xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง! สธ.เผยไทยติดหวัด 2009 เพิ่ม เฉลี่ยวันละ 16 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เผยไทยพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เฉลี่ยวันละ 16 ราย ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป วันนี้ผลแล็บพบติดเชื้อเพิ่ม 95 ราย ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ แต่แสดงถึงประสิทธิภาพของระบบป้องกันควบคุมโรคของประเทศ ด้านหมอยันปรับมาตรการดูแลผู้ป่วยตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ระบุ ไม่มีประเทศไหนตรวจเชื้อหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ในผู้ป่วยทุกรายแล้ว เปลืองทรัพยากร แต่เน้นทำความเข้าใจ และสุ่มตรวจดูความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แนะยังสงสัยค้นหาข้อมูลได้ทั่วโลก เล็งปรับมาตรการเฝ้าระวังโรคที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่มจุดตรวจรักษาใช้ชุดตรวจเบื้องต้นค้นผู้มีอาการป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายห้องแล็บ


วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์ควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1เอ็น1ได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 อีก 95 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 3 ราย กลุ่มนักเรียน 88 ราย และประชาชน 4 ราย ส่วนใหญ่รักษาตัวที่บ้าน รับไว้พักรักษาในโรงพยาบาลเพียง 12 ราย ทุกรายอาการดีไม่น่าห่วง สรุปตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมจนถึงวันนี้ มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ สะสม 405 ราย เฉลี่ยวันละ 16 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ พบผู้ป่วยจำนวนใกล้เคียงกัน และคาดการณ์ว่าในปีนี้จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอาจจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา

พบผู้ป่วยสะสมใน 32จังหวัด กทม.มากสุด

นพ.ปราชญ์ บุยญวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ. กล่าวว่า การที่ไทยพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นทุกวัน บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของระบบการป้องกันควบคุมโรคของประเทศ มิได้หมายความว่าการทำงานล้มเหลว การตรวจตัวอย่างยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อติดตามแนวโน้มของการแพร่เชื้อ รวมทั้งใช้เป็นฐานข้อมูลวิชาการ ทั้งระดับประเทศและโลก โดยผลการตรวจยืนยันแต่ละวันอาจพบมากหรือน้อยแตกต่างกัน จึงขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจที่มาของตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงรายวัน

นพ.ปราชญ์กล่าวต่อว่า ในขณะนี้พบผู้ป่วยสะสมใน 32 จังหวัด ผู้ป่วยร้อยละ 34 อยู่ในภาคกลาง จำนวนผู้ป่วยมากที่สุดใน กทม. พบเด็กป่วยในโรงเรียน 32 แห่ง ผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลรักษาเพื่อควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดที่สุด และได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งการป้องกันควบคุมโรค เน้นการประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรค การป้องกันตัว การดูแลเมื่อป่วย แก่ประชาชนทุกช่องทาง และใช้หอกระจายข่าวทุกหมู่บ้าน และจะเร่งออกหนังสือปกเขียว “รู้เท่าทันเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่” จำนวน 1 ล้านเล่ม แจกแก่ประชาชนให้ทันภายในวันที่19 มิถุนายนนี้

เทอร์โมสแกนใช้ได้ผลแค่ 10 %

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดสธ. กล่าวว่า จากการประเมินการใช้เครื่องเทอร์โมสแกนที่สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่า สามารถดักจับผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิความร้อนในร่างกายสูงได้เพียง 10 %เท่านั้น ความจำเป็นในการใช้เครื่องเทอร์โมสแกนในขณะนี้จึงมีน้อย แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจเครื่องเทอร์โมสแกนที่ติดตั้งตามจุดต่างๆในสนามบินจะยังไม่มีการนำออกไป แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อเครื่องนี้เพิ่มเติม ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 ที่มีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการฯมีการเสนอให้ซื้อเครื่องเทอร์โมสแกนเพิ่มเติม

แจกชุดตรวจสอบเชื้อเบื้องต้นประหยัดงบห้องแล็บ

ด้านนพ. มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น ยังคงมีการคัดกรองผู้ป่วยด้วยเครื่องเทอร์โมสแกน และแจกบัตรแนะนำสุขภาพ แต่จะปรับมาตรการ โดยจะตั้งจุดตรวจรักษา 1 จุด มีแพทย์พยาบาลประจำการ 24 ชั่วโมง โดยติดป้ายประกาศแจ้งผู้โดยสาร ทั้งภาษาไทยและอังกฤษทุกประตู เพื่อแนะนำให้ผู้ที่มีไข้ ไอ มารับการตรวจรักษาที่จุดดังกล่าว หากอาการรุนแรงจะส่งรักษาต่อในโรงพยาบาล ส่วนผู้ที่อาการไม่รุนแรงจะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและติดตามอาการทุกวัน ส่วนการกรอกแบบสอบถามสุขภาพ หรือ ต 8 ซึ่งให้ผู้โดยสารกรอกเองก่อนลงเครื่อง จะยกเลิก เนื่องจากการประเมินที่ผ่านมาพบว่าการกรอกข้อมูลไม่ตรงกับความจริงทำให้ประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังป้องกันโรคน้อย

นพ.มล.สมชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้เร่งพัฒนาชุดตรวจทดสอบเบื้องต้นและนำมาใช้ในการตรวจยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจกับทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งชุดตรวจทดสอบมีค่าใช้จ่ายเพียง 400 บาท ต่อครั้ง โดยการตรวจจะใช้กับผู้ที่เดินผ่านเครื่องเทอร์โมสแกนแล้วมีไข้ และหากพบให้ผลเป็นบวก จึงจะนำมาตรวจยืนยันซ้ำที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

หมอไทยบินร่วมประชุมฮู ที่เจนีวา ปรับการให้ยาใหม่

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวว่า ในแต่ละปีไทยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 3-4 ล้านคน ในจำนวนนี้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล 9 แสนคน นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 36,000 คน และมีผู้เสียชีวิตประมาณหลักร้อยหรือหลักพัน ขณะที่ทั่วโลก แต่ละปีพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 1,000 ล้านคน เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล 100-200 ล้านคน นอนโรงพยาบาล 3-5 ล้านคน เสียชีวิต 250,000–500,000 คน นอกจากนี้ จากสถิติพบว่า คนไทยป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันมากถึง วันละ 2 แสนราย ในจำนวนนี้รวมถึงผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปอดอักเสบ เป็นต้น จึงทำให้ไม่สามารถจะตรวจหาเชื้อไวรัสได้ทุกราย เพราะจะสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องคัดกรองเลือกตรวจหาเชื้อเฉพาผู้ป่วยรายที่มีอาการรุนแรง กลุ่มเสี่ยงเท่านั้น

“องค์การอนามัยโลก ได้เชิญตนไปเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ไปร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ในระหว่างวันที่ 17-24 มิถุนายนนี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในประเทศกำลังพัฒนาให้กับคณะแพทย์ขององค์การอนามัยโลก ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีการป้องกัน รักษาโรคได้ดีโดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีโรคไข้หวัดนกระบาด” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า ข้อมูลที่จะนำไปเสนอต่อองค์การอนามัยโลกเพื่อนำไปออกเป็นหลักเกณฑ์การใช้ยาต้านไวรัส ให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและงบประมาณในการจัดซื้อยาต้านไวรัส เพื่อสามารถใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะประเทศเหล่านี้ไม่สามารถทุ่มงบประมาณจัดซื้อยาได้อย่างมหาศาลเหมือนสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้ออกหลักเกณฑ์ในการให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เฉพาะรายที่มีอาการรุนแรง หรือกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น เช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย ที่ล่าสุดได้ประกาศเตือนเรื่องการใช้ยาต้านไวรัสดังกล่าวให้ใช้เฉพาะรายที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย และผลข้างเคียงของการใช้ยา

“ยาต้านไวรัสไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวในการรักษา ยังมีการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ เป็นต้น และที่สำคัญ ยาต้านไวรัสนี้ มีผลข้างเคียง คือ ผู้ที่ทานยาชนิดนี้ ร้อยละ 10-15 จะรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน และเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ญี่ปุ่น พบว่ามีเด็กวัยรุ่นป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ทานยาต้านไวรัส ได้เพียง 1 วัน แล้วเกิดภาพหลอนจนกระโดดตึกตายไปแล้ว 3 ราย ซึ่งทางการญี่ปุ่น และสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยาหรือไม่ หรือเกิดจากลักษณะของโรค ที่เชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายเข้าสู่สมอง และทำให้เกิดภาพหลอนได้” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

ทั้งนี้ ญี่ปุ่น มีการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อย่างแพร่หลาย โดยสั่งซื้อยาจากบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง(โรช) ปีละ 9 ล้านแพ็ค ขณะที่บริษัทดังกล่าวมียอดการผลิตเพียงปีละ 12 ล้านแพ็คเท่านั้น ซึ่งยาอีก 3 ล้านแพ็คที่เหลือได้กระจายไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก

วิจัยโอเซลทามิเวียร์ชนิดพ่นป้องดื้อยาเก่า

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า นอกจากนี้ ขณะนี้มีเครือข่ายการวิจัยทางการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Infectious Disease Clinical Research Network ; SEAICRN) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัยออกฟอด ไทย เวียนนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น ร่วมกันศึกษาวิจัยโรคไข้หวัดนก ซึ่งส่วนหนึ่งมีการวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัส ชนิดฉีด (ซานามิเวียร์) ซึ่งเป็นยาชนิดใหม่ สำหรับกรณีผู้ป่วยดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มยาซานามิเวียร์ ทั่วโลกมีจำหน่ายเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น และเป็นชนิดพ่น ซึ่งหากวิจัยสำเร็จ จะสามารถใช้รักษาได้ทั้งโรคไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจจะเกิดเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ได้

สธ.วอนคนไทยอย่าหลงเชื่อฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนบางพื้นที่แห่ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาลเอกชน เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในขณะนี้ เป็นวัคซีนที่ป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลหรือไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ซึ่งมีผลป้องกันโรคได้ 1 ปี วัคซีนตัวนี้ไม่มีผลในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และทั่วโลกยังไม่สามารถผลิตวัคซีนชนิดนี้ได้
นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพื่อลดจำนวนการเจ็บป่วยและโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นให้น้อยลง ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรีจำนวน 2 ล้านโดส โดยเน้นฉีดให้กลุ่มเสี่ยงก่อน ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด คนกลุ่มนี้หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว อาจทำให้อาการรุนแรงสูงกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะจากโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม อาจทำให้เสียชีวิตได้ และบุคลากรกลุ่มที่ต้องปฏิบัติงานดูแลผู้เจ็บป่วยคือแพทย์ พยาบาล โดยได้เริ่มทยอยฉีดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป ส่วนในกลุ่มของประชาชนทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ขอให้สร้างภูมิต้านทานโรคให้กับตัวเอง โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดการสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ก็เพียงพอแล้ว

นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่มีสื่อมวลชนบางส่วนลงข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข สั่งห้ามผู้บริหารส่วนภูมิภาค อาทิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ให้ข่าวกับสื่อมวลชนในพื้นที่นั้น ขอยืนยันว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยมีคำสั่งห้ามดังกล่าว การให้ข่าวของผู้บริหารส่วนภูมิภาคสามารถดำเนินการได้ ทั้งด้านจำนวนผู้ป่วยยืนยัน และมาตรการควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่ โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยยืนยันนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าให้เป็นตัวเลขที่ได้แจ้งส่วนกลางไปแล้ว เพื่อลดความสับสนของ ประชาชน

ด้านนพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วง2 เดือนที่ผ่านมาที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผู้เชี่ยวชาญสรุปชัดเจนแล้วว่า ไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก ดังนั้น ทั่วโลกจึงมีการปรับแนวคิดวิธีการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ให้เป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งมีข้อมูลที่ดูต้องตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยัน

“การตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอาจต้องลดความสำคัญลง เพราะโรคระบาดเข้ามาในประเทศแล้วขณะนี้ไม่มีประเทศใดที่ทำการตรวจไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ที่ติดเชื้อทุกคน ดังนั้น ต้องปรับวิธีการตรวจใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เสียทรัพยากรจำนวนมากโดยไม่จำเป็นโดยเปลี่ยนเป็นการเน้นสร้างความเข้าใจกับประชาชน และสุ่มตรวจเชื้อเพื่อดูแนวโน้มทิศทางที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อเท่านั้น อย่างในประเทศอเมริกาเปลี่ยนดัชนีชี้วัดการแพร่ระบาดของโรคจากจำนวนผู้ป่วยหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่เป็นผู้ป่วยหวัดใหญ่ตามฤดูกาล” นพ.ศุภมิตร กล่าว

นพ.ศุภมิตร กล่าวต่อว่า การปรับมาตรการของประเทศไทยเป็นไปตามหลักสากล เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปแต่ไทยไม่มีการปรับมาตรการจึงจะถือว่าเป็นเรื่องแปลก ซึ่งหากยังสงสัยสามารถที่จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่จากเว็บไซต์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยจะพบว่า ประเทศไทยดำเนินการตามหลักสากลทุกอย่าง และไทยยังทำการค้นหา สอบสวนโรค ตรวจเชื้อเกินกว่าที่ทั่วโลกทำอีกด้วย

ส่วนจากที่มีรายงานข่าวแจ้งว่ามีเด็กหญิงวัย 5 ขวบ นอนเสียชีวิตอยู่บนอาคารนอน ของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต คลองห้า ม.2 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ในช่วงเช้าวันนี้(17 มิ.ย.) ก่อนทราบภายหลังชื่อคือ ด.ญ.รุ่งทิวา ปักธงชัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูแลสถานสงเคราะห์ฯ เกรงว่าเด็กหญิงรายนี้จะเสียชีวิตจากสาเหตุติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น

นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดถึงเผยกรณี ด.ญ.รุ่งทิวา วัย 5 ขวบ เสียชีวิตว่า เด็กในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต ที่สถานสงเคราะห์สงสัยว่าจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น จากผลการผ่าชันสูตรศพโดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต ปรากฏว่า เด็กเสียชีวิตเพราะภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ได้มีภาวะของการติดเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่อย่างใด

ดังนั้นจึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต เพราะสถานสงเคราะห์มีการดูแลเฝ้าระวังโรคนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้เด็กหญิงที่เสียชีวิตรายนี้มีประวัติโรคประจำตัวเป็นโรคลมชักตั้งแต่อายุ 3 เดือน โดยเพิ่งย้ายมาอยู่กับสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิตได้ 7 วัน เนื่องจากบิดาต้องโทษ ไม่มีคนดูแลเด็ก โดยทางครอบครัวของเด็กทราบดีว่าเด็กมีโรคประจำตัว ซึ่งเด็กเคยมีอาการกำเริบและจะเสียชีวิตมาแล้วหลายครั้ง

ฉะรพ.เอกชนฟันค่าตรวจหวัดแพงหูฉี่
ASTVผู้จัดการรายวัน – สธ.เผยยอดติดหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พบเพิ่มอีก 95 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนถึง 88 ราย ส่งผลทำยอดรวมทั้งประเทศขยับไปอยู่ที่ 405 ราย “หมอปราชญ์” เผยเฉลี่ยติดวันละ 16 ราย พบผู้ป่วยสะสมใน 32 จังหวัด กทม.มากสุด พร้อมยกเลิกกรอกใบ ต 8 ที่สนามบินเหตุให้ข้อมูลไม่จริง รับเทอร์โมสแกนได้ผลแค่ 10% แพทย์แฉรพ.เอกชนฟันค่าตรวจหวัดแพงหูฉี่ เผยญี่ปุ่นหลอนกินยาต้านไวรัสแล้วโดดตึกตายไป 3 ราย ขณะที่มีโรงเรียนประกาศปิดเพิ่มเติมอีกหลายแห่งหลังพบเด็กป่วย 33 โรง “อภิสิทธิ์” เชื่อคุมได้ ห่วง “กลุ่มเสี่ยง” สั่งแพทย์ดูแลเป็นพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น