xs
xsm
sm
md
lg

หวัด 2009 คร่าชีวิตชายอ้วนอีกราย ไทยตายรวมแล้ว 6

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชายอ้วนน้ำหนัก 123 กก.วัย 30 ติดหวัดใหญ่ 2009 ตายเพิ่มเป็นรายที่ 6 ของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญคาดโรคระบาดยืดเยื้อเป็นปี ภายใน 6 เดือนลามถึงชุมชนในต่างจังหวัด ยอดทะลุหลักล้านใกล้เตียงหวัดตามฤดูกาล แต่ความรุนแรงของโรคไม่แซงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาล นักเรียน-หนุ่มสาว กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมากสุด ส่วนคนแก่ เด็กต่ำกว่า 5 ปี มีโรคประจำตัว อ้วน พฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพ ป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ย้ำ เทอร์โมสแกนประโยชน์น้อย แนะถอนออกจากสนามบินมาไว้ที่ รพ.แทน ขณะที่ อย.เตือน อย่าหลงเชื่อซื้อยาต้านไวรัสหวัดใหญ่ 2009 อาจพบยาปลอม เกิดการดื้อยา อันตรายถึงชีวิต

เมื่อเวลา 18.40 น.วันที่ 3 กรกฎาคม นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ เอช1เอ็น1 เป็นรายที่ 6 เป็นชายอายุ 30 ปี ชาว กทม.เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่กระทรวงสาธารณสุข เพิ่งได้รับผลตรวจรายงานยืนยันเชื้อหลังจากเสียชีวิตแล้ว1 วัน

นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวมีอาชีพรับจ้าง มีส่วนสูง 165 ซม.น้ำหนัก 123 กิโลกรัม ถือว่าอยู่ในภาวะอ้วนมาก โดยเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.ด้วยอาการเจ็บคอ มีไข้ แต่ไม่ได้มาพบแพทย์ จนกระทั่งวันที่ 28 มิ.ย.ได้ไปพบแพทย์ที่ รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ย่านบางนา พบว่า มีทอนซิลอักเสบและให้ผู้ป่วยพักอยู่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยไปทำงานตามปกติ จนกระทั่งวันที่ 30 มิ.ย.กลับมาพบแพทย์ ด้วยอาการไข้สูง หอบเหนื่อย เอกซเรย์พบว่าปอดบวมทั้งสองข้าง แพทย์จึงนำตัวเข้าห้องฉุกเฉิน จนกระทั่งอาการทรุดลงและเสียชีวิตช่วงเช้าวันที่ 1 ก.ค.ซึ่งหลังจากเสียชีวิตมีการเก็บเชื้อส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผลออกเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ก.ค.

“ในผู้เสียชีวิตรายนี้ สธ.ทราบข้อมูลช้า ทำให้ไม่สามารถติดต่อขอศพมาทำการชันสูตรได้ โดยผลจากการสอบสวนโรคมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยน้อยมาก โดยไม่ทราบว่าทำงานรับจ้างอะไร ติดเชื้อมาจากที่ใด แต่มีข้อมูลว่า คนในครอบครัว 1 คน ได้ป่วยเป็นหวัดและหายป่วยก่อนที่ผู้เสียชีวิตรายที่ 6 จะเสียชีวิตลง จึงไม่ทราบว่า ญาติผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือไม่” นพ.ภาสกร กล่าว

นพ.ภาสกร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากประวัติการรักษาไม่มีการให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์แต่อย่างใด เนื่องจากเมื่อมาโรงพยาบาลผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉินด้วยอาการปอดบวม แพทย์จึงต้องเน้นช่วยชีวิตผู้ป่วยให้พ้นภาวะฉุกเฉินก่อน คือ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการปอดติดเชื้อ พร้อมทั้งเพิ่มออกซิเจนในเลือด ซึ่งการให้ยาต้านไวรัสหลังจากที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉินแล้วไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งผู้ป่วยได้เสียชีวิตด้วยอาการปอดบวมในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ในรายที่เป็นไข้หวัดอาจมีอาการเจ็บคอทอนซิลอักเสบได้ และไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นการป่วยด้วยไข้หวัดทั่วไป หรือไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009

วันเดียวกัน ที่กรมควบคุมโรค ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรคไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแพทย์ โรงพยาบาลทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กล่าวภายหลังการประชุมปรึกษา หารือนานกว่า 4 ชั่วโมงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทย จะยืดเยื้อต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี แม้ว่าจะมีการควบคุมเป็นพิเศษแค่ไหนก็ตาม โดยภายใน 6 เดือนข้างหน้าจะแพร่ระบาดถึงชุมชนในต่างจังหวัด จากนั้นประชาชนจะคุ้นชินและเข้าใจกลายเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ตามฤดูกาล

“ปกติไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะมีผู้ป่วยราว 9 แสนคนต่อปี ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็น่าจะมีถึงหลักล้านคน หากมีการระบาดไปทั่วประเทศ แต่ความรุนแรงของโรคจะไม่ร้ายแรงเกินกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาล ทำได้มากที่สุดก็คือมีความรุนแรงในระดับเดียวกันเท่านั้น” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกัน พบว่า กลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มากที่สุด เป็นกลุ่มนักเรียนและคนวัยทำงาน แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากที่มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน ตับ ไต หัวใจปอด และผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ และพักผ่อนน้อย

