xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ฝันเร่งเดินหน้า ดันปฏิญญาอาเซียนเป็นพหุภาคี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายกฯ อภิสิทธิ์ ร่วมเวทีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ลั่นเดินหน้าปฏิญญาอาเซียนเป็นพหุภาคี ชี้รัฐมนตรีอาเซียนถกสิ่งท้าทายที่ไม่เคยเกิดร่วมกันมาใน 40 ปี ยัน ปี 58 จะก้าวไปข้างหน้าเป็น “ประชาคมอาเซียน” เชื่ออาเซียนต้อง “ปฏิบัติ-เชื่อมโยง-เพื่อประชาชน” พร้อมให้ กมธ.สิทธิฯ อาเซียน ดูความโปร่งใสในประเทศ ส่วนคดี “อองซาน” อ้างอาเซียนมีหน้าที่เพียงสะท้อนความคิดเห็นต่อประชาคมโลก

วันนี้ (20 ก.ค.) ที่จังหวัดภูเก็ต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางเพื่อมาร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42 และให้สัมภาษณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯว่า เตรียมนำผลประเมินจากการประชุมในครั้งนี้ใช้ในการประชุมอาเซียนซัมมิทต่อไป และเชื่อมั่นว่าในการดูแลความปลอดภัยในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าที่โรงแรมเชอราตัน ลากูน่า ภูเก็ต นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ รมว.ต่างประเทศของอาเซียน 10 ประเทศ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศติมอร์ เลสเต และรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศปาปัวนิวกีนี ประเทศผู้สังเกตการณ์พิเศษได้เข้าหารือด้วย

นายกษิตกล่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้นำในความพยายามร่วมกันเพื่อให้ได้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งรู้สึกซาบซึ้งในความเป็นผู้นำที่เสียสละ และอุทิศตนตลอดช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การประชุมจะสะท้อนถึงความสำเร็จที่ผ่านมาระดับอาเซียน ซึ่งบางสิ่งจะต้องมาทบทวนปัญหาที่ท้าทายในยุคโลกาภิวัฒน์ที่โลกที่ต้องการการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ที่จะต้องพิจารณาแนวทางสร้างขีดความสามารถ ซึ่งถือเป็นเครื่องทดสอบทั้งผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการเงิน การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีอาเซียนจะหารือกันใน 2-3 วันนี้ เพราะ 40 ปีที่ผ่านมาอาเซียนไม่เคยเผชิญกับความท้าทายที่กระทบกับทุกภาคส่วน

ต่อมาเวลา 09.30 น. นายอภิสิทธิ์ปาฐกถาระหว่างเปิดการประชุมว่า ขอต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนสู่จังหวัดภูเก็ตซึ่งถือเป็น “ไข่มุกแห่งอันดามัน” ที่เป็นเมืองเหมืองแร่มาก่อนและได้เกิดสึนามิเมื่อปี 2547 แต่ขณะนี้ได้กลับสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอันโด่งดังของโลก เป็นเมืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างสง่างามอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ขณะที่ประเทศไทยในฐานะเป็นประธานอาเซียน มีเป้าหมายที่เชื่อว่ากำลังเข้าใกล้และบรรลุความตกลงร่วมกัน ที่ต้องการจะทำให้อาเซียนในปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) ก้าวไปข้างหน้าเป็น “ประชาคมอาเซียน” โดยได้วางเป้าหมายยุทธศาสตร์ไว้ 3 ประการ คือ ประการแรก ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเดินตามกฎบัตรอาเซียน บนพื้นฐานของกติกามากขึ้น ซึ่งเราได้สร้างกลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้กฎบัตร พัฒนาหน่วยงานใหม่ภายใต้อาเซียน รวมถึงคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา และจัดตั้งคณะมนตรีประชาคมต่างๆ โดยมีการผลักดันกระบวนการสร้างประชาคมภายใต้แผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน

“ควรจะเป็นประชาคมแห่งการปฎิบัติที่แท้จริงจังต่อภัยที่คุกคามทั้งในและนอกอาเซียน เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในอาเซียน เช่น กรณีการเกิดโรคระบาดอาเซียนได้มีการหารือในการร่วมมือกันป้องกันอย่างเต็มที่จากโรคระบาด” นายอภิสิทธิ์ ระบุ

