xs
xsm
sm
md
lg

ชง6โปรเจกต์ฟื้นดอนเมืองฉุดพ้นขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทอท.เปิด 6 โครงการ พัฒนาพื้นที่ดอนเมือง เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าด้านการบินปลอดภาษี ฝึกบินจำลอง ฯลฯ เพิ่มรายได้ให้ดอนเมืองจากที่ต้องแบกขาดทุนถึง 660 ล้านบาทต่อปี ฟุ้งมีเอกชนแล้วทุกโครงการ คาดปี 54 รายได้เพิ่มไม่ขาดทุน เตรียมจ้างที่ปรึกษาวางรูปแบบการลงทุน นำร่อง โครงการปรับปรุงอาคารวีไอพีรับเครื่องบินส่วนตัว คาดได้เอกชนก.ย.นี้ เปิดบริการต้นปี 53 “เสรีรัตน์”เชื่อปี 52 ไม่ขาดทุน แม้รายได้ลด 10% จากปีก่อน ด้าน AOC แนะเพิ่มดอนเมืองเป็นศูนย์ขนส่งสินค้า เน่าเสียง่าย
วานนี้ (24 ก.ค.) นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานเปิดเปิดนิทรรศการการบินพลเรือน ซึ่งกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ร่วมกันจัดขึ้นที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งภายในงานจะจัดแสดงนิทรรศการของสายการบินต่างๆ กว่า 17 สายการบิน ที่จะจัด Promotionบัตรโดยสารราคาพิเศษมาจำหน่ายรวมทั้งมีการจัดแสดงอากาศยาน (Air Show) ของเครื่องบินแบบต่างๆจำนวน 70 ลำด้วย
โดยนายประจักษ์กล่าวว่า เป้าหมายของสนามบินดอนเมือง นอกจากเป็นศูนย์กลางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานและการบริการด้านเครื่องบินเหมาลำแล้ว จะต้องวางแผนเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มอีกซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มให้ทอท.มากขึ้น
“การจัดนิทรรศการนี้ เป็นการปลุกกระแสการใช้ประโยชน์สนามบินดอนเมือง และหากสามารถจัดได้ต่อเนื่อง จะสร้างความเชื่อมั่นได้ ซึ่งการจัดประชุมหรือนิทรรศการในอาคารผู้โดยสาร และควรให้หน่วยงานราชการเข้ามาร่วมใช้มากขึ้น”นายประจักษ์กล่าว

