สธ.แจกจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้คลินิกใน กทม.แล้ววันนี้ แห่งละ 5 โดส ขณะที่ต่างจังหวัดได้รับแล้วเช่นกัน คาดพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) คลินิกส่วนใหญ่มียาโอเซลทามิเวียร์ให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ฯ แต่จะได้ครบทั้งหมดไม่เกินวันที่ 5 ส.ค. “วิทยา” กำชับคุมเข้ม
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้ประกอบการคลินิกทั่วกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อชี้แจงแนวทางและมาตรการให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์แก่ผู้ป่วย พร้อมกับจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้คลินิกแห่งละ 5 โดส หรือ 50 เม็ด โดย นพ.สมยศ กล่าวว่า หลังจากทำหนังสือเชิญไปยังคลินิกทั่ว กทม. กว่า 2,000 แห่ง วันนี้ มีตอบรับเข้าประชุมกว่า 100 แห่ง แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เนื่องจากต้องทำความเข้าใจว่าคลินิกใน กทม.มีลักษณะพิเศษกว่าในต่างจังหวัด นอกจากจะมีจำนวนมากแล้วยังเป็นคลินิกเฉพาะทางซึ่งมีบุคลากรน้อย รวมถึงเจ้าของคลินิกไม่อยากเสี่ยงรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้ารักษา เนื่องจากเกรงว่าจะนำเชื้อเข้าไปติดผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคลินิกเข้าร่วมไม่มากก็ไม่น่าห่วง เพราะพื้นที่ กทม.ยังมีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กว่า 100 แห่ง หน่วยบริการสาธารณสุขในความดูแลของสำนักอนามัย กทม.อีกหลายสิบแห่งที่พร้อมให้บริการประชาชน
นพ.สมยศ กล่าวด้วยว่า คลินิกในต่างจังหวัด ขณะนี้ สบส.ได้กระจายาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไปทั่วประเทศแล้ว ขึ้นอยู่กับขั้นตอนของแต่ละจังหวัดจะมีมาตรการแจกจ่ายยาอย่างไร แต่จากที่สอบถามติดตามผลนายแพทย์สาธารณสุขประจำจังหวัดทั่วประเทศ ได้เรียกโรงพยายาลชุมชน อำเภอ คลินิก ทำความเข้าใจ วิธีการทำรายงานการใช้ยาส่งมา คาดว่าภายในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) ส่วนใหญ่คลินิกจะมียาโอเซลาทามิเวียร์ให้ผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ได้ และไม่เกินวันที่ 5 สิงหาคม จะกระจายยาไปตามคลินิกทั่วประเทศ สำหรับค่ารักษาพยาบาลในคลินิก ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ แต่อาจต้องเสียค่าตรวจหรือยาชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม หากคลินิกใดยาหมด ติดต่อแจ้งเข้ามาได้ที่ สบส.พร้อมจะจัดยาส่งไปให้ทันที
ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการจ่ายยาโอลเซลทามิเวียร์ให้คลินิกว่า สธ.ได้วางกฎเกณฑ์ให้คลินิกต่างๆ ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการจ่ายยาโอลเซลทามิเวียร์ ต้องปฏิบัติตามที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขกำหนดขึ้น 8 ข้อ อย่างเคร่งครัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตรวจสอบความพร้อมของแต่ละคลินิก ส่วนต่างจังหวัดมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการ โดยจังหวัดใดพร้อมก็สามารถจ่ายยาได้ทันที คาดว่าจะลงมือจ่ายยาโอลเซลทามิเวียร์ ได้ในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เคร่งครัดกับการตรวจสอบเงื่อนไขคลินิกครั้งนี้
ส่วนมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เร่งรัดให้ อสม.ลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยไข้หวัดในระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งสถานีอนามัยแต่ละพื้นที่จะมีรายชื่ออยู่แล้ว เชื่อว่าจะช่วยลดการแพร่ระบาด และลดอัตราการเสียชีวิตได้
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยยืนยันว่ารัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันสถานการณ์ในกรุงเทพฯ น่าจะเริ่มเบาลง แต่เริ่มออกไประบาดในต่างจังหวัด ดังนั้น นอกจากเรื่องการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์แล้ว ระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต้องช่วยดูในส่วนของภาคชนบท ส่วนภาคในเมืองถ้าระบบการกระจายยาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก็คงลดความเสียหายได้
“ผมไม่ค่อยสบายใจ มีคนชอบไปพูดว่าเรามีปัญหามากที่สุดในโลก อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่จริงไม่ใช่ครับ เพราะว่าระบบการเปรียบเทียบตัวเลข ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) เขาเลิกให้รายงานไปแล้ว หลายประเทศขณะนี้เขาถือว่าเหมือนกับโรคปกติธรรมดา และตัวเลขจะไปขึ้นอยู่กับระบบการรายงาน บางประเทศก็รายงานถี่ รายงานบ่อย ตัวเลขก็จะขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางประเทศผมสังเกตดูว่า ถึงจุดหนึ่งมีตัวเลขก็หยุดนิ่งอยู่เฉยๆ ซึ่งคงไม่ใช่ว่าปัญหาไม่มี แต่ว่าตอนนี้การติดเชื้อและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาก ที่ผมเห็นชัดคือ ชิลี บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดาและอังกฤษเองถึงขั้นบอกว่าบางวันอาจต้องเสียชีวิตกันเป็นร้อยคน ซึ่งผมหวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น และยังไม่อยากจะเชื่อเท่าไร” นายกรัฐมนตรี กล่าว