xs
xsm
sm
md
lg

ฉะรพ.เอกชนฟันค่าตรวจหวัดแพงหูฉี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – สธ.เผยยอดติดหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พบเพิ่มอีก 95 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนถึง 88 ราย ส่งผลทำยอดรวมทั้งประเทศขยับไปอยู่ที่ 405 ราย “หมอปราชญ์” เผยเฉลี่ยติดวันละ 16 ราย พบผู้ป่วยสะสมใน 32 จังหวัด กทม.มากสุด พร้อมยกเลิกกรอกใบ ต 8 ที่สนามบินเหตุให้ข้อมูลไม่จริง รับเทอร์โมสแกนได้ผลแค่ 10% แพทย์แฉรพ.เอกชนฟันค่าตรวจหวัดแพงหูฉี่ เผยญี่ปุ่นหลอนกินยาต้านไวรัสแล้วโดดตึกตายไป 3 ราย ขณะที่มีโรงเรียนประกาศปิดเพิ่มเติมอีกหลายแห่งหลังพบเด็กป่วย 33 โรง “อภิสิทธิ์” เชื่อคุมได้ ห่วง “กลุ่มเสี่ยง” สั่งแพทย์ดูแลเป็นพิเศษ
วานนี้(17 มิ.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า สธ.ได้ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก95 ราย ทำให้ขณะนี้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 405 ราย
สำหรับผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อรายใหม่จำนวน 95 รายนั้น แบ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 3 ราย กลุ่มนักเรียน 88 ราย และประชาชนทั่วไป 4 ราย ทั้งนี้ มีผู้ป่วยที่นอนรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาล 12 ราย โดยขณะนี้อาการไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

**เผยติดเชื้อเฉลี่ยวันละ16 ราย
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการศูนย์ควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ว่า ตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมจนถึงวันนี้ มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ สะสม 405 ราย เฉลี่ยวันละ 16 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ การที่ไทยพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นทุกวัน บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของระบบการป้องกันควบคุมโรคของประเทศ มิได้หมายความว่าการทำงานล้มเหลว การตรวจตัวอย่างยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อติดตามแนวโน้มของการแพร่เชื้อ รวมทั้งใช้เป็นฐานข้อมูลวิชาการ ทั้งระดับประเทศและโลก โดยผลการตรวจยืนยันแต่ละวันอาจพบมากหรือน้อยแตกต่างกัน
สำหรับในขณะนี้พบผู้ป่วยสะสมใน 32 จังหวัด ผู้ป่วยร้อยละ 34 อยู่ในภาคกลาง จำนวนผู้ป่วยมากที่สุดใน กทม. พบเด็กป่วยในโรงเรียน 32 แห่ง ผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลรักษาเพื่อควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดที่สุด และได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งการป้องกันควบคุมโรค เน้นการประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรค การป้องกันตัว การดูแลเมื่อป่วย แก่ประชาชนทุกช่องทาง และใช้หอกระจายข่าวทุกหมู่บ้าน และจะเร่งออกหนังสือปกเขียว “รู้เท่าทันเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่” จำนวน 1 ล้านเล่ม แจกแก่ประชาชนให้ทันภายในวันศุกร์นี้

**ให้รพ.เอกชนส่งตรวจเฉพาะที่จำเป็น
  นพ.ปราชญ์กล่าวถึงกรณีที่งบประมาณในการตรวจเชื้อโรคของกรมควบคุมโรคที่ตั้งไว้ปีละ 2 ล้านบาทหมดและค้างชำระค่าตรวจเชื้อกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประมาณ 4 ล้านบาท หลังมีการส่งเชื้อผู้ป่วยตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นจำนวนมากว่า คงไม่ต้องกังวลเพราะหน่วยงานภายในของสธ.สามารถที่จะปรับงบประมาณของกรมต่างๆ ให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์ความเป็นจริงได้ โดยจะหารือกับอธิบดีกรมต่างๆ ในการจัดสรรงบประมาณ
  นอกจากนั้น เร็วๆนี้ตนจะหารือร่วมกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในการขอความร่วมมือให้ส่งเชื้อผู้ป่วยมาตรวจเฉพาะที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการตรวจเชื้อจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยจริงๆเท่านั้น เพราะหากโรงพยาบาลเอกชนส่งเชื้อมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ฯเจ้าหน้าที่ก็จะต้องดำเนินการตรวจให้หมดไม่มีสิทธิปฏิเสธ

**เทอร์โมสแกนใช้ได้ผลแค่ 10 %
  นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดสธ.กล่าวว่า จากการประเมินการใช้เครื่องเทอร์โมสแกนที่สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่า สามารถดักจับผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิความร้อนในร่างกายสูงได้เพียง 10 %เท่านั้น ความจำเป็นในการใช้เครื่องเทอร์โมสแกนในขณะนี้จึงมีน้อย แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจเครื่องเทอร์โมสแกนที่ติดตั้งตามจุดต่างๆในสนามบินจะยังไม่มีการนำออกไป แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อเครื่องนี้เพิ่มเติม ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1  ที่มีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการฯมีการเสนอให้ซื้อเครื่องเทอร์โมสแกนเพิ่มเติม

**ยกเลิกใบ ต 8 เหตุให้ข้อมูลไม่จริง
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น ยังคงมีการคัดกรองผู้ป่วยด้วยเครื่องเทอร์โมสแกน และแจกบัตรแนะนำสุขภาพ แต่จะปรับมาตรการ โดยจะตั้งจุดตรวจรักษา 1 จุด มีแพทย์พยาบาลประจำการ 24 ชั่วโมง โดยติดป้ายประกาศแจ้งผู้โดยสาร ทั้งภาษาไทยและอังกฤษทุกประตู เพื่อแนะนำให้ผู้ที่มีไข้ ไอ มารับการตรวจรักษาที่จุดดังกล่าว หากอาการรุนแรงจะส่งรักษาต่อในโรงพยาบาล ส่วนผู้ที่อาการไม่รุนแรงจะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและติดตามอาการทุกวัน ส่วนการกรอกแบบสอบถามสุขภาพ หรือ ต 8 ซึ่งให้ผู้โดยสารกรอกเองก่อนลงเครื่อง จะยกเลิก เนื่องจากการประเมินที่ผ่านมาพบว่าการกรอกข้อมูลไม่ตรงกับความจริงทำให้ประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังป้องกันโรคน้อย
นอกจากนี้ได้เร่งพัฒนาชุดตรวจทดสอบเบื้องต้นและนำมาใช้ในการตรวจยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจกับทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งชุดตรวจทดสอบมีค่าใช้จ่ายเพียง 400 บาท ต่อครั้ง โดยการตรวจจะใช้กับผู้ที่เดินผ่านเครื่องเทอร์โมสแกนแล้วมีไข้ และหากพบให้ผลเป็นบวก จึงจะนำมาตรวจยืนยันซ้ำที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

**เผยยุ่นกินยาต้านโดดตึกตาย 3 ราย
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้เชิญตนไปเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ไปร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ในระหว่างวันที่ 17-24 มิถุนายนนี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในประเทศกำลังพัฒนาให้กับคณะแพทย์ขององค์การอนามัยโลก ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีการป้องกัน รักษาโรคได้ดีโดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีโรคไข้หวัดนกระบาด
  ทั้งนี้ ข้อมูลที่จะนำไปเสนอต่อองค์การอนามัยโลกเพื่อนำไปออกเป็นหลักเกณฑ์การใช้ยาต้านไวรัส ให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและงบประมาณในการจัดซื้อยาต้านไวรัส เพื่อสามารถใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะประเทศเหล่านี้ไม่สามารถทุ่มงบประมาณจัดซื้อยาได้อย่างมหาศาลเหมือนสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้ออกหลักเกณฑ์ในการให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เฉพาะรายที่มีอาการรุนแรง หรือกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น เช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย ที่ล่าสุดได้ประกาศเตือนเรื่องการใช้ยาต้านไวรัสดังกล่าวให้ใช้เฉพาะรายที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย และผลข้างเคียงของการใช้ยา
   “ยาต้านไวรัสไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวในการรักษา ยังมีการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ เป็นต้น และที่สำคัญ ยาต้านไวรัสนี้ มีผลข้างเคียง คือ ผู้ที่ทานยาชนิดนี้ ร้อยละ 10-15 จะรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน และเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ญี่ปุ่น พบว่ามีเด็กวัยรุ่นป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ทานยาต้านไวรัส ได้เพียง 1 วัน แล้วเกิดภาพหลอนจนกระโดดตึกตายไปแล้ว 3 ราย ซึ่งทางการญี่ปุ่น และสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยาหรือไม่ หรือเกิดจากลักษณะของโรค ที่เชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายเข้าสู่สมอง และทำให้เกิดภาพหลอนได้” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว
  ทั้งนี้ ญี่ปุ่น มีการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อย่างแพร่หลาย โดยสั่งซื้อยาจากบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง(โรช) ปีละ 9 ล้านแพ็ค ขณะที่บริษัทดังกล่าวมียอดการผลิตเพียงปีละ 12 ล้านแพ็คเท่านั้น ซึ่งยาอีก 3 ล้านแพ็คที่เหลือได้กระจายไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก
  
**รพ.เอกชนเก็บค่าตรวจแพงหูฉี่
  แหล่งข่าวจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีตัวอย่างเชื้อส่งมาตรวจหาสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วันละ ประมาณ 200-300 ราย ในจำนวนนี้เป็นเชื้อที่ส่งมาจากโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 150-200 รายต่อวัน ซึ่งในการเก็บค่าตรวจเชื้อจะเก็บเท่ากันกับการตรวจเชื้อที่ส่งมาจากกรมควบคุมโรคหรือหน่วยงานภายในสธ. 4,000  บาทต่อครั้ง แต่จากการที่ประชุมร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการมีรายงานว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเรียกเก็บค่าบริการรายละ 8,000 บาท  โดยรวมค่าตรวจเชื้อ  ค่าแพทย์และค่าอื่นๆด้วย จึงไม่มีข้อมูลว่าแต่ละแห่งเรียกเก็บค่าตรวจเชื้อมากกว่าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เก็บจากโรงพยาบาลมากน้อยเท่าไหร่
  ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวยืนยันแช่นกันว่า ขณะนี้มีรายงานว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเรียกเก็บค่าตรวจโรคไข้หวัดใหญ่จากผู้ป่วยสูงถึง 7 – 8 พันบาท โดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งตัวอย่างเชื้อจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยไปตรวจในห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบสายพันธุ์ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่  
“หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าโรงพยาบาลเอกชนได้กำไรจำนวนมาก จากการตรวจโรคไข้หวัดธรรมดา ซึ่งกรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการแยกบัญชีค่าตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการให้เห็นว่าใครเป็นผู้ส่งตัวอย่างเชื้อมาตรวจ หากหน่วยงานใดที่ไม่ใช่กรมควบคุมโรคเป็นผู้ส่งเชื้อมาตรวจหน่วยงานนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง ไม่ใช่มาเรียกเก็บจากกรมควบคุมโรคทั้งหมด”แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากโทรไปสอบถามค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างตรวจห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลเอกชนมีสนนราคาประมาณ  3,000-8,400 บาท แล้วแต่โรงพยาบาล ซึ่งราคาดังกล่าวยังไม่รวมค่าแพทย์ ค่าเครื่องมือ ค่ายาฯลฯด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่สถานพยาบาลเอกชนส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจนั้นก็ไม่ทราบได้ว่า ส่งตรวจเฉพาะเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กรมวิทยาศาสตร์ฯมีต้นทุนตรวจ 2,000 บาทหรือตรวจแบบครบสูตรที่มีต้นทุน 4,000 บาท

