xs
xsm
sm
md
lg

กูรูไทยเสนอเติบโตไปกับจีนดีกว่าคิดแข่ง แนะเส้นทางการค้าใหม่"หนันหนิง-กทม."

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รวมวิทยากร (ซ้าย-ขวา) ผศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.,รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, ดร.สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง จากสำนักงานผู้แทนการค้าไทย, คุณอรสา พิธีกร และ รศ.ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กูรูเรื่องจีนเชื่อมั่น จีนจะเป็นชาติแรกๆ ที่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ และกลายเป็นหัวรถจักรสำคัญจูงเศรษฐกิจโลกฟื้นตาม เสนอแนวคิด "Rise with the Dragon" ผลิตสินค้าป้อนความต้องการจีนมากกว่าขึ้นเวทีต่อกรโดยตรง พร้อมแนะขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่ "หนันหนิง-กรุงเทพฯ" ซึ่งใกล้ "กว่างโจว" ตลาดใหญ่ของไทยมากที่สุดและประหยัดต้นทุน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 มิ.ย.) ทางสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และโครงการจับกระแสจีน (China Watch Program) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดการอภิปรายภายใต้หัวข้อ "จีน-ไทย-อาเซียน ในวิกฤตเศรษฐกิจโลก" ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาฯ งานนี้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องจีนขึ้นเวทีให้ความรู้มากมาย
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ แสดงทัศนะเชื่อมั่นจีนจะกลายเป็นชาติแรกๆ ที่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากตัวแปรต่างๆ ในช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยดร.สมภพได้ให้ข้อมูลว่า "หลายตัวแปรของจีนล้วนมีพลวรรตความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ดังเช่น การที่ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีนี้ของจีนจาก 6.5% เป็น 7.2% ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวขณะที่ทั่วโลกยังซบเซา ยอดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ยอดการซื้อรถยนต์เดือนพฤษภาคม เพิ่ม 34% เป็น 1,120,000 คัน ขณะที่สหรัฐฯ ลดไป 34% เหลือ 920,000 คันในเดือนเดียวกัน และเป็นไปได้ว่ายอดจำหน่ายรถยนต์จีนปีนี้จะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ของโลก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมราคาน้ำมันจึงส่อเค้าดีดตัวสูงขึ้น"

นอกจากทิศทางการฟื้นตัวที่น่าจับตามองแล้ว ดร.สมภพมองว่า กลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศของจีนเป็นสิ่งที่มิอาจมองข้าม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจีนได้อัดฉีดขึ้นเงิน 4 ล้านล้านหยวน (20 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 2 เท่าของจีดีพีไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเงินส่วนใหญ่หลั่งไหลเข้าสู่โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลาย

ดร.สมภพเผยว่า จีนมียุทธศาสตร์ภายในประเทศ ในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของมณฑลต่างๆ สร้างทางหลวงชนบท สร้างทางรถไฟหลายหมื่นกิโลเมตร เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ช่วยให้การเชื่อมต่อทางธุรกิจและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจีนก็มียุทธศาสตร์นอกประเทศร่วมด้วย จากการเปิดเกมรุกสร้างเครือข่ายนอกประเทศแบบ 360 องศา และตลาดหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญก็คือ "ตลาดอาเซียน"

การที่ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนจะทำการค้ากับพี่ใหญ่อย่างจีนนั้น ผศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอแนวคิด "Rise with the Dragon" ขึ้นมา โดยระบุว่า ในปี 2551 จีนมีขนาดเศรษฐกิจ 4.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นแท่นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ไทยมีขนาด 272,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (9.1 ล้านล้านบาท) เป็นอันดับ 35 ของโลก เมื่อพิจารณาจากขนาดทางเศรษฐกิจแล้ว ไทยต้องยอมรับว่า คงยากที่จะแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่างจีน แต่เสนอให้ไทยหันมาหาทางเติบโตไปพร้อมกับจีน ผลิตสินค้าที่จีนต้องการแทน
ผศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไทยมีข้อได้เปรียบหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์ตรงที่มีหลายเส้นทางเชื่อมโยงกับจีน ทั้งทางทะเล ทางแม่น้ำโขง และเส้นทางบก เช่น เส้นทางเชื่อมเมืองคุนหมิง (มณฑลยูนนาน) - พม่า/ลาว - ภาคเหนือของไทย หรือ เส้นทางเชื่อมเมืองหนันหนิง (มณฑลกว่างซี) - ลาว - เวียดนาม - ภาคอีสานของไทย

ซึ่งในระหว่างการตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมฟังการอภิปรายช่วงหนึ่ง ดร.อักษรศรีได้เสนอให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทาง "หนันหนิง-กรุงเทพ" ซึ่งมีระยะทาง 1,769 กิโลเมตร สั้นกว่าเส้นทาง "คุนหมิง-กรุงเทพ" ซึ่งกินระยะทาง 1,887 กิโลเมตร อันจะเป็นการช่วยร่นระยะทางและต้นทุน

"เส้นทางบก "ทางหลวงหนันหนิง-กรุงเทพ" เป็นเส้นทางการค้าสายใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งที่เป็นเส้นทางที่สะดวกและสามารถเชื่อมโยงไปตลาดกว่างตงมณฑลคู่ค้าหลักของไทย ที่ใกล้ที่สุด โดยจะเข้าไทยจากทางภาคอีสาน ซึ่งเราก็พบว่าหนองคายเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสาน น้ำยางข้นของไทยถือว่าเป็นน้ำยางที่ดีมากของโลก หากเราไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าเกี่ยวกับยางที่หนองคาย เส้นทางไปหนันหนิงจะลดเหลือแค่ 1,000 กิโลเมตรเท่านั้น"

ดร.อักษรศรียกตัวอย่างการนำยางพารามาผลิตเป็นสินค้าส่งออกสำคัญว่า "เราพบว่าสิ่งที่จีนต้องการและเรามองข้ามก็คือ ถุงยางอนามัย ไทยนับว่าเป็นผู้ส่งออกถุงยางฯ อันดับ 1 ของโลก โดยที่จีนไม่ใช่คู่แข่งของเราเลย เพราะจีนไม่ใช่ผู้ผลิตแต่เป็นผู้บริโภค นอกจากนั้นไทยยังไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษีการค้า เพราะจีนมีนโยบายลูกคนเดียว จึงไม่เก็บภาษีถุงยางอนามัยเพื่อส่งเสริมการคุมกำเนิด"

"หรือถ้าไม่ทำถุงยางฯ ถุงมือใช้แล้วทิ้งก็กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของจีน เพราะตอนนี้เขาต้องการความสะอาด อีกทั้งถุงมือยางยังเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีปกติ ดังนั้นในปี 2553 ภาษีจะเหลือ 0% ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) จีน-อาเซียนที่ลงนามกันมานาน ดีกว่าส่งออกเป็นยางธรรมชาติอย่างทุกวันนี้ เพราะยางธรรมชาติอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวของข้อตกลงจีน-อาเซียน FTA จะต้องเสียภาษี 20%"

นอกจากนี้การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและพลังงานสะอาดก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการ "จีนไม่ได้ปูพรมแดงรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ทุกโครงการ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ช่วยเขาได้ ก็จะเจออุปสรรคสารพัด ดังนั้นการลงทุนในจีนถ้าเป็นแนวอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้ จะมีโอกาสมากกว่า"

ส่วนเส้นทาง คุนหมิง-กรุงเทพนั้น ดร.อักษรศรีมองว่า จะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อไทยมีท่าเรือน้ำลึก (Deep Seaport) ทางทะเลอันดามัน โดยจีนจะส่งสินค้าจากคุนหมิง มากรุงเทพฯ และออกทะเลทางอันดามัน เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ตลาดยุโรปและอินเดีย เนื่องจากจีนไม่ต้องการไปอ้อมช่องแคบมะละกา โดยปัจจุบันไทยมีท่าเรือน้ำลึกอยู่ไม่กี่แห่ง ซึ่งดร.อักษรศรีตั้งข้อสังเกตุว่า "จีนคงไม่ลงทุนผ่านเมืองไทยเพื่อมาใช้ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพราะจีนเองก็มีท่าเรือทางแปซิฟิกมากมาย"

ทั้งนี้จากข้อมูลการส่งออกอาเซียนไปจีนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าติดลบเฉลี่ย 25% แต่หลังจากจีนอัดฉีดแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้อุตสาหกรรมบางภาคส่วนฟื้นตัว อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ขณะที่ไทยก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยในเดือนเมษายนสินค้าเคมีภัณฑ์ ทองแดง และเครื่องโทรศัพท์ตอบรับที่ส่งไปจีนขยับเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตของอาเซียนรวมทั้งไทยนั้น ล้วนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับอุตสาหกรรมของจีน กล่าวคือ เมื่ออุตสาหกรรมจีนฟื้น จีนก็จะซื้อของไทยมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีโอกาสและข้อได้เปรียบด้านความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค แต่ในขณะนี้ การติดต่อทางเศรษฐกิจกับจีนทั้งด้านการค้าและการลงทุน ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพที่มี โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 14 ของจีนเท่านั้นยังไม่ใช่คู่ค้าหลัก ขณะที่สัดส่วนที่จีนค้าขายกับไทยก็ยังต่ำกว่าที่จีนค้ากับบางประเทศอาเซียน อาทิ มาเลเซีย (อันดับ 9) และสิงคโปร์ (อันดับ 10) ดร.อักษรศรีจึงหวังว่า การนำ รมต.-ภาคเอกชนชุดใหญ่เดินทางไปเยือนจีนครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากจีนได้มาก

และกล่าวเสริมว่า จีนต้องการใช้ไทยเป็นฐานผลิตและส่งออก ซึ่งจะได้อาศัยอานิสงส์จากข้อตกลง FTA ที่ไทยทำไว้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนเผชิญกับปัญหาอาหารปนเปื้อนสารพิษจนภาพลักษณ์เสีย แต่ก็กล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า "ไทยจำเป็นต้องพิจารณาการลงทุนจากจีนอย่างรอบคอบด้วย เพราะบางอุตสาหกรรมของจีนก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ ทางการปักกิ่งเขาก็จะกีดกัน หากไทยรับเข้ามาก็จะกลายเป็นทำลายภาพลักษณ์ของไทยแทน"
บรรยากาศในห้องอภิปราย

กำลังโหลดความคิดเห็น