xs
xsm
sm
md
lg

พรรคเติ้งดันแก้รธน.ด่วนชี้ตกผลึกแล้วปัดตั้งส.ส.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้า การปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะบางฝ่ายมองว่ารัฐบาลดองเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ให้พรรคร่วมรัฐบาลไปดูเรื่องวิธีการและขั้นตอนเพราะข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูฯ มีข้อเสนอมาสามระยะ และตนได้หารือกับนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาแล้ว และทราบว่า ส.ว.มีความเห็นค่อนไปในทางที่ว่า ควรมีการแต่งตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมา ฉะนั้นต้องหารืออีกครั้ง และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯในระยะแรกก็เสนอว่าจะต้องใช้เวลาหนึ่งปี ตรงนี้ตนต้องไปดูว่าทำอย่างไรจะเดินหน้าไปได้และไม่สร้างปมขัดแย้งใหม่ขึ้นมา
ส่วนที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้านระบุว่ารัฐบาลดองเรื่องนี้นั้น นายกรับมนตรี กล่าวว่าไม่มีการดอง ตนรับเรื่องนี้มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและนำเรื่องนี้ ให้ที่ประชุมครม.รับทราบทันทีและขอให้วิปพรรคร่วมรัฐบาลไปหารือกันเพื่อนำกลับมาเสนอต่อรัฐสภาในช่วงเปิดสมัยการประชุมนี้ และตอนนี้ทุกพรรค ต้องไปศึกษาเรื่องนี้ก่อน เมื่อเปิดสมัยประชุม วิปรัฐบาลและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ต้องมาหารืออีกครั้ง และเรื่องนี้มันไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะการตอบสนองข้อคิดเห็น ทางการเมืองที่มีเหตุผลต้องมีคำตอบเช่นกัน ตนพูดมาตั้งแต่ต้นหลังทีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติว่า ต้องมีการแก้ไข แต่จะแก้ไขประเด็นใดและเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนนั้นต้องพยายามเดินไปโดยไม่มีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นอีก
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายวิทยา บูรณาศิริ ระบุถึงข้อสรุป 6 ข้อของคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า นายกรัฐมนตรีเคยรับปากว่าจะปฏิบัติตามและกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ซื้อเวลา ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการซื้อเวลา และขัดขวางกระบวนการใดๆ ที่ให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ทุกคนในประเทศยอมรับ เชื่อว่าประเด็นนี้พรรคฝ่ายค้านก็คงหยิบมาเป็นประเด็นการเมืองที่จะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อสุมไฟการเมืองให้ร้อนแรงขึ้น หวังผลให้มรสุมทางการเมือง ถาโถมเข้ามาสู่รัฐบาล และให้สถานการณ์การเมืองของรัฐบาลอยู่ในช่วงที่เลวร้าย เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านเพียงฝ่ายเดียว
นายเทพไท กล่าวว่า ผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ 6 ข้อที่อ้างว่า เป็นข้อสรุปของ 3 ฝ่ายทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และวุฒิสมาชิกนั้น ก็ไม่ได้เป็นข้อยุติว่า เป็นข้อสรุปของคนส่วนใหญ่ แต่เป็นเพียงข้อสรุปของฝ่ายสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น ดังนั้นข้อสรุปดังกล่าวรัฐบาลก็พร้อมที่จะนำมาพิจารณา และต้องให้โอกาสกับพรรคร่วมรัฐบาลในการพิจารณาด้วย เพื่อให้มีความเห็นสอดคล้องกัน รวมไปถึงภาคประชาชนและองค์กรต่างๆ ก็ต้องรับฟังในรูปแบบของการทำประชาพิจารณ์ หรืออาจก้าวไปสู่ การทำประชามติก็ได้ จึงอยากเรียกร้องว่าฝ่ายค้านไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศควรจะใช้เวลาให้รอบคอบ
ด้านนายชุมพร ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และน้องชายนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ถูกยุบพรรค และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบรายงานผลการศึกษา ของคณะกรรมการสมานฉันฑ์ฯ เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมืองที่ทางสภาฯส่งมาให้ เพื่อให้พรรคร่วมไปอ่านศึกษากันก่อน โดยยังไม่ได้นัดให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาประมวลความเห็นร่วมกัน ส่วนท่าทีของ พรรคชาติไทยพัฒนาเองเห็นว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ข้อที่คณะกรรมการสมานฉันท์สรุปมาอยู่ใน 7 ประเด็น ที่พรรคเห็นสมควรนำมาแก้ไขก่อน ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาได้ประกาศจุดยืนไปนานแล้ว และได้แสดงจุดยืนย้ำอย่างชัดเจนไปในวันทำพิธีเปิดพรรคชาติไทยพัฒนาไปแล้ว
ผมเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นประเด็นที่ตกผลึกเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย เพราะเป็นที่ถกเถียงกันมานานพอสมควร และวิธีการแก้ไขพรรคอยากเสนอให้ แยกออกเป็นประเด็นละ 1 ฉบับไม่ให้เอามารวมทั้งหมด เพื่อประโยชน์ในการพิจารณา ในสภาว่า ประเด็นใดที่ไม่เห็นด้วยก็ตกไปเป็นรายประเด็น ไม่ทำให้ประเด็นอื่นที่เห็นร่วมกันแล้วต้องตกไปด้วย เช่น เสนอวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. กับการเลือกตั้ง ส.ว.ก็แยกออกไปคนละฉบับ ถ้า ส.ว.ไม่เอาก็ตกเฉพาะ ส.ว. ไม่ใช่ตกไปทั้งสองฉบับ วิธีนี้ไม่ถือว่าใช้เวลานาน และการอภิปรายก็สะดวกและง่ายดาย มีเหตุ มีผลขึ้น และชัดเจนในเรื่องข้อดี ข้อเสีย
ส่วนที่ประธานวิปรัฐบาลเองยังเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯชุดถาวร หรือ ตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมาใหม่ จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกวิจารณ์ว่าซื้อเวลา นายชุมพล กล่าวว่า ตนไม่เคยได้ยินว่านายกรัฐมนตรีจะมีท่าทีอย่างนี้ แต่เมื่อกฎหมายเข้าสู่สภาฯ แล้วก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐสภา ซึ่งตามหลักต้องมีการพิจารณาไปตามวาระ 1,2,3 และมีการตั้งกรรมาธิการมาพิจารณาและมีการแปรญัตติก่อนที่จะเข้าสู่วาระสาม ก็ให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งตามกระบวนการของรัฐสภา ไม่ได้กำหนดให้ต้องตั้ง ส.ส.ร. 3 โดยส่วนตัวเห็นว่าประเด็นเหล่านี้มันตกผลึกมาหมดแล้ว คงไม่ต้องถึงขนาดตั้งส.ส.ร. 3 ขึ้นมาใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤติ รอบใหม่หรือไม่ เพราะ 40 ส.ว.ตั้งป้อมคัดค้านอย่างเต็มที่ นายชุมพล กล่าวว่า ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดวิกฤติอะไร แต่สิทธิของ ส.ว.คนใดจะคัดค้านก็สามารถทำได้ กลุ่ม 40 ส.ว.มีเท่าไหร่ เขามี 42 เสียงจาก 150 เสียง จะคัดค้านอย่างไรเราก็ฟังเขา เรื่องบรรยายกาศที่จะเกิดวิกฤตินำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่อย่างไร มันอยู่ที่ภายในรัฐบาลกันเองไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น