xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าปฏิญญาอาเซียนเป็นประชาคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกฯ เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา หวังให้เป็นเวทีเดินหน้าปฏิญญาอาเซียนเป็นประชาคม ตั้งเป้าปี 58 ต้องเป็นประชาคมแห่งการปฏิบัติ การเชื่อมโยงเพื่อประชาชน ยันไทยพร้อมเปิดทาง กมธ.สิทธิมนุษยชนเข้ามาตรวจสอบและเชื่อว่าพม่าต้องฟังเรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะที่ รมว.ต่างประเทศอาเซียนชูปัญหาโรฮิงยาเป็นจุดร่วมแก้ของภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวานนี้ (20 ก.ค.) ที่โรงแรมเชอราตัน ลากูน่า ภูเก็ต นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้การต้อนรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ก่อนที่จะหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ รมว.ต่างประเทศของอาเซียน 10 ประเทศ โดยมี รมว.ต่างประเทศจากประเทศติมอร์ เลสเต้ และ รมว.ต่างประเทศปาปัวนิวกีนี ประเทศผู้สังเกตุการณ์พิเศษเข้าหารือด้วย
นายกษิตกล่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้นำในความพยายามร่วมกัน เพื่อให้ได้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งรู้สึกทราบซึ่งในความเป็นผู้นำ ที่เสียสละ และอุทิศตนตลอดช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การประชุมจะสะท้อนถึงความสำเร็จ ที่ผ่านมาระดับอาเซียนซึ่งบางสิ่งจะต้องมาทบทวนปัญหาที่ท้าทายในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่โลกต้องการการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ที่จะต้องพิจารณาแนวทางสร้างขีดความสามารถ ซึ่งถือเป็นเครื่องทดสอบทั้งผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการเงิน การแพร่ระบาด ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีอาเซียนจะหารือกันใน 2-3 วันนี้ เพราะ 40 ปีที่ผ่านมาอาเซียนไม่เคยเผชิญกับความท้าทายที่กระทบกับทุกภาคส่วน

***ลั่นปี 58 เป็นประชาคมอาเซียน
ต่อมาเวลา 09.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานเปิดงานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน พร้อมปาฐกถาสรุปว่า ขณะที่ประเทศไทยในฐานะเป็นประธานอาเซียน มีเป้าหมายที่เชื่อว่ากำลังเข้าใกล้และบรรลุความตกลงร่วมกัน ที่ต้องการจะทำให้อาเซียนในปี ค.ศ.2015 (พ.ศ. 2558) ก้าวไปข้างหน้าเป็น ประชาคมอาเซียน โดยได้วางเป้าหมายยุทธศาสตร์ไว้ 3 ประการ คือ
ประการแรก ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเดินตามกฎบัตรอาเซียน บนพื้นฐานของกติกามากขึ้น ซึ่งเราได้สร้างกลไกการระงบข้อพิพาทภายใต้กฎบัตร พัฒนาหน่วยงานใหม่ภายใต้อาเซียน รวมถึงคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา และจัดตั้งคณะมนตรีประชาคมต่างๆ โดยมีการผลักดันกระบวนการ สร้างประชาคมภายใต้แผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ควรจะเป็นประชาคมแห่งการปฎิบัติที่แท้จริงจังต่อภัยที่ทุกคามทั้งในและนอกอาเซียน เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในอาเซียน เช่นกรณีการเกิดโรคระบาดอาเซียนได้มีการหารือในการร่วมมือกันป้องกันอย่างเต็มที่จากโรคระบาด
ประการที่สอง เราต้องการเห็นอาเซียนเป็นประชาคมแห่งการเชื่อมโยงและให้ความสำคัญกับประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และประชาชนอาเซียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะเห็นได้จากการประชุมผู้นำอาเซียน ภาคเอกชน เยาวชน รัฐสภาและภาคประชาสังคมที่ ชะอำ จ.เพชรบุรี ขณะที่ด้านการค้า การลงทุน จะสามารถเชื่อมโยงต่อกันได้เป็นตลาดเดีวกันในทุกผลิตภัณฑ์และสินค้าทุกประเภท รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อกันทั้งภูมิภาค รวมทั้งมุ่งไปสู่ วีซ่าเดียวกันทั้งอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในประเทศ และนอกประชาคมได้สะดวกมากยิ่งขึ้นในการเดินทางเข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียน
ประการที่สาม เราจะทำให้อาเซียนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับมือความท้าทายต่าง ๆในภูมิภาคโลก และเราจะดำเนินการแบบ ร่วมทำงานกับมิตรและหุ้นส่วนของเราในประชาคมระหว่างประเทศ
เราตกลงกันว่า จะทำให้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่เป็นพหุภาคี ยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะต่อต้านลัทธิการกีดกันทางการค้า และทำงานกับมิตรประเทศทั้ง กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G 20) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและตอบสนองต่อวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างรวดเร็ว ซึ่งโลกกำลังจับตาเราอย่างใกล้ชิด และคาดหวังให้เราเป็นขั้วผลักดันการเติบโตสำหรับเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตินี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลต่อภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง จากสภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู ขณะที่เราได้เตรียมการเรื่องนี้จากตัวอย่างที่กำลังทำให้กลไกถาวรระบบสำรองในกรอบ อาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) กับในภูมิภาค และจะสร้างความมั่นคงของพลังงาน ขณะที่การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม จัดประชุมสมัยพิเศษ ซึ่งเราจะแสวงหาการ ต่อยอดยกระดับความร่วมมือในการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกัน ที่ประชาชนเข้าถึงได้ อย่างแพร่หลาย โดยร่วมมือกับองค์กรอนามัยโลก

***ก้าวสู่ปฏิบัติ-เชื่อมโยง-เพื่อ ปชช.
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ก่อนการส่งมอบประธานอาเซียนต่อประเทศเวียดนาม ในเดือนธ.ค.นิ้ เราหวังที่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับการบรรลุเป้าหมาย ร่วมของประชาคมอาเซียน เพื่อมุ่งสู่อาเซียนในปี พ.ศ. 2558 แม้ความคิดจะแตกต่างกัน แต่หวังว่าความคิดของเราจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ขณะที่มุมมองของไทย ปี 2558 ควรจะเป็น ประชาคมแห่งการปฏิบัติ ที่สามารถปฏิบิตได้อย่างเด็ดขาดและทันท่วงทีในการรับมือกับภัยคุกคาม และความท้าทายทั้งภายในและนอกที่มีต่อความมั่นคง และความเป้นอยู่ที่ดีต่อสมาชิกและประชาชน ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการพูดปากเปล่า จะต้องแสดงให้โลก เห็นว่าอาเซียนพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทาย และมีความพร้อมที่จะดำเนินการ อย่างเฉียบขาด เช่น หากมีโรคระบาดขนาดใหญ่ทั่วภูมิภาค หน่วยงานด้านสาธารณสุข ต้องมีมาตรการกักกันและตรวจสอบ แลกเปลี่ยนขอ้มูลและผลจากห้องทดลอง ระดมอาสาสมัครและวัคซีนทั่วทั้งภูมิภาคผ่านกระบวนการและความร่วมมือย่างรวดเร็ว และหากมีการร้องขอจากนอกภูมิภาคเราก็มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี 2558 จะต้องเป็น ประชาคมแห่งการติดต่อ เชื่อมโยง ทั้งสินค้าและประชาชน การลงทุนการริเริ่ม ไม่มีอุปสรรคทั้งภูมิภาค การบูรณาการเศรษฐกิจให้เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมจำเป็นที่ต้องมีการติดต่อทั้งโครงสร้างพื้นฐานมีระบบขนสง่มวลชนที่สะดวกต่อการใช้ทั้งแนวเศรษฐกิจตะวันตก ถึงตะวันออก เหนือถึงใต้ เส้นทางเดินเรื่อผานช่องแคบมะละกา ทางอากาศขณะที่ข้อกฎหมายและระเบียบกติกา จะต้องประสานกับระเบียบการขนส่ง การค้าการลงทุน ทำให้ภูมิภาคปราศจากการตรวจตรา มีการตรวจตราร่วมขออาเซียนให้กับผู้มาจากนอกอาเซียน ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างเอเชียใต้ทางตะวันตกของเราและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มที่
ปี 2558 จะต้องเป็นประชาคมของประชาชน  เพื่อสร้างความเท่าเทียม ในการพัฒนาบุคคลทั้งด้านศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเสริมสร้างศักยภาพ ในด้านอื่นๆ ที่ถือเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตของประชาคม

***เชื่อพม่าต้องฟังเรื่องสิทธิมนุษยชน
นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ในฐานะประธานอาเซียนต่อสื่อมวลทั้งในและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยนายกรัฐมนตรี ของไทยระบุว่ายังไม่เห็นร่างรายละเอียดที่มีการหารือกันในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่า แต่เชื่อว่า ในกรอบจะมีข้อกำหนดที่ชัดเจนในวิวัฒนาการ และถ้อยแถลง ทิศทาง แต่เท่าที่ทราบก็ยังกังวล ซึ่งก็ทราบว่า จะมีการทำงานให้ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่ากลไกคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษชยชนที่อาเซียนตั้งขึ้นอาจจะไม่ทำให้พม่า ไม่ให้ความสำคัญ เพราะแม้แต่ยูเอ็นพม่ายังไม่ฟัง นายอภิสิทธิ์ เชื่อว่า พม่าจะสนใจฟัง และเชื่อว่าอาเซียนจะบรรลุสู่เป้าหมายในโรดแมป ที่เป็นข้อเสนอ ที่วางไว้และจะสำเร็จ สำหรับไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับคณะกรรมาธิการ สิทธิมนุษยชนอาเซียน หากมีการจัดตั้งขึ้นมา และไทยก็ได้พยายามติดตามดู ในคดีสำคัญของเราตลอดเวลา เมื่อมีองค์กรนี้เราก็พร้อมที่จะให้เข้ามาประเทศเรา เพราะถือว่าช่วยส่งเสริมสิทธิประชาชนเรา ดังนั้นกรณีของพม่า เราจึงเห็นด้วยตาม ยูเอ็นที่ต้องการจัดตั้งกลไกการส่งเสริม

***อองซานแค่สะท้อนความเห็นชาวโลก
สำหรับคดีของนางอองซานซุจี นั้น นายอภิสิทธิ์ เชื่อว่าทุกระดับ ที่เราทำก่อนหน้านี้จะมีการแลกเปลี่ยนและติดต่อกับพม่า ที่เราจะเรียนรู้ว่าเขาจะทำอะไรอยู่ เพราะประชาชนทั่วโลกก็มีข้อกังวล ซึ่งตรงนี้จะดีกว่าเราไปกีดกัน การประชุม หลายๆ ครั้ง พม่าก็ได้รับการร้องขอให้กล่าวบรรยายสรุปซึ่งสรุปว่า อาจจะปล่อยตัว แต่ก็ต้องเจรจากันต่อโดยชี้ให้เห็นว่าประชาคมโลกรู้สึกอย่างไร ส่วนที่เลขาธิการยูเอ็นผิดหวังที่ไม่ได้พบนางอองซานซูจี นั้นตนเห็นว่าการเยื่อนครั้งนี้ดีกว่าไม่มีการติดต่อเลย
คดีของนางอองซานซูจี เราต้องรอผลการพิจารณาคดี เราไม่สามารถ ไปแทรกแซงได้ อาเซียนทำได้คือสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้พม่าปรับแผน ปรับขั้นตอนไปสู่การเปลี่ยน ไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับ

***แถลงการณ์ร่วม รมว.ตปท.อาเซียน
ต่อมาเวลา 17.45 น. นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศของไทย แถลงผลการประชุมร่วมอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 ว่า ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมโดยเห็นว่า เมื่อเรามีกฎบัตรอาเซียน ที่จะกลายเป็นประชาคมอาเซียน จึงถึงเวลาที่เราจะช่วยเหลือกัน เหมือนกรณีปัญหาพายุไซโคลนกากีสที่พม่า ดังนั้นต่อไปเราจะมุ่งมั่นไปสู่การปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือกันและกันในกลุ่มอาเซียน และกำหนดนโยบายของตัวเอง เพื่อให้กลุ่มอาเซียนมีความแข็งแกร่ง พึ่งพาตัวเอง
ที่ผ่านมาเราช่วยเหลือในระดับอาเซียนในการฟื้นฟูพม่าหลังเกิดภายุไซโคลน นากีส ดังนั้นเราจึงตกลงกันว่าต่อไปจะผลักดันปัญหาเรื่องโรฮิงยาเข้ามาหารือ โดยเลขาธิการอาเซียนได้ขอให้มีการรวบรวมข้อมูล เพื่อช่วยเหลือแบบปัญหาไซโคลน นากีส นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงในสังคมพม่า แผนโรดแมป เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในพม่า โดยเราจะทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผันของอาเซียน"

