xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.จีน-ไทยจัดFocus Groupกันยายน ถกแนวทางใช้เงินท้องถิ่นในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – แบงก์ชาติไทย-จีน เตรียมจัดเวที Focus Group แนวทางการใช้ “เงินสกุลท้องถิ่น” ในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจกันยายนนี้ หลังจีน เปิดช่องให้เขตกว่างซี-หยุนหนัน นำร่องใช้เงินหยวนค้ากับอาเซียน และกวางตุ้ง ค้ากับฮ่องกง-มาเก๊า ขณะที่การค้าไทย-จีน ผ่านพรมแดนภาคเหนือมูลค่ากว่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีกลาย ล้วนชำระกันนอกระบบทั้งสิ้น

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 2/2552 ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่(ธปท.สภน.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการหารือถึงทิศทางการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย พม่า ลาว จีน) เพื่อขยายโอกาสทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น หลังจากในการประชุม คสศ.-หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีมติเสนอให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน นำประเด็นดังกล่าวเสนอต่อเวทีเจรจา-ประชุม ทั้งในและต่างประเทศ ในกลุ่มสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือเวทีระดับ GMS

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภน.จ.เชียงใหม่ ให้รายละเอียดว่า ธปท.ได้หารือกับแบงก์ชาติจีน (People Bank Of China-PBC) มาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2547-48 เป็นต้นมา และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2551 เพื่อหาแนวทางในการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คือ บาท-หยวน ในการค้าระหว่างกัน

ขณะที่นายสุรพันธ์ บุญย์มานพ กงสุลใหญ่ไทย ประจำนครคุนหมิง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า จีน ได้อนุมัติให้มณฑลที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ หยุนหนัน และมณฑลของชนกลุ่มน้อยจ้วง กว่างซี ทำการค้าชายแดนโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่นของตนเองแล้ว ขณะที่ทางการไทยก็กำลังศึกษาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประมาณการค้า และผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ

ด้านนายประสพสุข พ่วงสาคร ผู้อำนวยการ ธปท.สภน.จ.เชียงใหม่ กล่าวในที่ประชุม คสศ.-หอ 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 2/2552 ว่า ในปี 2551 การค้าระหว่างไทยกับมณฑลหยุนหนัน มีมูลค่ามากถึง 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ผ่านระบบแบงก์ เป็นการใช้เงินหยวนที่แลกเปลี่ยนนอกระบบมาซื้อขายระหว่างกัน

ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมารัฐบาลกลางจีน ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการนำร่องใช้เงินหยวนทำการค้ากับอาเซียน โดยให้เขตปกครองตนเองจ้วง กว่างซี และหยุนหนัน เป็นจุดทดลองกับกลุ่มอาเซียน และกวางตุ้ง - เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจแม่น้ำฉางเนีย กับฮ่องกง และมาเก๊า

ขณะเดียวกันรัฐบาลกลางของจี เองก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับค่าเงินหยวน ที่ปัจจุบันเริ่มแข็งค่าขึ้น โดยทางการจีนเองก็ไม่ต้องการให้เงินหยวนออกไปอยู่ในตลาดโลกมากนัก เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าเงิน ทำให้นโยบายการใช้เงินสกุลท้องถิ่นยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลดี ผลเสีย ตลอดจนระดับความเหมาะสมอยู่

ธปท.สภน.กับPBCคุนหมิง ก็มีการหารือในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ล่าสุดเมื่อปี 2551 ทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาปัญหา อุปสรรคในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นขึ้นมา รวมถึงทำโมเดลการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าว่า ทำอย่างไร ก่อนที่จะสรุปผลเสนอต่อหน่วยเหนือพิจารณาตัดสินใจต่อไป

ทั้งนี้ ได้ตกลงกันว่า ในเดือนกันยายน 2552 ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางของจีน จะจัดเวที Focus Group ขึ้นเพื่อพุดคุยกันในเรื่องนี้ โดยจะเชิญแบงก์พาณิชย์ของจีน และไทยเข้าร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ ระดับความเหมาะสมในการเปิดให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างกันก่อนที่จะนำเสนอต่อระดับนโยบาย

“เท่าที่ประเมินดูจีน เองก็ไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยให้มีการแลกเปลี่ยนเงินหยวนในหลายตลาด ไม่ว่าจะเป็นผ่านแบงก์ โพยก๊วน ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันจีนเองก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เงินหยวนออกไปอยู่นอกประเทศมากนัก เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าเงินหยวนในภาพรวม แนวทางที่เป็นไปได้ก็คือ ในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาให้มีการใช้เงินหยวนในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจในระดับที่พอควบคุมได้”

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการสามารถโค้ดในอินวอยซ์เป็นเงินหยวนได้ ก็จะสามารถลดภาระในการแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่นหลายครั้ง เพื่อความสะดวกในการค้าระหว่างไทย กับจีนตอนใต้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น