xs
xsm
sm
md
lg

เกมแก้ รธน.ส่อถึงประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.เตรียมถกข้อเสนอแก้ รธน.ของ กก.สมานฉันท์ อังคาร 21 ก.ค.นี้ ก่อนส่งสภาฯ ตัดสินเดินหน้าตั้งคณะทำงานฯ ยอมรับหลายฝ่ายความเห็นไม่ตรงกัน ไพ่ใบสุดท้าย ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จากการพูดคุยและดูข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้มีกลไกของรัฐสภาเกิดขึ้น เพื่อให้มีการนำข้อเสนอของคณะกรรมการ ไปสู่การวิเคราะห์ และดำเนินการให้เกิดผลทางปฏิบัติ ซึ่งนายกฯได้พูดในที่ประชุมการรับฟังข้อเสนอแนะ ของกรรมการสมานฉันท์ฯว่า ทางฝ่ายรัฐบาลจะนำข้อเสนอไปพูดคุยกับคณะรัฐมนตรี

ในส่วนของรัฐสภา นายกฯ คงต้องหารือกับส.ส.โดยเฉพาะในรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลรวมไปถึงฝ่ายค้านด้วยว่า จะมีแนวทางดำเนินการต่ออย่างไร ฉะนั้นเข้าใจว่าในอนาคตน่าจะเกิดกลไกในรูปของคณะทำงาน เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ มาสู่การศึกษา และอาจจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนเพิ่มเติม เนื่องจากนายกฯ ได้ปรารภในที่ประชุมตรงกันกับที่ฝ่ายกรรมการสมานฉันท์รายงานว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยเห็นได้ชัดก่อนที่จะเดินเข้าห้องมารับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ มี กลุ่ม 40 ส"ว. มายื่นหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วย ในเวลาที่บางฝ่ายแสดงการสนับสนุนชัดเจน และเปิดเผย

" ดังนั้นกลไกที่จะเกิดขึ้นในรัฐสภาก็ดี การหารือร่วมกันระหว่าง ครม.หรือ ส.ส.ในสภาฯ เป็นกลไกที่มีความจำเป็น ท่านนายกฯ มีแนวว่า น่าที่จะต้องถึงขั้นรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย ส่วนจะถึงขั้นการทำประชามติหรือไม่นั้นน่า จะให้กลไกชุดนี้มีโอกาสที่จะพูดคุยกันก่อน และในส่วนของครม.น่าจะหยิบเรื่องนี้มาคุยกันในวันอังคาร ที่ 21 ก.ค.นิ้ ว่าจะเอาอย่างไร" นายสาทิตย์กล่าวว่า

นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนพรรคการเมือง ที่เป็นพรรคร่วม ต้องให้แต่ละพรรคการเมืองนำข้อเสนอไปศึกษากันเองก่อน ที่จะมีการนัดแกนนำพรรคร่วมมาหารืออีกครั้ง

ทั้งนี้ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาฯ จะมีการนัดคุยกันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งสภาและรัฐบาลจะต้องทำไปพร้อมๆ กัน โดยในส่วนของรัฐบาล อยู่ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาฯ จะให้กลไกสภาฯ เป็นตัวหลัก รัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน

ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่เสนอมา 6 ข้อ ถือว่ามีความละเอียดอ่อนพอสมควร หากคิดในมุมฝ่ายการเมือง จะเห็นว่าทำให้งานของฝ่ายการเมืองมีความยืดหยุ่น คล่องตัวมากขึ้น เช่น ส.ส.ดำรงตำแหน่งได้ หรือกรณีมุมของพรรคกการเมือง อาจจะคิดว่าการไปแก้เรื่องของการยุบพรรคให้มีความผิดเฉพาะตัว อาจจะทำให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น หรือการแก้ มาตรา 190 มองฝ่ายการเมืองอาจจะสะดวกกับการทำงานเหล่านี้เป็นต้น

แต่หากมองจากมุมของประชาชน อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนไม่ได้อะไร เป็นเรื่องการแก้ไขเฉพาะนักการเมือง แต่คณะกรรมการฯไม่ได้มีข้อเสนอเฉพาะแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังมีข้อเสนออื่น เช่น ข้อเสนอนำไปสู่ความสมานฉันท์ เรื่องการลดความขัดแย้ง เรื่องสมัชชาทางออากาศ ซึ่งช่อง 11 เคยสนับสนุนไปแล้ว ข้อเสนอเรื่องการทำสมัชชา 4 ภูมิภาค เพื่อนำคนที่มีความเห็นต่างมาพูดคุยในเวทีเดียวกัน เรื่องการให้แต่ละฝ่ายลดทิฐิ ความขัดแย้งตอบโต้กันทางการเมือง แม้กระทั่งข้อเสนอไปถึงสื่อมวลชน ที่ให้เผยแพร่พื้นที่ข่าวที่ดีมากขึ้น คิดว่าข้อเสนอทั้งหมดที่มีการเสนอมา มองได้หลายมุม บางมุมสามารถปฏิบัติได้เลย ส่วนของรัฐธรรมนูญยังมีความขัดแย้งกันอยู่มาก และเชื่อว่าในสังคมมีความเห็นที่ก้ำกึ่งกันมาก จึงต้องเป็นบทบาทของรัฐสภา ที่จะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร หากตัดสินใจทำประชามติ ก็ไม่มีทางปฏิเสธ และเชื่อว่ามาถึงจุดนี้ ฝ่ายค้านไม่มีทางเลือก ต้องเดินต่อไป

**ปธ.วุฒิย้ำต้องแก้รธน.เพื่อสมานฉันท์

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงเอแบคโพลสำรวจความคิดประชาชนซึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงร้อยละ 62.7 ว่า ตนเคยให้สัมภาษณ์แล้วว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อความสมานฉันท์ของชาติ แต่จะแก้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะให้รัฐมนตรีพิจารณาไปพร้อมกับรัฐสภา ส่วนที่กลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นหนังสือคัดค้าน ถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ ซึ่งคนเราสามารถมีความเห็นแตกต่างกันได้ ก็ต้องไปโหวตกันในสภา สู้กันในหลักรัฐสภา คนไหนเสียงข้างมากก็ชนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น