***กษิตติงสื่อตะวันตกมองโลกแง่ร้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นขอบเขตอำนาจหน้าที่ของทีโออาร์การตั้งคณะกรรมาธิการองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายคนให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยถามว่า เมื่อมีการจัดตั้งองค์กรฯนี้ เหตุใดที่ประชุมอาเซียนจึงไม่เชื่อว่า จะมีแทรกแซงการเมืองของกันและกัน นายกษิต กล่าวว่า ทำไมถึงไม่เชื่อว่าอาเซียน และสมาชิกของแต่ละประเทศจะตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อเข้าสู่กลไกได้ ทีโออาร์เป็นเพียง จุดเริ่มต้นเพื่อคุ้มครองแต่ละประเทศในอาเซียน ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯนี้จะถูกจับตามองทั้งภายในและนอก แม้จะมีข้อกำหนดที่จะทบทวนทุก 5 ปี แต่ก็ถือว่า จะไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาได้ ดังนั้นจะมีการส่งเสริมมากขึ้นในการมีส่วนร่วม
ผู้สื่อข่าวถามว่าทีโออาร์ฉบับนี้ไม่มีบนลงโทษประเทศที่ไม่ดำเนินการตาม นายกษิต กล่าวว่า เหตุใดผู้สื่อข่าวตะวันตกจึงไปมองในแง่ลบอย่างเดียว ตรงนี้เป็นการป้องกันชีวิตที่ดีขึ้น เรามีผู้เชี่ยวชาญระดับสูงกำหนด มาตราที่ผิดพลาดจะมีการตั้งอนุญาโตตุลาการมาประนีประนอม ในประเด็นที่ประนีประนอมไม่สำเร็จ และยิ่งไปกว่านั้นแต่ละประเทศมีกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเป็นการหาข้อสรุปเชิงบวก ทำให้ไม่ต้องไปรอให้องค์กรระดับโลกมาตัดสิน และเราก็ไม่จำเป็นต้องมีบทลงโทษ เราจะขับเคลื่อนไปทางบวก เราไม่ขับเคลื่อนไปทางลบ เราจะต้องทำในลักษณะเคารพซึ่งกันและกัน อย่าไปคิดว่าจะมีการลงโทษ
ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจได้อย่างไรว่าพม่าจะรับรองในการเข้าสู่กระบวนการตั้งองค์การสิทธิมนุษยชนอาเซียน นายกษิต กล่าวว่า เราปราถนาดี และสุขสบายดีกับเรื่องนี้ และรมว.ต่างประเทศพม่าก็ทราบดีว่า ความต้อการของอาเซียนคืออะไร ที่จะผลักดันไปข้างหน้า อาเซียนจะไปข้างหน้าได้ อย่างปัญหาพายุนากีส เราก็ร่วมมือกัน หรือเรื่องคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นประเด็นนี้จึงควรให้เวลาเราบ้าง
ขณะที่ผู้สื่อข่าวอินโดนีเซีย ถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีของไทยรับรองว่า ไทยพร้อมที่จะให้องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนเข้ามาสอบเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมยกตัวอย่างกรณีสิทธิในการห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย นายกษิต ตอบว่า หากปัญหาเรื่องสิทธิมนุษชนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ไทยก็พร้อม ให้มีการสอบสวน ดังนั้นอย่ามีอคติ เพราะรัฐธรรมนูญของไทย เรามีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ดังนั้นอย่าสับสน
ขณะนี้บางกลุ่มในสังคมไทย ที่ต้องการดึงสถาบันลงมา อย่าสับสนและสถาบันมหากษัตริย์ไทยก็ไม่มีการคุ้มครอง เมื่อถูกโจมตี จึงต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้อง คือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพระมหากษัตริย์ไม่สามารถร้องเรียนศาลได้ จึงต้องมีกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครอง เช่นเดียวกับไทยจะคล้ายๆกับหลายประเทศที่มีพระมหากษัติรย์ เหมือนกับสิทธิผู้พิพกาษาที่ต้องธำรงค์บทบาท ดังนั้นขอให้เข้าใจว่า มีบางฝ่ายในสังคมไทยการเมืองไทยที่ต้องการดึงลงมา ผมเห็นวาไม่ถูกต้อง
ส่วนประเด็นปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ ที่จะต้องดำเนินการสหประชาชาตินั้น นายกษิต กล่าวว่า ขอให้รอฟังผู้ร่วมประชุม 5 คนจากเกาหลีเหนือที่จะมาพูดในทุกๆประเด็นในวันที่พฤหัสนี้ ตนไม่สามารถที่จะไปก้าวก่ายได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น