นายกรัฐมนตรี มั่นใจ 6 เดือนที่ผ่านมา ไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น เอื้อต่อการลงทุนในเชิงบวก มั่นใจมาตรการกระตุ้น ศก.รอบแรก เริ่มเห็นผล ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น เตรียมทุ่มมาตรการชุดใหญ่รอบ 2 พลิกจีดีพีปลายปี 52 เป็นบวกได้ คาดปีหน้าขยายตัวได้ 2% พร้อมระบุ เตรียมจัดตั้งเขตพัฒนา ศก.พิเศษ เพิ่มศักยภาพการลงทุนในภูมิภาค
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเปิดงานสัมมนา “Thailand's Investment Environment : Looking Forward” ให้แก่นักธุรกิจไทยและนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนกว่า 400 คน ที่ห้องประชุมสหประชาชาติ โดยระบุว่า ตลอดการบริหารงาน 6 เดือนที่ผ่านมา ตนเองมีความมั่นใจว่าภาพรวมของประเทศมีการปรับตัวที่ดีขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในด้านของการเมืองตอนนี้ ไทยมีเสถียรภาพที่เอื้อต่อการลงทุนในเชิงบวก ซึ่งเราได้เตรียมพร้อมงานเศรษฐกิจ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกได้ดำเนินการแล้ว และทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการซื้อมากขึ้น รวมถึงโครงการต้นกล้าอาชีพก็ได้รับความสนับสนุนจากประชาชน
นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนหน้า และมั่นใจว่า จะทำให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างชาติในระยะ 1-3 ปี โดยมุ่งเน้นปรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่ง การสาธารณสุข การศึกษา และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังจะสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติ มาร่วมลงทุนกับไทยมากขึ้น
“รัฐบาลจะพยายามทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับมาขยายตัวเป็นบวกภายในปีนี้ หลังจากมีอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกของปีหดตัวลดลง และในปี 2553 จะพยายามให้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2%”
สำหรับการใช้วงเงินกู้เพื่อนำมาชดเชยเงินคงคลังของปีงบประมาณ 2552 คาดว่า ไม่น่าจะเกิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะมากกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความมั่นใจว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 จะทำให้เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน ทั้งนี้รัฐบาลจะเดินหน้าส่งเสริมการลงทุน เช่น กำหนดมาตรการลดหย่อนภาษี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนสำคัญขนาดใหญ่ หลายโครงการ อาทิ การสร้างศูนย์ส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการค้าบริเวณชายแดน โดยจะให้ไทยเป็นศูนย์การเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้เจรจา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดบรรยากาศการลงทุนในเส้นทางใหม่ๆ ซึ่งจะเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้ ให้เติบโตแข็งแกร่งด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะให้ความสนับสนุนภาครวมของเศรษฐกิจทั้งหมด และพร้อมรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย