xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยปรากฏการณ์ “วงล่ม”

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

เมื่อเสาร์ที่แล้วผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานสำคัญของครูบาอาจารย์ เป็นงานแสดงมุทิตาจิต “72 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร แถวตลิ่งชัน โดยไปในฐานะที่เป็นทั้งศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 29 และเป็น ศิษย์เก่าในคณะทำงานของโครงการวิจัยฯ ที่มีศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระเป็นหัวหน้าโครงการ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.มาก่อน

โดยคำว่า ศิษย์เก่า คำหลัง ที่ต้องเน้นตัวดำ เพราะอยากจะย้ำว่าเป็นคำที่มีความหมายเชิงอุปมามากกว่า กล่าวคือ สมัยผู้เขียนเรียนจบใหม่ๆ เป็นนักศึกษารุ่นที่จบมาพร้อมกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (เศรษฐกิจตกต่ำยุค พ.ศ. 2540 - ผู้เขียนเรียนจบปริญญาตรี พ.ศ. 2543) งานการหายากแต่เพราะได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ ที่นอกจากจะหยิบยื่นงานให้ทำ ให้ได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้ว การได้ทำงานกับครูผู้มีวิชาความรู้เป็นที่ยอมรับระดับแนวหน้า ก็เหมือนกับผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนต่อเสริมปัญญาแบบ ไม่ต้องเสียสตางค์ด้วย

แต่สำหรับสิ่งที่อยากจะหยิบมาพูดถึง จากงานเมื่อวันเสาร์ เป็นเนื้อหาในช่วงการเสวนาของ 3 นักวิชาการ กับ อีก 1 นักปฏิบัติ ที่มาร่วมเสวนากันในหัวข้อ “หาแผ่นดินแม่ให้พบ แล้วจะจบที่ไหนก็ได้” การเสวนาในหัวข้อนี้ ตอนหนึ่ง ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หยิบ ทฤษฎีระนาดทุ้ม หรือวัฒนธรรมระนาดทุ้ม ออกมาสะท้อนการเมืองไทยหลายยุคหลายสมัยได้อย่างน่าฟัง แต่ก่อนที่เราจะว่าไปถึงตรงนั้น เราต้องมาดูกันเสียก่อนว่า คำว่า ทฤษฎีระนาดทุ้ม หมายถึงอะไร

คำว่า ทฤษฎีระนาดทุ้ม หรือวัฒนธรรมระนาดทุ้ม นั้นผู้ที่เขียนและคิดขึ้นมา หาใช่คนอื่นไกล แต่เป็นศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระที่เขียนเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสือชื่อ “เพื่อความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์” โดยอาจารย์ยังได้อธิบายไว้อีกครั้ง อย่างชัดแจ้งในการให้สัมภาษณ์ในคอลัมน์ “คุยสบายสไตล์มิวนิค ครั้งที่ 9” ตีพิมพ์ลงในวารสารประจำเดือนกันยายน 2548 ของโครงการ “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย” เนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า

...แม้พื้นฐานการวิจารณ์แบบไทยคือ การแสดงความคิดเห็นในรูปของมุขปาฐะ แต่สังคมไทยก็ได้พัฒนามาเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีเกณฑ์ กติกา สาธารณะที่โปร่งใส การวิจารณ์จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับตัวให้เป็นกิจสาธารณะ นั่นก็หมายความว่า ผู้วิจารณ์พร้อมที่จะเสนอทัศนะวิจารณ์ของตนต่อสาธารณชน และพร้อมจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนนำเสนอ

การปรับการวิจารณ์ให้เป็นกิจสาธารณะดังกล่าวข้างต้นถือได้ว่าเป็นสิ่งท้าทาย กล่าวคือจะทำอย่างไรให้ผู้เจนจัดในวัฒนธรรมมุขปาฐะยอมรับวัฒนธรรมลายลักษณ์เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของขนบดั้งเดิมของตน เนื่องจากผู้รู้จำนวนมากยังไม่พร้อมที่จะเปลืองตัว และมักถอยร่นกลับไปสู่ขนบมุขปาฐะแบบดั้งเดิม เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วคนไทยไม่ชอบแสดงตัวโดดเด่น หรืออาจเรียกได้ว่า สังคมไทยเดิมนั้นมีพื้นฐานแบบ “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม”

กล่าวคือ ในวงดนตรีไทยนั้น ทางของระนาดทุ้มเป็นทางของผู้เล่นที่ดูเหมือนเป็นมือรอง คือ ให้ ทำนองหลักเป็นของระนาดเอกเสีย โดยระนาดทุ้มจะหลบตัวอยู่เบื้องหลัง เล่นลูกล้อลูกขัด บางครั้งทำตัวเหมือนเป็นจำอวดประจำวง แต่โดยขนบดั้งเดิม ระนาดทุ้มเป็นเครื่องดนตรีของหัวหน้าวง ซึ่งทำหน้าที่วาทยกรไปพร้อมกัน บ่อยครั้งที่ครูเจ้าสำนักมักจะคุมวงจากระนาดทุ้ม

ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ จันทวานิช หนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนา เมื่อวันเสาร์ตั้งใจนำเอาทฤษฎีระนาดทุ้มของอาจารย์เจตนา มาปรับใช้เป็นแว่นวิเศษ มองผ่านการเมืองไทยหลายยุคหลายสมัย ไล่ตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 - ยุคพฤษภาทมิฬ - และ 19 กันยายน 2549 โดยชี้ว่า ผู้ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่การเมืองไทยในยุคต่างๆ ที่กล่าวมา ล้วนอาศัยโครงสร้างอำนาจเชิงซ้อนแบบไทยๆ คล้ายกับบทบาทของระนาดทุ้มกับระนาดเอกเป็นเรื่องของอำนาจกำกับอำนาจ และอำนาจซ้อนอำนาจที่อยู่เบื้องหลังฉากการเมือง

ยกตัวอย่าง การเมืองยุค พ.ศ. 2475 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎร ซึ่งแม้ในเวลานั้นชื่อของ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จะเป็นผู้นำสูงสุด หรือเป็นผู้นำฝ่ายทหารคนสำคัญที่เป็นกำลังหลักในการยึดอำนาจของคณะราษฎร แต่ผู้ที่มีบทบาทในฐานะมันสมองและเปรียบได้กับระนาดทุ้มที่คอยกำกับวง หรือกำกับทิศทางการอภิวัฒน์ทั้งหมดเบื้องหลังกลายเป็น นายปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง

ขณะที่การเมืองยุคพฤษภาทมิฬเป็นรูปแบบของการชิงจังหวะจะโคน อำนาจการเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจมากระหว่าง “ระนาดเอก” กับ “ระนาดทุ้ม” หลายราง โดยเริ่มจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่มี พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าสูงสุด แต่ภายในคณะ รสช. ก็มีโครงสร้างของอำนาจซ้อนอำนาจเช่นกัน เพราะนักสังเกตการณ์การเมืองต่างมองว่า บิ๊กจ๊อด เป็นเพียงระนาดเอกที่รับหน้าออกโรง โดยมี บิ๊กสุ พลเอกสุจินดา คราประยูร และผองเพื่อนเป็นระนาดทุ้มกุมอำนาจกำกับวงอยู่เบื้องหลังอีกชั้น

และหลังการยึดอำนาจ แม้จะมีความพยายามจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีพลเรือน เข้ามาบริหารประเทศชั่วคราว หรือเข้ามาเป็นระนาดเอกบริหารประเทศให้กับคณะ รสช. แต่ความเป็นนักการต่างประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน ก็กลับกลายเป็นระนาดเอกที่ไม่ยอมถูกเบื้องหลังหรือเรียกว่า เป็นระนาดเอกที่พร้อมจะบรรเลงเดี่ยวเสียมากกว่า

ผลก็คือ ผู้ที่เป็นระนาดทุ้มที่อยู่รางหลังเล่นต่อไม่ได้ เลยตัดสินใจที่จะรวบไม้ตีเสียเอง หรือพูดง่ายๆ ตัดสินใจจะทิ้งไม้ระนาดทุ้มแล้วกระโดดมาเล่นระนาดเอกเสียเอง จึงเป็นที่มาของ “การยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ” ประกาศกลืนน้ำลาย รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร แล้วท่านก็ได้เป็นสมใจด้วยสถิติการนั่งเก้าอี้นายกฯ ที่สั้นที่สุดในประเทศเพียง 45 วัน ก่อนวงระนาดจะ “ล่ม” อย่างไม่เหลือชิ้นดี

กงล้อประวัติศาสตร์ แม้หลายครั้งจะหมุนเวียนกลับมาบนเส้นทางเดิม แต่นายเกวียนก็พยายามจะขับไม่ให้ทับรอยเดิมสนิทเสียทีเดียว ดังนั้น ในเหตุการณ์ยึดอำนาจครั้งสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด เมื่อ 19 กันยายน 2549 แม้พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. จะพยายามประกาศผ่านสื่อว่า ท่านคิดก่อการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณกัน กับทหารคนสนิท คือจะตัดปัญหารับบทเป็นระนาดเอกและระนาดทุ้มเสียคนเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เบื้องหลัง 19 กันยายน 2549 ยังมีนายทหารอีกหลายคน ที่เชื่อว่าตนก็มีส่วนร่วม และรอคอยเรียกร้องผลตอบแทนหลังการผลัดอำนาจ

และจนถึงวันนี้ แม้จะมีเพียงแค่ข่าวเรื่องระนาดทุ้มหลายรางเริ่มขยับและ มีท่าทีอยากที่จะกระโดดมาเล่นการเมืองหน้าฉากบ้าง ทั้งรูปแบบการตั้งตนเป็นขั้วอำนาจใหม่ หรืออะไรต่อมิอะไร แต่เชื่อว่า จนถึงนาทีนี้ คงไม่สายเกินไปที่จะต้องรีบสะกิดให้ใครก็ตามที่คิดเช่นนั้น ให้ได้หันกลับไปดูปรากฏการณ์วง “ล่ม” ในยุค รสช. ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตว่า ภายในวันนั้นสภาพบ้านเมืองและสภาพกองทัพกรมกลอง มันน่าอเนจอนาถใจ เพียงใด

เรื่องราวการเปรียบเทียบการเมืองกับรางระนาด ที่ผู้เขียนนำมาเสนอวันนี้ เป็นเพียงจำครูมาเล่า และนำมาเสนอเพียงเพื่อหวังจะก่อประโยชน์ให้ใครได้คิดต่อบ้างไม่มากก็น้อย ผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี่

                                                                  อุษณีย์ เอกอุษณีษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น