xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สภาอุตฯ ตากหวั่น“ฮิลลารี”พบ “ซินเธียหม่อง”กระทบสัมพันธ์ไทย-พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก-ประธานสภาอุตสาหกรรมตาก ชี้ “ฮิลลารี คลินตัน” เชิญ “ซินเทีย หม่อง” หมอไร้พรมแดนพบที่ภูเก็ตอาจส่งผลกระทบด้านความสัมพันธ์และการค้ากับพม่า แต่จะได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ว่าอเมริกา สนับสนุนไทย ในทางเศรษฐกิจ-การเมืองและสังคม

นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวถึงกรณีที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เชิญแพทย์หญิงซินเทีย หม่อง แพทย์ชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่าที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ ด้านสิทธิมนุษยชนในการดูแลและรักษาผู้ป่วยชาวกะเหรี่ยงที่คลินิกแม่ตาว(คลินิกหมอซินเทีย) ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ให้ไปพบที่จังหวัดภูเก็ต ในโอกาสมาร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 3 (จีน-เกาหลี-รัสเซีย)ในช่วงการประชุมที่เพิ่งผ่านมา ว่า เป็นเรื่องการเมืองที่สหรัฐต้องการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐ ไม่เห็นด้วยกับพม่าที่กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการเป็นแนวร่วมกับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลพม่า

การให้ พญ.ซินเทีย หม่องเข้าพบยังแสดงให้เห็นอีกว่า สหรัฐกำลังจะหาทางช่วยเหลือ พญ.ซินเทีย ในรูปแบบของสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขและการศึกษาของชนกลุ่มน้อย ซึ่งย่อมมีผลกระทบกับการค้าชายแดนและการทำธุรกิจชายแดนระหว่างไทย-พม่า บ้าง รวมไปถึงด้านความสัมพันธ์

เขามองว่า การพบกันระหว่าง รมต.ต่างประเทศอเมริกากับ พญ.ซินเทีย เป็นเชิงจิตวิทยาในการกดดันพม่าอย่างหนึ่ง และเชื่อว่าการค้าชายแดนระหว่างรัฐบาลพม่ากับเอกชนไทยตัวเลขจะลดลง เพราะฝ่ายรัฐบาลพม่าจะบรรเทาการซื้อสินค้าจากนักธุรกิจไทยที่จะนำไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่นการสั่งซื้อเครื่องจักร-วัสดุก่อสร้าง-อุปกรณ์ต่างๆ

อย่างไรก็ตามสำหรับการค้าระหว่างเอกชนกับเอกชนหรือระหว่างพ่อค้าไทยกับพ่อค้าพม่า น่าจะปกติคงเดิม

ตัวเลขการค้าชายแดนไทย-พม่า ด่านแม่สอด -เมียวดี ในปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องคาดว่าสิ้นปีนี้จะสูงกว่า 20,000ล้านบาท

“การเดินทางมาเยือนเมืองไทยของ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ในช่วงที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จะมีผลดีกับไทยด้านความเชื่อมั่นจากกลุ่มประเทศอาเซียนและจากต่างประเทศ เพราะแสดงให้เห็นว่าสหรัฐสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจ-สังคมและการเมืองของไทย เนื่องจากกว่า 8 ปีที่ผ่านมาอเมริกาไม่เคยส่งผู้นำระดับสูงมาเมืองไทย จนกระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับว่าวันนี้สหรัฐให้ความสำคัญกับรัฐบาลไทยและต้องการสนับสนุนการทำงานในระดับนานาชาติ”นายชัยยุทธกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น