เปิด 6 โครงการพัฒนาดอนเมือง
นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า การใช้ประโยชน์บริหารจัดการสนามบินดอนเมืองขณะนี้ได้กำหนดแผนเบื้องต้นที่มีความชัดเจนแล้ว 6 โครงการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการลงทุนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารสำหรับเครื่องบินส่วนตัวและเช่าเหมาลำไม่เกิน 33 ที่นั่ง คาดว่าจะเริ่มเข้ามาดำเนินการได้ประมาณเดือน ก.ย. 2552และเปิดให้บริการได้ต้นปี 2553 โดยดอนเมืองจากโครงการนี้ 2ส่วนคือ จากค่าเช่าพื้นที่ภายในอาคาร 325 บาทต่อตรม.(ประมาณ 200 ตรม.) ในแฮงก้า 115 บาทต่อตรม.(ประมาณ 1,600 ตรม.) และผลตอบแทนจากเอกชนอีกกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน โดยจะทำสัญญาประมาณ 5 ปี
ส่วนอีก 5 โครงการ นั้นขณะนี้ทอท.อยู่ระหว่างการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา วงเงินว่าจ้าง 32 ล้านบาท เข้ามาศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการลงทุนในแต่ละโครงการ ซึ่งที่ปรึกษาจะเริ่มศึกษาในเดือนส.ค.นี้ใช้เวลาศึกษาประมาณ 15 เดือน ทั้งนี้เนื่องจาก มีบางโครงการที่คาดว่าวงเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาทซึ่งต้องปฎิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
โดยปัจจุบันสนามบิน สนามบินดอนเมืองมีค่าใช้จ่ายประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน (1,200 ล้านบาทต่อปี) มีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่และค่าธรรมเนียมขึ้นลงของอากาศยาน(Landing Fee) ค่าธรรมเนียมการเก็บอากาศยาน ประมาณ 45 ล้านบาทต่อเดือน (540 ล้านบาทต่อปี) หรือขาดทุนประมาณ 660 ล้านบาทต่อปี โดยคาดว่าโครงการทั้งหมด จะเป็นรูปธรรมและสร้างรายได้เพิ่มให้สนามบินดอนเมืองในปี 2554 ซึ่งตั้งเป้ารายได้เพิ่มให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและพัฒนาเพื่อทำกำไรในระยะต่อไป
นายเสรีรัตน์กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของทอท.ในปี 2552 คาดว่าจะมีกำไรแต่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลประกอบการปี 2551 ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนหลังจะต้องไม่มีสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยเข้ามาเพิ่ม โดยรวมรายได้ในปี 2552 ลดลงจากปีก่อนประมาณ 10% ซึ่งทอท.ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อไม่ให้ขาดทุน
สำหรับการบริหารพื้นที่สนามบินดอนเมืองนั้น มี 2 ส่วนคือ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินและ International Free Trade Zone ซึ่งขณะนี้กำหนดไว้ 6 โครงการประกอบด้วย 1.โครงการซ่อมบำรุง Landing Gear หรือฐานล้ออากาศยานลำตัวแคบขนาด 150 ที่นั่ง เช่น A320, B 737 ที่มีความถี่ในการบินสูง ระยะบิน 2-3 ชั่วโมง จำเป็นต้องเปลี่ยนและซ่อมบำรุง Landing Gear บ่อย เพื่อรองรับสายการบินในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะจีนที่มีเครื่องบินประเภทดังกล่าวใช้มาก ก็จะได้รับความสะดวก โดยประธานบริษัทยูโรเปียน แอโรนอติค, ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ ( EADS) ผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของยุโรปได้แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนโครงการ
2.โครงการบริการจัดการอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจะทำการสต๊อกอะไหล่และเก็บรักษาให้สายการบิน ทำให้สายการบินลดต้นทุนการสต๊อกอะไหล่เอง 3. โครงการซ่อมบำรุงและดูแลอากาศยานขนาดเล็ก ให้บริการดูแลรักษาเครื่องยนต์เครื่องบินส่วนตัว ตรวจสภาพความพร้อมก่อนทำการบิน 4. โครงการศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ ประสานกับกรมศุลกากร กำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภาษีสามารถทำการซื้อขาย ผลิตภัณฑ์ด้านการบิน อะไหล่อากาศยานได้ รวมถึงเป็นพื้นที่จัด Air Show ซึ่งมีความสะดวกสามารถจอดรถกว่า 5,000 คัน
5. โครงการศูนย์ฝึกบินจำลองรองรับสายการบินในภูมิภาคที่ไม่มีเครื่องฝึกบินจำลองของตนเองและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการส่งนักบินไปฝึกบินต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป และอเมริกา ส่วนเครื่องฝึกบินจำลองของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการฝึกบินของนักบิน ซึ่งปกติ นักบินจะบินเครื่องบินพาณิชย์ (Commercial Pilot License)จะต้องเข้าฝึกบินเฉพาะรุ่น 15 เที่ยวๆ ละ4ชม. 6. โครงการอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคลและอากาศยานเช่าเหมาลำขนาดเล็ก (Private Jet and Air Taxi Terminal) โดยปรับปรุงห้องรับรองพิเศษ ให้มีความสะดวกและบริการครบวงจร ทั้งศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งขณะนี้เป็นบริการที่มีความต้องการสูงสำหรับนักธุรกิจและเศรษฐี

AOC แนะเพิ่มศูนย์ขนส่งสินค้า เน่าเสียง่าย
นายชัยวัฒน์ นวราช ประธานกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (AOC) กล่าวว่า การใช้ประโยชน์พื้นที่สนามบินดอนเมืองตามแผนที่
ทอท.วางไว้นั้น มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่งพื้นที่ที่เหลือ ควรขยายแผนต่อไปถึงการซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ ระดับ C-Check หรือการซ่อมบำรุงขั้นสูง ที่ตรวจเช็ก และซ่อมเครื่องบินตลอดอายุการบิน ซึ่งเกือบถึงระดับซ่อม ใหญ่ แบบD-check หรือซ่อมบำรุงระดับโรงงาน ซึ่งเป็นการยกเครื่อง (overhaul) เครื่องบินใหม่ทั้งลำแล้ว และทำศูนย์กลางขนส่งสินค้า เน่าเสียง่าย ((Perishable goods center) โดยจะต้องร่วมมือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีสินค้าสนับสนุนโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น