“จากการประเมินข้อมูลของผู้เสียชีวิตทั้ง 5 รายในประเทศไทยนั้น บางรายเป็นเพราะมาถึงมือแพทย์ช้า เช่น ป่วยตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.มาพบแพทย์วันที่ 14 มิ.ย.บางรายประมาทเกินไป มีอาการป่วย แต่ไม่ยอมพักผ่อน และบางรายมีโรคประจำตัว ซึ่งแม้จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาลก็อาจเสียชีวิตได้เช่นกัน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า การเฝ้าระวังโรคจะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางให้มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการประเมินสถานการณ์จากคณะอนุกรรมการฯเป็นระยะๆ ซึ่งขณะนี้การดำเนินการมาตรการต่างๆของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถือว่าทำเต็มที่แล้ว แต่จะต้องเฝ้าระวังและติดตามประชาชนในกลุ่มต่างๆ ให้ลึกและเข้มขึ้น เช่น ในโรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ และสถานที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหากป่วยพร้อมกันจำนวนมากจะดูแลไม่ทัน และต้องเร่งดำเนินการในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนและดึงชุมชนเข้าร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคให้มากขึ้น

“มาตรการการใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หรือเทอร์โมสแกน มีการประเมินว่ามีประโยชน์น้อย และแนะนำให้ถอนออกจากสนามบินต่างๆ ซึ่งหากจะมีการพิจารณาซื้อเพิ่มก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเมื่อไม่มีความจำเป็นแล้วจะจัดซื้อเพิ่มทำไม อย่างไรก็ตาม อาจยังจำเป็นต้องคงไว้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะต้องคัดกรองผู้ป่วยที่มีไข้สูงให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในช่องทางพิเศษ”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันได้พบว่ามีการโฆษณาขายยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 209 ผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต จึงขอให้ผู้บริโภค ผู้ป่วย ผู้ปกครองญาติพี่น้องของผู้ป่วย อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อผู้ประกอบการที่โฆษณาขายยาต้านไวรัสในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเด็ดขาด เพราะนอกจากเสียเงินจำนวนมากแล้ว ยังอาจต้องเสี่ยงกับการใช้ยานั้น เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้การสั่งจ่ายและดูแลโดยแพทย์

นพ.พิพัฒน์ กล่าว่า นอกจากนี้ การได้รับยาอย่างไม่เหมาะสม จะทำให้เชื้อไวรัสดื้อต่อยาได้ และที่สำคัญ อาจเป็นยาปลอมและยาเสื่อมคุณภาพ ซึ่งไม่มีใครสามารถรับรองความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวได้ ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการรักษาโรคที่ถูกต้องและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย ทั้งนี้ หากพบเห็นเว็บไซต์โฆษณาขายยา สามารถร้องเรียนมายังสายด่วน อย.1556 อย.จะได้เร่งตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดได้อย่างทันท่วงที

วันเดียวกัน ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎ จังหวัดอุบลราชธานี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมเจ้าหน้าที่และอสม.ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ กว่า 2,000 คน ว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009มีการกระจายในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยพบผู้ติดเชื้อในประเทศอย่างต่อเนื่องแล้ว 41 จังหวัดจาก กทม.และพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆ

“หากไม่เข้มงวดการควบคุมป้องกันโรค การระบาดอาจยาวไปถึงสิ้นปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งขณะนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังถึงร้อยละ 70 ที่สำคัญเด็กที่ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมีอาการป่วยเล็กน้อยจะไม่ค่อยหยุดเรียนเพราะกลัวขาดเรียน หรือหากหยุดเรียนก็ยังไม่หยุดการพบปะเพื่อนหรือออกนอกบ้าน ทำให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่น และหายป่วยช้ากว่าปกติ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชน หากป่วยหรือมีบุตรหลานป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5 วันหรือจนกว่าจะหายป่วย จะช่วยลดการระบาดของโรคในวงกว้างได้ แต่หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์รักษา” นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังผู้ป่วยและควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่อย่างเข้มข้นช่วง 3 เดือนนับจากวันนี้ไป ให้จัดเจ้าหน้าที่ ร่วมกับ อสม.ให้ความรู้ประชาชนในหมู่บ้านทุกวัน รวมทั้งในสถานศึกษา สถานที่ราชการ โรงงาน หรือหน่วยงานอื่นๆ และขอความร่วมมือสื่อมวลชนในพื้นที่ ช่วยประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนเข้าใจในวงกว้าง สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ชายแดน ขอให้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อ ตั้งจุดคัดกรอง แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ คำแนะนำการป้องกันโรคแก่ผู้เดินทาง

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 เพิ่ม 154 ราย โดยเป็นนักเรียน 125 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนรายละเอียด 9 ราย รวมผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ สะสมตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน-3 กรกฎาคม 2552 จำนวน 1,710 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย สถานการณ์ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยใน 120 ประเทศ รวม 77,201 ราย เสียชีวิต 332 ราย

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 1 คน สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ 1-2 คน การป้องกันโรคทำได้ไม่ยาก ขอให้หมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงไปในที่คนอยู่แออัด รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้รวมกัน เช่น ลูกบิด/มือจับประตู ราวบันได ที่กดลิฟต์ โทรศัพท์ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ โดยใช้น้ำกับผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำ เนื่องจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำลาย น้ำมูกของผู้ป่วย จะแพร่ไปยังผู้อื่น โดยการไอ จามรดโดยตรง แล้วยังแพร่เชื้อทางอ้อมโดยอยู่ที่มือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่มีเชื้อปนเปื้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น