xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตือนระวังไปงานนช.แม้วเสี่ยงหวัดมรณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิทยา” เตือนเป็นหวัดเลี่ยงไปแซยิด “นช.แม้ว” แนะล้มงานหวั่นเป็นแหล่งแพร่เชื้อ สั่งอสม.ค้นหาผู้ป่วยพร้อมกันทั่วประเทศ 30 ก.ค.นี้ เศร้า! ไทยได้โควตาสั่งจองวัคซีนหวัด 2009 แค่ 2 ล้านโดส จองอีกทีรอปีหน้า สธ.จ่อให้คลินิกจ่ายโอเซลทามิเวียร์สกัดยอดคนตาย กรมควบคุมโรคสั่งสำรองยาต้านเพิ่มอีก 10 ล้านเม็ด

วานนี้(24 ก.ค.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าว “ พลังอสม.ต้านภัยไข้หวัดใหญ่ 2009 ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ อยู่ในขั้นที่ระบาดกระจายทั่วประเทศและมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักระบาดวิทยาคาดการณ์ในเดือน ส.ค.จะแพร่ระบาดสู่ชนบท ซึ่งได้เตรียมการให้ระดมพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีประมาณ 980,000 คนทั่วประเทศ ออกสำรวจเดินเยี่ยมบ้านในการค้นหา คัดกรองผู้ป่วย พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการป้องกันโรค โดยในวันพุธที่ 29 ก.ค.นี้ จะนัดหารือกับประธานอสม.แต่ละภาคและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบความพร้อมก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.นี้
 
อสม.กทม.หวั่นเข้าไม่ถึงกลุ่มฐานะดี
  นายวิเชียร สุนทรารักษ์ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้อสม.ของเขตกทม.มีอยู่ประมาณกว่า 10,000 คน ปฏิบัติงานตามกรอบที่หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครได้วางไว้ ถือว่ามีความพร้อมในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ โดยเป็นการทำงานเชิงรุก มีการเคาะประตูบ้านค้นหาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในแต่ละชุมชน ซึ่งปัญหาอุปสรรคที่พบในการปฏิบัติงานนั้นต่างจากในต่างจังหวัด เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในกลุ่มที่มีฐานะดีทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่สามารถเข้าได้เฉพาะกลุ่มชนชั้นล่าง ประกอบกับคนกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่นต่ออสม.น้อย ที่ผ่านมาจะต้องมีนางพยาบาล 1 คน นำหน้าในการปฏิบัติภารกิจทุกครั้ง
ทั้งนี้ ประธานอสม.ทุกภาคทั้งกลาง เหนือ อีสาน ใต้ ต่างยืนยันเหมือนกันว่า มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มที่
 
แนะล้มงานแซยิด “นช.แม้ว”
นายวิทยากล่าวถึงการจัดงานแซยิดให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (นช.แม้ว) ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ว่า หากใครป่วยไม่ควรไปร่วมการชุมนุม แต่หากห้ามใจไม่ไว้จริงๆ ควรใส่หน้ากากไปยังสถานที่ชุมนุมคนจำนวนมาก ทั้งนี้ไม่ควรจัดในสถานที่ปิด และควรจะจัดในที่โปร่งโล่ง และถ้าจะให้ดีก็ควรหลีกเลี่ยงการจัดการชุมนุมดีกว่า ส่วนการที่อดีตนายกรัฐมนตรี จะให้ข้อมูลเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ คงไม่จำเป็น ต้องแข่งขันกัน เพราะยิ่งมากหมอยิ่งมากความ
สำหรับในจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือเข้ารับการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสช้านั้น ได้สั่งการให้นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ.ตรวจสอบข้อเท็จริง และขอร้องให้ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี  อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ในการให้ความรู้กับแพทย์ในพื้นที่

