xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วัฒนธรรม-การท่องเที่ยวสองแคว วันนี้เป็นเพียงกระท่อมน้อยปลายนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอาคม ตรีเจริญ ปลัด อบจ. แจงโครงการยังไม่เสร็จสมบูรณ์
พิษณุโลก – ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสี่แยกอินโดจีนเมืองสองแคว วันนี้ ยังเป็นเพียงกระท่อมน้อยปลายนา ที่ไร้กิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น แม้การก่อสร้างสิ้นสุดตามสัญญามาได้เกือบ 1 ปีแล้วก็ตาม ขณะที่ อบจ.สองแคว ยืนยันทุ่มงบต่อ เตรียมวางเงินอีก 45 ล้านพัฒนากระท่อมน้อย ขณะที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้แค่มอง แต่ไม่สามารถใช้งานได้ มีเพียงยามนอนเฝ้ากับภารกิจหลัก ชี้ทางปลดทุกข์ฉุกเฉินแก่นักท่องเที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้า โครงการก่อสร้างศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสี่แยกอินโดจีน จ.พิษณุโลก ที่สร้างขึ้นในสมัยผู้ว่าฯ-นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด( อบจ.)คนเดิม ซึ่งทุ่มงบประมาณถึง 10 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าถมดิน 5 ล้านบาท ค่าก่อสร้างอาคาร 4,798,000 บาท สร้างขึ้น และมีสัญญาแล้วเสร็จตั้งแต่ 13 กันยายน 2551 ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น มีเพียงอาคารว่างเปล่าจำนวน 5-6 หลัง ด้านตะวันตกของสี่แยกอินโดจีน ที่ดูเหมือนว่าจะแล้วเสร็จ

ล่าสุด ประชาชนและนักท่องเที่ยวยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวได้ ทั้งยังไม่มีป้ายบอกว่า เกิดอะไรขึ้น จะเปิดให้บริการเมื่อใด พบเห็นเพียงป้ายบอกงานโครงการก่อสร้างเก่าๆที่ล้มลง ซุกซ่อนอยู่ พร้อมกับแก้ไขตัวเลข วันที่ในสัญญาออกไปเป็นปี 2555

นายธรรมเนียม ต่ำทอง รปภ.ซึ่งทำหน้าที่ยามเฝ้าประจำสี่แยกฯ พร้อมกับเพื่อนอีก 1 คน ชาว อ.นครไทย จ.พิษณุโลกเช่นกัน เล่าว่า เพิ่งย้ายมาจากหนองคาย เพื่อกลับมาอยู่ใกล้ๆบ้าน ก็ทำงานเป็นยามเหมือนเดิม เงินเดือนๆละ 4,500 บาท พออยู่ได้ ก็ดีที่บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวก็หุงหาง่ายๆ อาศัยอยู่ภายโครงการ นอนอยู่อาคารรวม 6 ห้อง ที่เปิดใช้ 3 ห้อง กับเพื่อนคู่หู ทำให้ไม่เหงานัก มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สิน ปรามไม่ให้เป็นที่ซ่องสุมของวัยรุ่น งานหลักๆ ก็ไม่มีอะไรมาก กลางวันเฝ้า กลางคืนอยู่พร้อมกับมีสายตรวจ รปภ.อบจ.พิษณุโลก แวะมาดูแลต่อ
จุดตัดของสี่แยกอินโดจีน ที่มีป้ายแจงระยะทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ
“ทุกวันจะมีคนถามว่า โครงการอะไร ช่วงกลางคืนมักมีนักท่องเที่ยวแวะลงจากรถเป็นประจำ เพื่อติดต่อขออนุญาต ใช้ห้องน้ำ ผมก็เห็นใจ และสงสารคนต้องการปลดทุกข์แบบฉุกเฉิน จึงบอกเขาใช้ห้องน้ำ แล้วทำ ความสะอาดและปิดไฟให้ด้วยเท่านั้น”

นายอาคม ตรีเจริญ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสี่แยกอินโดจีน ที่เห็นนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์จะต้องรองบในระยะที่ 2 กล่าวคือ จะมีการก่อสร้างและต่อเติมอาคารด้านเหนืออีก จากงบประมาณตั้งไว้ปีละ 5 ล้านบาท ในปี 53-54-55 รวมเป็น15 ล้านบาท และจากงบพัฒนาสี่แยกอินโดจีนอีกปีละ 10 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 53-54-55 รวมเป็น 30 ล้านบาทในการวางระบบสาธารณูปโภค

เขาบอกว่า ช่วงนี้จึงได้จ้าง รปภ.เฝ้าดูแลอาคารทั้ง 6 ชาติไปก่อน เพื่อป้องกันการมั่วสุมของวัยรุ่น คาดว่า ก่อนปี2553 จะสามารถเริ่มดำเนินการในเฟส 2 พร้อมกับติดตั้งป้ายอักษรไฟวิ่งด้วย

อย่างไรก็ตามแผนการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน อบจ.พิษณุโลก เป็นผู้ดูแล ยังไม่มีแผนโอนไปให้หน่วยงานอื่นหรือจังหวัดดูแล ขณะที่นายสุรินทน์ ฐิติปุญญา นายกอบจ.พิษณุโลกตั้งใจทุ่มงบประมาณจำนวนมาก เพื่อให้เห็นผล พร้อมกับหนุนการพัฒนาบึงราชนกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง

สี่แยกอินโดจีน!ยังเลือนรางที่พิษณุโลก
นายธรรมเนียม ต่ำทอง ยามรักษาความปลอดภัย
หากขับรถตามถนนเลี่ยงเมืองพิษณุโลกไปประมาณ 10 กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จะพบกับสี่แยก ที่มีป้ายพื้นสีน้ำเงิน ตัวอักษรสีขาว โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ตามมุมทางเลี้ยวต่างๆ ว่านี่คือ

“สี่แยกอินโดจีน”

เป็นป้ายบอกทางว่า จากจุดนี้สามารถเดินทางขึ้นเหนือถึงนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ของจีน ลงใต้ถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ไปทางตะวันออก ได้ถึงท่าเรือด่าหนัง เวียดนาม และทางตะวันตก ถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า

ในเชิงภูมิศาสตร์ ณ จุดที่ตั้งของสี่แยกนี้ถือเป็นศูนย์กลางของ East–West Economic Corridor และ North-South Economic Corridor ที่ในเชิงทฤษฎีแล้วสามารถเดินทางตามถนนไปได้ถึงนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนันหรือมณฑลอื่น ๆของ จีน ตลอดจนมาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม เชื่อมต่อไปถึงพม่า บังกลาเทศ อินเดีย และไกลได้ถึงยุโรป

สี่แยกนี้ จึงเป็นได้ทั้งจุดพักของรถ และคน

ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ ยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด หรือพัฒนาภาคเหนือ หลายฉบับล้วนระบุไว้ถึงการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน ด้วยการผลักดันให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า จุดขนถ่ายสินค้า และบริการ

แต่มาถึงวันนี้ โครงการต่างๆ มีเพียงป้ายบอกทางเท่านั้น ที่ปรากฏให้คนจับต้องได้

นักธุรกิจพิษณุโลกหลายคนบอกเหมือนกันว่า ทุกวันนี้มีแต่พูดอย่างเดียว รัฐยังไม่มีแผนงาน ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ ไม่มีงบดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้จังหวัดพิษณุโลก เป็น“สี่แยกอินโดจีน” อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น