**วอนอย่าดิ้นรนเสียเงินตรวจ
  นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมดำเนินตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ในห้องปฏิบัติการอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถตรวจได้วันละ 400 ตัวอย่าง และศูนย์กรมวิทยาศาสตร์ฯในภูมิภาคต่างๆอีกแห่งละ 50 ตัวอย่างเท่านั้น ทั้งนี้เบื้องต้นจะขอความร่วมมือส่งแต่รายที่จำเป็น โดยไม่สามารถทำตามกระแสความตื่นตระหนกของประชาชนต้องการได้ หากยังไม่ให้ความร่วมมือในอนาคตคงจะต้องให้นำประวัติผู้ป่วยแนบมากับสารคัดหลั่งที่ส่งให้ตรวจพิสูจน์ เพื่อเป็นการคัดกรองรายที่จำเป็น เนื่องจากกรมฯตรวจไม่ไหว และยังมีภาระงานอื่นๆที่จำเป็นต้องใช้ห้องปฏิบัติการและบุคลากรในการตรวจวิเคราะห์อื่นๆอีกเช่น ตรวจอาหารปลอดภัย ตรวจสารเคมี ฯลฯ
 “ล่าสุดได้มีการประชุมระดับห้องปฏิบัติการของทั้งกรมวิทยาศาสตร์ฯกับของคณะแพทยศาสตร์ฯทั้งหลายซึ่งเห็นตรงกันว่าไม่สามารถตรวจสารคัดหลั่งได้ ดังนั้นจึงอยากฝากบอกประชาชนว่าการตื่นตระหนกและแห่ไปตรวจเชื้อว่าเป็นสายพันธุ์ใด ใหม่หรือเก่าที่โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะแพทย์จะต้องให้การรักษากับอาการที่เกิดขึ้นก่อนที่ผลทางห้องปฏิบัติการจะออกมา ดังนั้นไม่ต้องดิ้นร้นเสียเงินเป็นจำนวนมาก เพราะการรักษาก็ไม่แตกต่างกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล”นพ.มานิต กล่าวว่า
 
  **”มาร์ค”สั่งดูแลกลุ่มเสี่ยงพิเศษ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การระบาดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่นั้น น่าจะเห็นตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างนี้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้มข้นให้มากขึ้นในการติดตาม เพราะสิ่งที่สำคัญคือเมื่อพบแล้วต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ไปอยู่ในพื้นที่ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่องขึ้น โดยกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดคือเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคอื่นๆ จะมีการดูแลเป็นพิเศษ
ส่วนเมื่อถามว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมองได้ว่า รัฐบาลถือว่าล้มเหลวในการป้องกันหรือเฝ้าระวังโรค นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โรคนี้คนที่ติดเชื้อในช่วงแรกไม่มีอาการ ฉะนั้นการตรวจสอบอาการให้เป็นไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้ยาก จะเห็นว่า ประเทศขนาดใกล้เคียงกับไทย หลายประเทศจะเป็นไปลักษณะเดียวกัน และจะมีระยะหนึ่งที่ตัวเลขพุ่งขึ้นรวดเร็ว ฉะนั้นเราจะไม่ประมาท ที่สำคัญคือ ใครติดเชื้อต้องรีบดูแล