จองวัคซีนใหม่ได้อีกทีกลางปีหน้า
นายวิทยากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ไม่สามารถสั่งจองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เพิ่มได้ เพราะไม่มีที่ได้รับสั่งจอง เพราะจองกันเต็มหมดแล้ว การสั่งจองวัคซีน 2 ล้านโดสที่นำเข้าจากฝรั่งเศสเป็นไปเพื่อความมั่นคงของประเทศ แม้วัคซีนจะยังไม่ได้รับการรับรองผลข้างเคียงแต่เป็นหลักประกันเบื้องต้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศยากจนทำให้สามารถสั่งจองวัคซีนได้เพียงเท่านี้ หากไทยต้องการสั่งจองเพิ่มคงจะสามารถสั่งจองได้อีกประมาณกลางปีหน้า หรือไม่ต้องให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตวัคซีนชนิดตายเอง ขณะนี้ประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนได้ก่อน เช่น สหรัฐอเมริกาก็ผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศให้เพียงพอก่อน
ส่วนการใช้น้ำมนต์ถือเป็นเจตนาที่ดี เป็นเรื่องของกำลังใจ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลงแต่อย่างใด แต่อยากย้ำว่า หากป่วยยังต้องมาพบแพทย์ โดยเฉพาะมีไข้ 2 วันแล้วไม่ลด ต้องเข้ารับการรักษาทันที และต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของน้ำมนต์ด้วย
  นายวิทยากล่าวถึงการที่ ศ. ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาระบุว่า การให้ความรู้ไข้หวัดใหญ่กับประชาชนน้อยเกินไปนั้นว่า สธ.ขอรับคำแนะนำไว้และนำมาปรับปรุงเพื่อลดความสับสนของข้อมูล โดยจะหาผู้ที่ให้ข้อมูลต่อสาธารณชนในส่วนของสธ.เพียงคนเดียว แต่เนื่องจากไทยไม่ได้มีแพทย์ของสธ.เพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งแพทย์จากภาคเอกชน มหาวิทยาลัยแพทย์ที่ออกมาให้ข้อมูลเชิงวิชาการได้

คาดคนไทยป่วยจริงแสนคน
นายวิทยากล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการร้องเรียนการรักษาไข้หวัดใหญ่ด้วยบัตรทอง 30 บาท แล้วเสียชีวิตว่าได้ประสานให้ทางเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแล และให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประสานโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้มาตรการการรักษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนที่ประเทศอังกฤษ มีการรายงานพบผู้ป่วยถึง 600,000 คน นั้น คาดว่าในส่วนของไทยจะมีผู้ป่วยที่แท้จริงประมาณ 100,000 คนแต่ไม่แสดงอาการ เนื่องจากร้อยละ 90 ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่ร้อยละ 10 เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว จึงอาจทำให้มีอาการรุนแรง ส่วนประเทศไทยจะมีการปรับตัวเลขผู้ป่วยที่แท้จริงหรือไม่ ต้องให้ทางสำนักระบาดวิทยาเป็นผู้ประเมิน

“วิทยา” สั่งกำจัดจุดอ่อนให้ยาช้า
  นายวิทยากล่าวว่า ที่ผ่านมาสธ.มีจุดอ่อนในเรื่องการที่ผู้ป่วยมีอาการหนักมาถึงโรงพยาบาลช้าไป รวมถึงได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ไม่ทัน จึงมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้วยการขอความร่วมมือในการส่งต่อผู้ป่วยจากคลินิกไปสู่สถานพยาบาลระดับใหญ่ เพราะทุกโรงพยาบาลมียาต้านไวรัสอยู่แล้ว ส่วนจะพิจารณาให้คลินิกสามารถเป็นผู้จ่ายยาโอเซลทามิเวียร์โดยตรง เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเข้ารับการรักษาที่คลินิกก่อนนั้น จะต้องปรึกษากับทีมวิชาการฯก่อนว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
  ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ.กล่าวว่า ได้สั่งการให้นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นำประเด็นเรื่องการให้ยาโอเซลทามิเวียร์ในระดับคลินิกในพื้นที่ต่างๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ ต่อที่ประชุมที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติที่มีศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน ในวันที่ 27 ก.ค.เวลา 13.00 น.ที่กรมควบคุมโรค ซึ่งต้องคำนึงถึงหลายเหตุผล
   “การจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ในคลินิกต่างๆ แพทย์ก็สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคได้ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไรตาม จะต้องรอฝ่ายวิชาการพิจารณาว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร”นพ.ปราชญ์ กล่าว
 
