xs
xsm
sm
md
lg

สภาสถาปนิกแฉจ้างเซ็นตรวจตึกลั่นเจอจับยัดคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – สภาสถาปนิกสั่งตรวจเข้มลายชื่อสถาปนิก หวั่นถูกปลอมลายเซ็น ขู่จับได้ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด ชี้ช่องโหว่ ประกาศกระทรวงฯอาคารที่ต้องจัดทำรายงานสวล. แนะกำหนดวันบังคับใช้ชัดเจน กันอาคารเลี่ยงกฎหมาย ด้านนายกสมาคมฯ แฉตรวจสอบอาคารเหลว เกิดกระแสจ้างเซ็นตรวจอาคาร ราคาถูก เสนอกำหนดจำนวนอาคารที่ต้องตรวจต่อ 1 คน พร้อมออกบทลงโทษหนักหากทำผิด เผยเตรียมแผนเสนอกระทรวงพาณิชย์โปรโมทอาชีพสถาปนิกไทยในต่างชาติ

นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบอาคารว่า ปัญหาการตรวจสอบอาคารยังมีมากมาย โดยเฉพาะจำนวนผู้ตรวจสอบอาคารไม่เพียงพอต่อจำนวนอาคารที่ต้องถูกตรวจสอบในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้เกิดการรับจ้างเซ็นตรวจสอบอาคาร ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้ตรวจสอบ เช่นเดียวกับในอดีตที่ผู้ตรวจสอบบัญชีการจ้างเซ็นตรวจสอบบัญชี หรือ เภสัชกรจ้างเปิดร้านขายยา แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว และหวังว่าการตรวจสอบอาคารจะมีมาตรฐานเช่นเดียวกับการตรวจสอบบัญชีในปัจจุบัน

“ ตอนนี้กฎหมายการตรวจสอบอาคาร กำลังเป็นปัญหา และไม่ใช่เป็นการป้องกันความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้อาคาร แต่กลายเป็นภาระของเจ้าของอาคาร เพราะการตรวจสอบอาคารเป็นเรื่องยุ่งยาก หากตรวจตามขั้นตอนและจุดที่กำหนด ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนช่วยกันตรวจ ใช้เวลาหลายวัน โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่  เจ้าของอาคารเลยถือโอกาสจ้างให้ผู้ตรวจสอบเซ็นตรวจถูกๆ ไม่กี่หมื่นบาท เพื่อที่อาคารจะได้ไม่ผิดกฎหมาย” นายทวีจิตรกล่าว

ทั้งนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่กฎหมายที่ออกมาใหม่ๆ จะมีช่องโหว่ ดังนั้น จะต้องหาช่องโหว่นั้นและแก้ไขไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้แก้ได้ด้วยการกำหนดให้ผู้ตรวจสอบ 1 คน สามารถเซ็นตรวจได้กี่อาคาร กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบให้ชัดเจน และหากกระทำผิดให้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรง เพิกถอนใบอนุญาตหรือมีความผิดทางอาญา  

ระวัง’สถาปนิกผี’ปลอมลายเซ็น

ด้านพลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก เปิดเผยถึงนโยบายและแนวทางการรับมือปัญหาการปลอมแปลงลายมือชื่อสถาปนิก ภายหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยสำนักการโยธา กรุงเทพฯ ว่า สภาสถาปนิกได้ยื่นหนังสือขอความร่วมมือต่อกรุงเทพฯให้กวดขัน และตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง และรื้อถอนอาคาร รวมทั้งได้เสนอแนะให้ทางกรุงเทพฯ รวบรวมบัญชีรายชื่อสถาปนิกที่ออกแบบงานหรือ การขอเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างที่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานเขตต่างๆ หรือสำนักการโยธาของกรุงเทพฯ โดยประกาศรายชื่อสถาปนิกผู้ออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง เรียงตามตัวอักษรของชื่อสถาปนิกในเว็บไซต์ของกรุงเทพฯ เพื่อให้สถาปนิกหรือผู้ที่อาจถูกแอบอ้างชื่อเป็นผู้ออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างได้มีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องและข้อเท็จจริงได้โดยตรง

ขณะเดียวกัน สภาสถาปนิกได้ดำเนินการรวบรวมบัญชีรายชื่อสถาปนิกที่งานออกแบบหรือเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างจากสำนักงานเขตต่างๆ และสำนักการโยธา เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.act.or.th เป็นประจำทุกเดือน

ชี้ช่องโหว่กฎหมายสิ่งแวดล้อม


พลเรือเอกฐนิธ กล่าวต่อว่า นับจากการออกประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สวล.) และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามประกาศ ณ วันที่ 20 ม.ค. 52 นั้น พบว่า ยังมีบางประเด็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มองว่า เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของสถาปนิก และผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารในภาพรวม

“ ในระหว่างที่ยังไม่มีผลบังคับใช้  ทราบว่า หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ได้แจ้งต่อสถาปนิกและผู้ดำเนินโครงการที่ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ให้จัดทำรายงานสวล.ตามประกาศฯ จึงจะดำเนินเรื่องพิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก”