**ร.ร.ปิดเพิ่มอีกเพียบ
นายปรีชา จิตรสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 เปิดเผยว่า ในวันนี้มีโรงเรียนแจ้งขอหยุดการเรียนการสอน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มเติม ได้แก่ โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่พบนักเรียนป่วยมีไข้สูงถึง 17 คน กระจายอยู่หลายห้องเรียน แพทย์เกรงว่าจะควบคุมโรคได้ยากหากเปิดเรียน จึงตัดสินใจหยุดการเรียนสอนตั้งแต่วันนี้ และเปิดอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย.นี้ นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งจากโรงเรียนนวมินทราชูทิศ สตรีวิทยา 2  ว่าได้ประกาศปิดเรียนในช่วงเวลาเดียวกันเช่นกัน แต่ยังไม่ยืนยันพบผู้ป่วยแต่อย่างใด ขณะที่ก่อนหน้านี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสุวินทวงศ์ ซึ่งไปฝากเรียนไว้กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ได้ปิดเรียนไปพร้อมกันโดยปริยาย
ด้านนายศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า  โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน โรงเรียนธัญวิทยาตงมิ้น ปทุมธานี โรงเรียนสาธิตมหาวิทลัยราชภัฏสวนนุนันทา ได้ประกาศหยุดเรียนตั้งแต่วันนี้เช่นกัน สรุปรวมโรงเรียนที่หยุดเรียน 23 แห่ง มีนักเรียน นักศึกษายืนยันว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวม 73 คน จาก 13 สถานศึกษา

**ส.สถาปนิกฯเสนอ6มาตรการสกัด
นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ในอาคารสำนักงานทั่วไปในเมืองไทย ยังน้อยมากหากเทียบกับต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากการอยู่อาศัยในอาคาร หรือ Sick Building Syndrome ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะระบบปรับอากาศเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดภายในตัวอาคารอย่างจริงจังในระยะนี้
สำหรับแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในอาคารตามข้อเสนอของสมาคมฯ ควรดำเนินการ 6 แนวทางหลัก คือ 1.ต้องทำความสะอาดระบบปรับอากาศภายตัวอาคารอยู่เสมอ    โดยเฉพาะในส่วนชุดเครื่องปรับอากาศ โดยปรับรอบระยะเวลาการทำความสะอาดให้เป็นทุกระยะ 2 เดือน จากมาตรฐานปกติควรจะทำความสะอาดทุกๆ 6 เดือน เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกภายในระบบปรับอากาศ
2.ควรตรวจสอบเครื่องปรับอากาศว่า เป็นแผ่นกรองอากาศชนิดใด หากเป็นแผ่นกรองชนิดตะแกรงอลูมิเนียมจะมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองต่ำมาก ทางสมาคมเห็นว่าควรเปลี่ยนแผ่นกรองเป็นชนิด ใยสังเคราะห์ ที่มีประสิทธิภาพการกรองไม่น้อยกว่า 25% ในกรณีของอาคารทั่วไป และประสิทธิภาพการกรอง 90% ในกรณีใช้กับอาคารที่มีความสุ่มเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อ 
3.ให้ทำการปรับตั้งพัดลมดูดอากาศให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ   เพื่อให้การไหลเวียนของอากาศมีคุณภาพดีขึ้น  4.ควรติดตั้งพรมเช็ดเท้าดักกรองฝุ่นทุกประตูทางเข้าออกของอาคาร เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง ที่ฟุ้งกระจายในอากาศ  5.ในช่วงเวลาของการปิดระบบปรับอากาศ ควรเปิดช่องระบายอากาศต่างๆ เช่น ประตู หน้าต่าง ให้อากาศบริสุทธิ์หมุนเวียนเข้ามาถ่ายเท  และควรจะเปิดให้แสงแดดธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่อาคารให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ 6. หากพบว่ามีบุคคลที่เข้าข่ายในการติดเชื้อ เช่น มีอาการไอ หรือจาม ควรจัดสรรพื้นที่ในการให้การดูแลบุคคลดังกล่าวเป็นพิเศษ 
“ ค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศภายในอาคาร ถือว่าไม่มากอยู่ในวิสัยที่ดำเนินการได้ โดยค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนระบบ Fan Coil และท่อกรองอากาศจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อ 1 หมื่นตารางเมตร (ตรม.) หรือเฉลี่ย ตรม. ละประมาณ 200 บาท ลงทุนครั้งเดียวสามารถใช้งานได้ในระยะยาว” นายทวีจิตรกล่าว