 “หมอประเสริฐ” หวั่นฆ่าตัวตายเหมือนญี่ปุ่น
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติว่า ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ผลดีคือ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาดังกล่าวเร็วขึ้น แต่ผลเสียคือบางคนอาจไปขอยาที่คลินิกใช้เพื่อการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจุดประสงค์ของทีมวิชาการต้องการให้ยาดังกล่าวใช้เพื่อการรักษามากกว่าการป้องกัน เพราะเกรงเรื่องผลข้างเคียงของยา
“ที่ญี่ปุ่นพบว่าผลข้างเคียงของยาดังกล่าวทำให้เด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตาย แต่ในไทยยังไม่มีข้อมูลนี้ และไม่ทราบว่าจะเหมือนกับญี่ปุ่นหรือไม่ เนื่องจากบริบทของคนญี่ปุ่นกับคนไทยในเรื่องการฆ่าตัวตายมีความต่างกัน จึงไม่ทราบว่าในไทยหากใช้ยาเพื่อการป้องกันจะเกิดผลเสียอย่างไร พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและทีมที่ปรึกษาฯจำเป็นต้องมาชั่งน้ำหนักโดยนำข้อมูลรอบด้านมาหารืออีกครั้ง”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
  ด้านรศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกระจายยาดังกล่าวในระดับคลินิก เพราะเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของฝ่ายวิชาการ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบครอบทั้งผลดีและผลเสีย โดยวัตถุประสงค์มาจากดำริที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาโอเซลทามิเวียร์ของผู้ป่วยช้าไป เพื่อหวังผลการในการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด  อีกทั้งการรักษาพยาบาลไม่ใช่เพียงแต่เรื่องยาเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงยาลดไข้ การให้น้ำเกลือ การเฝ้าสังเกตอาการ ฯลฯ เป็นองค์ประกอบร่วมกันในการรักษา
  “ข้อดีคือ ผู้ป่วยเข้าถึงยาในการรักษาได้เร็วขึ้น แต่การได้รับยาเร็วนั้นจะเร็วเกินไปจนได้ผลเสียหรือไม่ต้องพิจารณา ทั้งนี้หากมีการกระจายยาในระดับคลินิกท้องถิ่นแล้วค่อนข้างจะมีการคุมการใช้ยายาก อีกทั้งความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่า ผู้ที่มาใช้บริการในคลินิกจะต้องเสียเงินหากได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ ในขณะที่หากผู้ป่วยเดินทางไปยังสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีสิทธิอยู่ อาทิ สถานพยาบาลสิทธิต่างๆของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก็ไม่เสียค่ายา แต่หากคลินิกจะบริหารจัดการอย่างไร”รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

ไทยสำรองโอเซลทามิเวียร์ 15.2 ล้าน
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคมียาโอเซลทามิเวียร์ทั้งหมด 5.2 ล้านเม็ด แบ่งเป็น ยาเดิมที่มีจากงบประมาณปี 2551 จำนวน 3.2 ล้านเม็ด จากนั้นในงบปี 2552 ได้สำรองเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด จากนั้นองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ผลิตสำรองให้อีก 1 ล้านเม็ด ซึ่งขณะนี้ได้กระจายลงในพื้นที่ทั่วประเทศแล้วกว่า 2 ล้านกว่าเม็ดแล้ว ส่วนที่เหลือสำรองอยู่ที่กรมควบคุมโรคและอภ. ส่วนที่ได้จัดสรรของบกลางอีก 10 ล้านเม็ดกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อ นอกจากนี้ยังมีอภ.เดินหน้าการผลิตสำรองอีก 10 ล้านเม็ดก่อนหน้านี้เพื่อสำรองยา
  “หากจะมีการกระจายยาดังกล่าวในระดับคลินิกคิดว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) จะสามารถควบคุมปริมาณการใช้ได้ดีก็ไม่น่ามีปัญหาใดๆ คลินิกใดจ่ายยาหมดก็มาเบิกจากสสจ. ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลระดับจังหวัด และระดับชุมชนก็ใช้การบริหารจัดการดังกล่าวอยู่เช่นกัน”นพ.มล.สมชาย กล่าว

