลลำลูกกา แพทย์ให้ยาลดไข้มารับประทาน และกลับมารักษาตัวที่บ้าน
นางสุวาลัยกล่าวอีกว่า วันที่ 23 ก.ค.จึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปที่คอลเซ็นเตอร์ เจ้าหน้าที่ดีมาก แนะนำให้ใจเย็นและบอกให้สู้ชีวิต และประสานโรงพยาบาลลำลูกกาให้อีกครั้ง จากนั้นมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโทรมาให้คำปรึกษาและบอกให้ไปพบแพทย์อีกครั้ง ในวันที่ 24 ก.ค. จึงพาลูกไป ตอนนี้ลูกไข้ลดลง อาการโดยรวมดีขึ้น ยังมีน้ำมูก แต่สามีกลับทรุดหนัก ผลการเอ็กซเรย์ปอดออกเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า มีก้อนเนื้อที่ปอด แพทย์บอกว่าอาจจะเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกและนัดให้ไปเอ็กซเรย์ซ้ำอีกครั้งในวันที่ 3. ส.ค.นี้ ที่คลินิกออกเงิน ย่านสายไหม ขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
“ช่วงเวลานั้นเครียดมาก หาทางออกไม่ด็ เพราะถ้าสามีตายตนและลูกก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง ตอนนั้นเอามีดจ่อออกลูกแล้วด้วยซ้ำ และคิดว่าอยู่ก็ทรมานแม่ไม่มีปัญหารักษาแล้ว จึงโทร.ไปที่คอลเซ็นเตอร์เพื่อขอความช่วยเหลือ ตอนนี้ลูกชายอาการดีขึ้น แต่สามียังมีอาการหนัก ไข้ขึ้นสูงทุกคืน เป็นมา 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ถ้าสามีตาย ครอบครัวคงอยู่ไม่ได้ หลังจากที่สามีป่วยก็ทำงานไม่ได้ ดิฉันที่มีอาชีพนวดแผนไทยต้องหยุดงานมาดูแลทั้งลูกและสามี เมื่อดิฉันไม่ได้ทำงานทุกคนในบ้านก็อดหมด ไม่รู้จะทำยังไง แค่อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบมารับตัวสามีไปรักษาให้หายเท่านั้น เพราะตอนนี้ค่าเดินทางไปพบแพทย์ก็ไม่มีแล้ว”นางสุวาลัยกล่าว
** อย.พบเว็บหลอกขายโอเซลทามิเวียร์
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตามที่ สธ. มีนโยบายกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ลงคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหายาต้านไวรัสปลอมระบาดนั้น ตนได้สั่งกำชับให้ด่านอาหารและยาทั่วประเทศตรวจสอบการนำเข้ายาอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้ายาต้านไวรัสปลอม รวมถึงยาที่ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องจาก อย. ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการนำเข้ายาผิดกฎหมายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มาตรการกระจายยาลงคลินิก ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึงและง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหายาปลอม หรือการลักลอบซื้อยาจากทางอินเตอร์เน็ตได้ ที่สำคัญ สธ.เป็นผู้รับผิดชอบค่ายาทั้งหมดด้วย ประชาชนไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใด
“จากการตรวจสอบพบว่า ในอินเทอร์เน็ตมีการประกาศขายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์มากกว่า 10,000 เว็บ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกหลอกขายยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพอย่างมาก ซึ่งได้ประสานกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดำเนินการทางกฎหมายและสั่งปิดเว็บไซต์แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าไม่สามารถกำจัดเว็บไซต์หลอกขายยาให้หมดไปได้เพราะเมื่อถูกสั่งปิดเว็บไซต์ก็สามารถเปิดเว็บไซต์ใหม่ได้ทันที ดังนั้น ประชาชนต้องตื่นตัวอย่าไปหลงเชื่อซื้อยาอย่างเด็ดขาด และหากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่ อย. หรือสายด่วน 1556 ได้ทันที” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
**ชี้ อย.อนุญาตนำเข้ายาสะดวก ไม่เกี่ยวคุณภาพยา อภ.
นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนตำรับยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2552 ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ใช่การอนุญาตให้มีการนำเข้ายาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เพื่อจำหน่ายในประเทศโดยทั่วไปแต่เป็นการการให้สิทธิพิเศษเปิดช่องทางให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น สถานทูตประเทศต่างๆ องค์การสหประชาชาติที่มีชาวต่างชาติปฏิบัติงานอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถมียาโอเซลทามิเวียร์ไว้ใช้ในกรณีที่เกิดการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ทันท่วงที
“ไม่ไช่ สธ.ไม่มั่นใจคุณภาพยาโอเซลทามิเวียร์ที่ อภ.ผลิตขึ้น ซึ่งยันยันได้ว่ายาต้านไวรัสดังกล่าวได้รับมาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี) ยาทุกล็อตการผลิตมีการสุ่มตรวจคุณภาพของยา เช่น ประสิทธิภาพในการการแตกตัวของยา ทั้งนี้ แม้แต่มีการกระจายยาไปยังโรงพยาบาลก็มีการสุ่มตรวจคุณภาพของยาเช่นเดียวกัน”นพ.มล.สมชายกล่าว
**อสม.เริ่มปฏิบัติการเคาะประตูบ้านทั่วประเทศ
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สธ. กล่าวว่า วันนี้(31 กรกฎาคม) เป็นวันแรกที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีกว่า 9.87 แสนคนทั่วประเทศ เริ่มลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในชุมชน โดย อสม.1 คน รับผิดชอบ 5-10 หลังคาเรือน โดยเบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานว่ามีปัญหาในการลงพื้นที่แต่อย่างใด แต่ต้องยอมรับว่า อสม.คงจะไม่สามารถลงพื้นที่ได้ครบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศได้ภายในวันเดียว อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รายงานผลการปฏิบัติงานของ อสม.ว่าสามารถรณรงค์ให้ความรู้ได้เท่าใด และมีปัญหาในการดำเนินการเรื่องใดบ้าง