***บราซิลพบหวัด2009กลายพันธุ์

นักวิทยาศาสตร์บราซิลพบเชื้อไวรัสเอช1 เอ็น 1 ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ หลังตรวจสอบตัวอย่างจากผู้ป่วยรายหนึ่งในเมืองเซาเปาลู สถาบันแบคทีเรียวิทยาอดอลโฟ ลุตซ์ของบราซิล แถลงในวันอังคาร (16) ทางสถาบันแห่งนี้ ตั้งชื่อไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 เซาเปาลู 1454 หลังจากเปรียบเทียบกับตัวอย่างเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ที่นำมาจากมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ลำดับพันธุกรรมของไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ ได้รับคัดแยกโดยทีมศึกษาวิจัยด้านไวรัส ซึ่งมีนักวิจัยของสถาบันอดอลโฟ ลุตซ์ เป็นแกนนำรายหนึ่ง ทั้งนี้การกลายพันธุ์ที่พบ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนฮีแมกกลูตินิน ซึ่งเปิดทางให้เชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถแพร่ไปยังเซลล์ใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า หวัดกลายพันธุ์ชนิดนี้จะรุนแรงมากกว่าเชื้อไวรัสชนิดเอ เอช1เอ็น1 ซึ่งกำลังระบาดในปัจจุบันหรือไม่
**ออสเตรเลียเพิ่มระดับเตือนภัย**
ทางการออสเตรเลียวานนี้(17) สั่งเพิ่มระดับเตือนภัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศขยับขึ้นมากกว่า 2,000 รายแล้ว นิโคลา ร็อกซัน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแถลงว่า มาตรการเตือนภัยจะขยับเข้าสู่ระดับ "ป้องกัน" ที่กำหนดขึ้นมาใหม่ โดยจะมีเพียงผู้ที่ติดเชื้อรุนแรงเท่านั้นที่จะได้รับยาต้านไวรัส เช่น ทามิฟลู ส่วนพวกที่มีอาการเล็กน้อยจะรักษาตามอาการ
"การเตือนภัยระดับ"ป้องกัน" หมายความว่า เชื้อหวัด 2009 ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิดในตอนแรก" รมต.หญิงบอกกับผู้สื่อข่าว เธอบอกด้วยว่า ออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อหวัดชนิดนี้ทั้งสิ้น 2,026 ราย โดยรัฐวิคตอเรีย ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการระบาดหนักที่สุด มีผู้ติดเชื้อมากถึง 1,210 ราย
**มาเลเซียพบผู้ติดเชื้อแบบคนสู่คนรายแรก**
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเลเซียวานนี้(17) รายงานผู้ติดเชื้อหวัด 2009 จากคนสู่คนเป็นรายแรก ภายหลังพบผู้ป่วยรายหนึ่งติดเชื้อดังกล่าวในประเทศ อิสมาอิล เมอริกัน อธิบดีกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นหญิงสาววัย 17 ปี ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จากผู้ป่วยอีกราย ที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อเมื่อวันเสาร์ (13)
"หญิงสาวรายนี้ไม่มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศที่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อ" อิสมาอิลแถลง ในวันเดียวกัน (17) มาเลเซียพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 5 ราย ทำให้ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 23 คน

**อาร์เจนตินาเสียชีวิตรายที่2***

อาร์เจนตินาแถลงเมื่อวันอังคาร(16) มีผู้ติดเชื้อหวัด 2009 เสียชีวิตเป็นรายที่สอง และมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 733 ราย ผู้อำนวยการศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะในบัวโนสไอเรสกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่สองนี้เป็นชายวัย 24 ปี ซึ่งป่วยด้วยโรคลูคีเมีย และเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไขกระดูก
"ผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจริง โดยเขาสิ้นใจเมื่อสัปดาห์ก่อน"ส่วนที่แคนาดา มีผู้ติดเชื้อหวัด 2009 เสียชีวิตเป็นรายเพิ่มอีก 2 ราย และมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 534 ราย ส่งผลให้ตอนนี้แคนาดามีผู้ติดเชื้อดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว 9 ราย และมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่เริ่มระบาดมากกว่า 4,049 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น