“นายกฯ”  รับส่งผลกระทบศก.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในขณะนี้ว่า  ความจริงกระทบมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว โดยสิ่งสำคัญสุดขณะนี้คือการบริหารจัดการในภูมิภาค เพราะในกรุงเทพฯและปริมณฑล ผ่านมาเป็นเดือนระบบค่อนข้างจะทำงานได้เป็นปกติ
ผู้สื่อข่าวถามว่าโพลหลายสำนักระบุว่าไม่ค่อยมั่นใจต่อการควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะทำให้คะแนนดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาคนพอใจก็มีเกินครึ่งแต่เราก็อยากทำให้ดีกว่านี้ 

WHOระบุ'หวัด'แพร่ไป160ปท.แล้ว**
ด้านองค์การอนามัยโลก(WHO)แถลงวานนี้(24)ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้แพร่กระจายไปยังทั่วทุกมุมโลกถึง ราว 160 ประเทศแล้ว สังหารผู้คนไปประมาณ 800 คนแล้ว และมีความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า มันจะกลายพันธุ์หรือไม่ รวมทั้งจะมีฤทธิ์ร้ายแรงขึ้นหรือไม่ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นของซีกโลกเหนือ ซึ่งเป็นเขตพำนักอาศัยของประชากรโลกส่วนใหญ่ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพี
"ไวรัสนี้ยังคงมีการแพร่กระจายต่อไป ลองคิดดูว่าในจำนวนรัฐสมาชิกของ WHO ทั้งหมด 193 ราย มีถึง 160 รายแล้วที่พบผู้ติดเชื้อ ดังนั้น เราจึงกำลังใกล้ๆ จะถึง 100%แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถึงขนาดนั้น" เกรกอรี ฮาร์เทิล โฆษกของ WHO กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวที่นครเจนีวา
ฮาร์เทิลบอกด้วยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตราว 800 คนนี้ ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นอัตราการตายของผู้ติดเชื้อไวรัสได้ เนื่องจากเราไม่ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ทั้งนี้ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว WHO ได้ประกาศยุติการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก เนื่องจากในทางเป็นจริงเวลานี้ การติดตามยืนยันผู้ติดเชื้ออย่างชัดเจนแน่นอน กำลังกลายเป็นการเพิ่มภาระหนักเกินไปแก่บุคลากรทางการแพทย์ กระนั้นก็ตาม WHO ยังคงติดตามการแพร่ของไวรัสในดินแดนใหม่ๆรวมทั้งพฤติกรรมของเชื้อไวรัสร้ายนี้
"สำหรับในขณะนี้ เรายังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในพฤติกรรมของไวรัส สิ่งที่เรากำลังมองเห็นยังคงเป็นแต่การขยายตัวทางภูมิศาสตร์ข้ามไปยังประเทศต่างๆ" เขาบอก แต่ก็เตือนด้วยว่า "เราต่างตระหนักกันเป็นอย่างดีว่า มันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และเราต้องมีการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น"
เขายังบอกด้วยว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็เหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกชนิด โดยน่าจะแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นเมื่ออากาศหนาวเย็นลง อีกทั้งยังน่าจะสามารถกลายพันธุ์ได้ในช่วงฤดูหนาว
โฆษก WHO คาดหมายว่า วัคซีนป้องกันไวรัสนี้โดสแรกๆ น่าจะพร้อมใช้ได้ในอีกหลายเดือนข้างหน้า นั่นคือราวต้นฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกเหนือ แต่เนื่องจากการทดลองทางคลินิกเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น เวลานี้จึงไม่ชัดเจนว่าวัคซีนนี้จะฉีดครั้งเดียวหรือสองครั้ง จึงจะทำให้ผู้รับการฉีดเกิดภูมิคุ้มกันไวรัส
จนถึงขณะนี้ WHO ได้รับคำมั่นสัญญาจากบริษัทผู้ผลิต 2 ราย ที่จะผลิตวัคซีน 150 ล้านโดสให้แก่พวกประเทศกำลังพัฒนา ฮาร์เทิลบอก และกล่าวต่อไปว่า WHOยังกำลังเจรจากับผู้ผลิตรายอื่นๆ เพื่อให้ได้วัคซีนมากขึ้น เตรียมไว้ให้แก่พวกประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น