xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:วิเคราะห์การลงทุนและการผลิตจากดัชนีความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยามที่เศรษฐกิจกำลังจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดดังที่ผู้รู้และนักวิเคราะห์หลายๆท่านคาดการณ์ การติดตามตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดนั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างจังหวะและโอกาสในการลงทุนของทั้งนักธุรกิจและนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในวันนี้ผมขอเขียนถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index หรือ BSI) ที่เป็นหนึ่งในดัชนีที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักธุรกิจไทยต่อภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ในประเด็นของการสร้างดัชนี BSI ภาวะปัจจุบันของดัชนี และความเชื่อมโยงต่อการลงทุนและการผลิต

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการประมวลผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ที่มีเงินทุนจดทะเบียนอย่างต่ำ 200 ล้านบาท ประมาณ 500 ราย จากทั้งภาคการผลิต การค้าและการบริการ สำหรับการจัดทำใช้วิธีของ Diffusion Index ในหัวข้อคำถามที่เกี่ยวกับ 1) ผลประกอบการ 2) คำสั่งซื้อทั้งหมด 3) การลงทุน 4) การจ้างงาน 5) ต้นทุนการประกอบการ และ6) การผลิต โดยหากผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า "ดีขึ้น" จะให้คะแนน 100 หากตอบว่า "ทรงตัว" จะให้คะแนน 50 และหากตอบว่า "แย่ลง" จะให้คะแนน 0 ทั้งนี้ได้มีการสร้างดัชนีทั้งในภาวะปัจจุบันและใน 3 เดือนข้างหน้า สำหรับในการอ่านดัชนี BSI หากดัชนีมีค่าเท่ากับ 50 หมายความว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัว หากมากกว่า 50 หมายความว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น (จำนวนคนตอบดีมากกว่าคนตอบแย่) และหากน้อยกว่า 50 หมายความว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลง (จำนวนคนตอบแย่มากกว่าคนตอบดี) โดยข้อมูลล่าสุดของดัชนี BIS เป็นตามตารางที่ 1

ถามว่าข้อมูลล่าสุดของดัชนี BIS บอกอะไรเรา ดัชนี BSI ในภาวะปัจจุบันแม้ดัชนีและทุกองค์ประกอบจะอยู่ต่ำกว่า 50 แต่ได้ปรับตัวดีขึ้นโดยเปรียบเทียบกับปลายปีที่แล้วและ 2 เดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะการผลิต คำสั่งซื้อทั้งหมดและผลประกอบการ ยกเว้นในส่วนของต้นทุนที่ปรับตัวแย่ลง สำหรับดัชนี BSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าได้ให้ภาพที่คล้ายคลึงกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนล่าสุดนี้ ดัชนี BIS รวมในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่เหนือระดับ 50 รวมทั้งดัชนี BSI ของผลประกอบการ การลงทุน การจ้างงานและการผลิตด้วย นอกจากนี้ เรายังสามารถดูดัชนี BSI โดยแยกตามสาขาธุรกิจที่สำคัญๆ ตามตารางที่ 2

พบว่าความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญๆมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาวะปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง

เราได้อะไร จากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ หรือ BSI ใน 2 ตารางนี้

1)ดัชนี BSI ในภาวะปัจจุบันยังอยู่ต่ำกว่า 50 แต่ดัชนี BSI 3 เดือนข้างหน้าอยู่เหนือระดับ 50 แล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ก.พ. 52 สะท้อนว่าภาคธุรกิจมีความหวังถึงแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นในอนาคตมากขึ้น ซึ่งโดยปกตินักธุรกิจไทยจะมองภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจในอนาคตดีกว่าปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ สังเกตได้จากการที่ดัชนี BIS 3 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าดัชนี BSI ในภาวะปัจจุบันเสมอ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างปกติส่วนต่างระหว่างดัชนี BIS 3 เดือนข้างหน้าและดัชนี BIS จะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 6 โดยในช่วงก.ย.51-มี.ค.52 (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ส่วนต่างเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 ทั้งนี้ ในช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค. 52 นี้ ส่วนต่างได้เพิ่มขึ้นแล้ว สะท้อนความเชื่อมั่นของนักธุรกิจไทยที่มองอนาคตที่ดีขึ้น

2)มีหลักฐานทางสถิติชี้ว่าดัชนี BSI เป็นดัชนีชี้นำของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจะนำมาซึ่งการผลิตและการส่งออกในที่สุด โดยดัชนี BSI ชี้นำการลงทุนภาคเอกชนประมาณ 1 ไตรมาส ดังนั้น การปรับตัวดีขึ้นของดัชนี BSI ในช่วงที่ผ่านมาน่าจะมีผลต่อการลงทุน การผลิตและการส่งออกของไทย ในปลายไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

3)จากตารางที่ 1 การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นทางธุรกิจหรือดัชนี BSI ในส่วนของผลประกอบการ คำสั่งซื้อและการผลิต น่าจะเป็นปัจจัยที่จะยืนยันการเพิ่มขึ้นของการลงทุนและการผลิตในอนาคตได้ และหากถามว่ากลุ่มไหนเริ่มมีสัญญาณที่ดี? จากตารางที่ 2 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมและก่อสร้างได้มีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้นมาก ทั้งนี้อาจเป็นอานิสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นและกลุ่มก่อสร้างคงมีการเตรียมรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและโครงการภาครัฐในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในกลุ่มบริการยังไม่ดีนัก ภาครัฐคงต้องออกแรงช่วยหน่อยครับ

                                                                    surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น