ประการที่ 2 เราต้องการเห็นอาเซียนเป็นประชาคมแห่งการเชื่อมโยงและให้ความสำคัญกับประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และประชาชนอาเซียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะเห็นได้จากการประชุมผู้นำอาเซียน ภาคเอกชน เยาวชน รัฐสภาและภาคประชาสังคมที่ ชะอำ จ.เพชรบุรี ขณะที่ด้านการค้า การลงทุน จะสามารถเชื่อมโยงต่อกันได้เป็นตลาดเดียวกันในทุกผลิตภัณฑ์และสินค้าทุกประเภท รวมถึงกฎระเบียบต่างๆที่เอื้อต่อกันทั้งภูมิภาค รวมทั้งมุ่งไปสู่วีซ่าเดียวกันทั้งอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในประเทศ และนอกประชาคมได้สะดวกมากยิ่งขึ้นในการเดินทางเข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียน

ประการที่ 3 เราจะทำให้อาเซียนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับมือความท้าทายต่างๆ ในภูมิภาคโลก และเราจะดำเนินการแบบ ร่วมทำงานกับมิตรและหุ้นส่วนของเราในประชาคมระหว่างประเทศ

“เราตกลงกันว่า จะทำให้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่เป็นพหุภาคี ยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะต่อต้านลัทธิการกีดกันทางการค้า และทำงานกับมิตรประเทศทั้ง กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและตอบสนองต่อวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งโลกกำลังจับตาเราอย่างใกล้ชิด และคาดหวังให้เราเป็นขั้วผลักดันการเติบโตสำหรับเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตินี้”

ขณะนี้มีการคาดการณ์ถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลต่อภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง จากสภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู ขณะที่เราได้เตรียมการเรื่องนี้จากตัวอย่างที่กำบังทำให้กลไกถาวรระบบสำรองในกรอบอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) กับในภูมิภาค และจะสร้างความมั่นคงของพลังงาน ขณะที่การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) จัดประชุมสมัยพิเศษ ซึ่งเราจะแสวงหาการต่อยอดยกระดับความร่วมมือในการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันฯที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย โดยร่วมมือกับองค์กรอนามัยโลก

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ก่อนการส่งมอบประธานอาเซียนต่อประเทศเวียดนามในเดือนธันวาคมนิ้ เราหวังที่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับการบรรลุเป้าหมายร่วมของประชาคมอาเซียน เพื่อมุ่งสู่อาเซียนในปี พ.ศ.2558 แม้ความคิดจะแตกต่างกัน แต่หวังว่าความคิดของเราจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ขณะที่มุมมองของไทย ปี 2558 ควรจะเป็น “ประชาคมแห่งการปฏิบัติ” ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเด็ดขาดและทันท่วงทีในการรับมือกับภัยคุกคาม และความท้าทายทั้งภายในและนอกที่มีต่อความมั่นคง และความเป้นอยู่ที่ดีต่อสมาชิกและประชาชน ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการพูดปากเปล่า จะต้องแสดงให้โลกเห็นว่า “อาเซียนพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทาย และมีความพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเฉียบขาด” เช่น หากมีโรคระบาดขนาดใหญ่ทั่วภูมิภาค หน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องมีมาตรการกักกันและตรวจสอบ แลกเปลี่ยนข้อมูลและผลจากห้องทดลอง ระดมอาสาสมัครและวัคซีนทั่วทั้งภูมิภาคผ่านกระบวนการและความร่วมมือย่างรวดเร็ว และหากมีการร้องขอจากนอกภูมิภาคเราก็มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ

ปี 2558 จะต้องเป็น “ประชาคมแห่งการติดต่อเชื่อมโยง” ทั้งสินค้าและประชาชน การลงทุนการริเริ่ม ไม่มีอุปสรรคทั้งภูมิภาค จะเป็นสุมาตราถึงลูซอน หรือ ปากแม่น้ำอิระวดีถึงปากแม่น้ำโขง การบูรณาการเศรษฐกิจให้เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมจำเป็นที่ต้องมีการติดต่อทั้งโครงสร้างพื้นฐานมีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกต่อการใช้ทั้งแนวเศรษฐกิจตะวันตกถึงตะวันออก เหนือถึงใต้ เส้นทางเดินเรื่อผ่านช่องแคบมะละกา ทางอากาศขณะที่ข้อกฎหมายและระเบียบกติกา จะต้องประสานกับระเบียบการขนส่ง การค้าการลงทุน ทำให้ภูมิภาคปราศจากการตรวจตรา มีการตรวจตราร่วมขออาเซียนให้กับผู้มาจากนอกอาเซียน ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างเอเชียใต้ทางตะวันตกของเราและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มที่

ปี 2558 จะต้องเป็น “ประชาคมของประชาชน” เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาบุคคลทั้งด้านศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเสริมสร้างศักยภาพในด้านอื่น ๆที่ถือเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตของประชาคม

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ในฐานะประธานอาเซียน ต่อสื่อมวลชนต่างประเทศและไทย โดยส่วนใหญ่สอบถามถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยสรุปว่ายังไม่เห็นร่างละเอียดที่จะมีการหารือในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าในกรอบจะมีข้อกำหนดที่ชัดเจน ในวิวัฒนาการ และถ้อยแถลง ทิศทาง แต่เท่าที่ทราบก็กังวล ซึ่งก็ทราบว่าจะมีการทำงานให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้กลไกสิทธิมนุษยชนที่อาเซียนตั้งขึ้นจะไม่ทำให้พม่าให้ความสำคัญกับอาเซียน เพราะพม่าก็ไม่ฟังยูเอ็น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พม่าจะสนใจฟัง และเชื่อว่าอาเซียนจะบรรลุสู่เป้าหมายในโรดแมป ที่เป็นข้อเสนอที่วางไว้และจะสำเร็จ

ขณะเดียวกัน ไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน หากมีการจัดตั้งขึ้นมา และไทยก็ได้พยายามติดตามดูในคดีสำคัญของเราตลอดเวลา เมื่อมีองค์กรนี้เราก็พร้อมที่จะให้เข้ามาประเทศเรา เพราะถือว่าช่วยส่งเสริมสิทธิประชาชนเรา ดังนั้น กรณีของพม่า เราจึงเห็นด้วยตามสหประชาชาติ ที่ต้องการจัดตั้งกลไกการส่งเสริม

ส่วนกรณีคดีของนางอองซานซูจี มีการหารือหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ระบุว่า ตนเพิ่งมาพิธีเปิดงาน แต่เชื่อว่าทุกระดับที่เราทำก่อนหน้านี้ จะมีการแลกเปลี่ยนและติดต่อกับพม่า ที่เราจะเรียนรู้ว่าเขาจะทำอะไรอยู่ เพราะประชาชนทั่วโลกก็มีข้อกังวลอย่างไร ตรงนี้จะดีกว่าเราไปกีดกัน การประชุมหลายๆครั้ง พม่าก็ได้รับการร้องขอให้กล่าวบรรยายสรุป แต่ก็สรุปว่าอาจจะปล่อยตัว แต่ตรงนี้เราก็จะเจรากันต่อว่าประชาคมโลกรู้สึกอย่างไรจะดีกว่า ส่วนกรณีที่เลขาธิการสหประชาชาติผิดหวังกับการไม่ได้พบนางอองซานซูจี ก็ถือว่าเป็นการเยือนครั้งนี้ดีกว่าไม่มีการติดต่อเลย

ส่วนการดำเนินคดีกับนางอองซานซูจีนั้น ตนไม่สามารถคาดการณ์ผลของการพิจารณาคดีที่อยู่ในพม่าได้ เราต้องรอผลการพิจารณาดี ดูความเป็นไปได้ เพราะเราไม่สามารถแทรกแซง เราจะดูทางเลือก และดูผลพิจารณาคดีในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่อาเซียนต้องทำต่อ คือ สะท้อนความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้พม่าปรับแผน ปรับขั้นตอนไปสู่การเปลี่ยนภาคไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับ















กำลังโหลดความคิดเห็น