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารท้ายประกาศฯ ที่ครอบคลุมประเภท ขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่ใช้สอยอาคารจากเดิม 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป ปรับเป็นอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตร.ม.ขึ้นไป ส่งผลให้การพิจารณาล่าช้าออกไป อีกทั้ง การเปิดให้คงการจัดทำรายงานผลกระทบสำหรับโครงการใด ที่มีความเสี่ยงสูงต่อสิ่งแวดล้อม เว้นแต่โครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มาก สามารถออกเป็นข้อกำหนดให้ปฏิบัติตาม ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสังคมในภาพรวมได้อีกทางหนึ่ง  

“ การประกาศข้อกำหนดใดๆ นั้น ควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รวมถึงการแจ้งวันบังคับใช้ที่ชัดเจนให้แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและละเอียดชัด และจะทำให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกันและไม่ก่อให้เกิดผลเสียที่อาจตามมาในอนาคต”

ชงแผนก.พาณิชย์โปรโมทสถาปนิกบุกนอก

นายทวีจิตร กล่าวต่อว่า ตามที่กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์มีแนวคิดที่จะนำธุรกิจหรือการให้บริการด้านการออกแบบของไทยไปนำเสนอยังต่างประเทศ โดยล่าสุดได้ไปจัดบูทแสดงที่ประเทศ ซูดาน ลิเบีย และโมร็อคโค ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก สาเหตุมาจากการให้บริการด้านการออกแบบ เป็นธุรกิจให้บริการอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถไปออกบูทแสดงเหมือนกับขายสินค้าทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้เข้าหารือกับนางพรทิวา นาคาศัย รมว.กระทรวงพาณิชย์ ถึงแนวทางที่จะประชาสัมพันธ์(โปรโมท)อาชีพสถาปนิกไทยในต่างชาติ ควรจะมีการรณรงค์ “ ไทยแลนด์ แบรนด์ ” แสดงให้ต่างชาติเห็นถึงความสามารถด้านครีเอทีฟของคนไทย โดยต้องเป็นการแสดงภาพพจน์ของสถาปนิกให้เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะการซื้อบริการด้านการออกแบบ ผู้ซื้อหรือลูกค้าจะต้องเริ่มจากความเชื่อถือ และเห็นถึงผลงาน ชอบในผลงานของสถาปนิกจึงจะจ้าง

“ รัฐมนตรีฯเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาคมฯและให้ทางสมาคมฯไปวางแผนการประชาสัมพันธ์มานำเสนอในภายหลัง”

สำหรับการการสร้างภพลักษณ์ด้านการออกแบบให้ต่างชาติได้เห็น เช่น 1.การซื้อสื่อโฆษณาของต่างชาติ เพื่อแสดงผลงานการออกแบบของคนไทย และบทสัมภาษณ์สถาปนิกของไทยผู้ออกแบบ เช่น การออกแบบรีสอร์ทซึ่งไทยถือเป็นอันดับต้นๆของโลกที่สามารถเริ่มได้เลยคือ การซื้อพื้นที่สื่อที่เสนอบนเครื่องบินของการบินไทย เพราะลูกค้าของการบินไทยจะต้องเปิดอ่านอยู่แล้ว 2.การจัดนิทรรศการในต่างประเทศ 3. ให้ทูตไทยในต่างประเทศช่วยโปรโมทด้วยการเชิญสถาปนิกไทย ไปนำเสนองานต่างๆที่เห็นสมควร เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ความรู้ความสามารถ

“ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรให้การสนับสนุน คือ การใช้ความสัมพันธ์ของรัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศเป้าหมายในการเสนองานสถาปนิกของไทย และทูตไทยในประเทศนั้นๆ ควรให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำด้านกฎหมายของประเทศนั้นๆซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” นายทวีจิตรกล่าว

ปัจจุบันสถาปนิกไทยทั้งเก่าและจบใหม่มีประมาณ 16,000 คน  ที่ไปทำงานในต่างประเทศไม่ถึง 1,000 คน ส่วนในรูปแบบบริษัทขนาดใหญ่มีประมาณ 5 บริษัท และบริษัทย่อยๆ มีประมาณ 10-20 บริษัทเท่านั้น

“ในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ จะชี้เป้าให้แก่สถาปนิกของเค้าไปเลยว่าลูกค้าคนไหน และให้ความช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย หากประเทศใดที่สถาปนิกต้องใช้ใบประกอบการวิชาชีพของคนในประเทศนั้นๆ ก็จะระบุได้เลยว่า บริษัทใดมีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่ปล่อยให้บริษัทด้านสถาปนิกเดิมสุ่มเอาเอง เจอลูกค้าดีก็ดีไปได้เงิน แต่ลูกค้าไม่ดีก็ถูกเบี้ยวค่าแรง ซึ่งที่ผ่านมาสถาปนิกไทยประสบเรื่องแบบนี้มาตลอด”
กำลังโหลดความคิดเห็น