xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “มาร์ค”พบ “ฮิลลารี คลินตัน” ถกสัมพันธ์สองประเทศ 21 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ชี้จับตา “นายกฯอภิสิทธิ์” พบ “ฮิลลารี คลินตัน” รมว.ต่างประเทศสหรัฐ 21 ก.ค.นี้ คาดถกความสัมพันธ์สองประเทศ และสถานการณ์ในพม่า รวมทั้งพบปะพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก่อนพิธีเปิด 20 ก.ค.นี้ ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนของไทย เตรียมกดดันที่ประชุมอาเซียนแสดงท่าทีตั้งองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอาเซียน

วันนี้(18 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 21 ก.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะพบและหารือข้อราชการกับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะเป็นการพูดคุยกันเรื่องความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ฯ รวมถึงหารือถึงสถานการณ์ในพม่า แต่ไม่มีเรื่องการทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย -สหรัฐ (เอฟทีเอ) เนื่องจากทางสหรัฐฯเองยังทำไม่เสร็จ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ก.ค.นี้นายกรัฐมนตรีจะมีการพบปะพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ก่อนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการที่จังหวัดภูเก็ต

ขณะที่นางชลิดา ทาเจริญภัคดี ผอ.มูลนิศักยภาพชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชนจากประเทศไทย กล่าวว่า ขณะที่ร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายองค์กรประชาสังคมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อกดดันให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแสดงท่าทีต่อการตั้งองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งจะมีการนำร่าง TOR ชุดที่ 2 ในการตั้งองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งได้ถกเบื้องต้นมาขอคำรับรองในที่ประชุมของ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันที่ 19 ก.ค.นี้ โดยเฉพาะอำนาจการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่อาจจะถูกละเลย นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนสามารถเข้าตรวจเยี่ยมประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ที่มีปัญหาเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯเห็นพ้องกันว่า ความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กรฯดังกล่าวมีความจำเป็น และเห็นว่าองค์กรเช่น องค์กรส่งเสริมสิทธิเด็กและสตรี หรือองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้พลัดถิ่น ก็มีความสำคัญ ซึ่งอาเซียนจะต้องดำเนินการกระบวนการจัดตั้งให้สอดคล้องกันด้วย

“เราเห็นว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่เป็นองค์กรที่เป็นคนของรัฐ เป็นทหารหรือข้าราชการ มีหน้าที่เข้ามาตรวจสอบปัญหาภายในภูมิภาคอาเซียน เช่นของไทยการหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือเหตุการณ์ความรุนแรงในไทย เป็นต้นและองค์กรนี้จำเป็นที่จะต้องคลี่คลายปัญหานั้นออกมาให้ได้”

ขณะเดียวกัน ยังเรียกร้องให้คณะทำงานขององค์กร ซึ่งมีผู้แทนจากภาคประชาชน หรือนักวิชาการ เป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย เพื่อไม่ให้องค์กรดังกล่าวตกเป็นเครื่องมือของภาคการเมือง รวมทั้งเสนอให้มีการจัดทำรายงานการทำงานของคณะทำงาน และรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ เพื่อดูพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น