xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีVSไทยเข้มแข็ง เปิดศึกดึงเงินฝาก รับ"บอนด์"ฟีเวอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – บลจ.โหมโรง "พันธบัตรกิมจิ" ปะทะ "พันธบัตรไทยเข้มแข็ง" ชูทางเลือกลงทุนสั้นๆ ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี ด้วยผลตอบแทน 2-3% ต่อปี เผยแม้คนแห่ซื้อบอนด์ไทยเข้มแข็ง แต่ยังขายดีไม่หยุด ระบุลูกค้าเป้าหมายคนละกลุ่ม ล่าสุด พบกองทุนกิมจิทั้งอุตสาหกรรม โตเกิน 3 แสนล้าน ชี้หากครบอายุ กลับมาช่วยชาติได้สบาย

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเปิดขายกองทุนของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากว่ากลุ่มนักลงทุนนั้นเป็นคนละกลุ่มกัน นอกจากนี้ ความชอบในการลงทุนของนักลงทุนก็มีความแตกต่างกันด้วย

ล่าสุด บริษัทเปิดขายกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส เพิ่มขึ้นอีก 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 21/09 (BP21/09) กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 2209 (BP22/09) และกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 23/09 (BP23/09) ซึ่งเริ่มเปิดขายแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 กรกฎาคม 2552 นี้ โดย 3 กองทุนดังกล่าว จะลงทุนในพันธบัตรของประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 21/09 มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท อายุประมาณ 6 เดือน ส่วนกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 22/09 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท อายุประมาณ 12 เดือน และกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 23/09 มีอายุประมาณ 24 เดือน ขนาดโครงการ 1,500 ล้านบาท โดยทั้ง 3 กองทุนดังกล่าวเหมาะสมกับเงินลงทุนส่วนที่ต้องการความมั่นคง และความเสี่ยงต่ำ เพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน โดยไม่ต้องไปลงทุนในหุ้น ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ที่ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วยลงทุน

โดยทั้ง 3 กองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้เกาหลีใต้มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (Foreign Investment Fund) โดยเน้นลงทุนในตราสารภาครัฐต่างประเทศ หรือตราสารที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินต่างประเทศซึ่งผู้ออกหรือตราสารได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตั้งแต่ A- ขึ้นไป ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives contract) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ในอัตรา

นายวศิน กล่าวว่า จากการที่บริษัทเปิดขายกองทุนดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันยังคงได้รับการตอบเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบันกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของเงินฝากธนาคาร จะเห็นได้ว่า 2 กองทุนที่ได้เปิดขายไปก่อนหน้านี้ ก็สามารถปิดยอดจองซื้อหน่วยลงทุนจากผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก เป็นผลทำให้ขนาดกองทุนที่ออกเสนอขายเต็มจำนวนแล้ว

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ บลจ.นครหลวงไทย กล่าวว่า บริษัทเตรียมเสนอขายกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้อีก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเอสซีไอ ตราสารหนี้ต่างประเทศ จีไอ 12M14/09 (SCIINGI12M14/09) มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท อายุประมาณ 12 เดือน คาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนประมาณ 2.90% ต่อปี และกองทุนเปิดเอสซีไอ ตราสารหนี้ต่างประเทศ จีไอ 6M10/09 (SCI INGI6M10/09) มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท อายุประมาณ 6 เดือน คาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนประมาณ 2.50% ต่อปี โดยได้เปิดขายขาย พร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 15 - 21 กรกฎาคม 2552 นี้ และมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำ 2,000 บาท

สำหรับกองทุน SCIINGI12M14/09 จะเน้นลงทุนในพันธบัตรเกาหลี รุ่น Korea Monetary Stabilization Bond และ Korea Treasury Bond ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร F-1 จากสถาบัน Fitch Rating และบริษัทจะทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเป็นรายไตรมาส รวมจำนวน ไม่เกิน 4 ครั้ง โดย (ครั้งสุดท้าย) ผู้ลงทุนมีโอกาสจะได้รับเงินค่าขายคืนอัตโนมัติพร้อมกับเงินต้นตามมูลค่าที่ตราไว้

ส่วนกองทุน SCI INGI6M10/09 จะเน้นลงทุนในพันธบัตรเกาหลี รุ่น Korea Monetary Stabilization Bond และ Korea Treasury Bond ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร AA จากสถาบัน Fitch Rating และจะได้รับผลตอบแทนพร้อมเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุกองทุนประมาณการสัดส่วนการลงทุนของทั้ง 2 กองทุน ลงทุนในสัดส่วนประมาณ 100% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยมีการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดายังไม่ต้องรับภาระเรื่องภาษีจากผลตอบแทน

นายธีรพันธุ์ กล่าวว่า แนวโน้มภาวะตลาดอัตราผลตอบแทนในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน มีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาประมาณ 0.30-0.40% เนื่องจากมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในพันธบัตร และตราสารธนาคารแห่งชาติเกาหลีใต้มากขึ้น ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่มีนักลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรปก็เข้าไปลงทุนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กองทุนเปิด SCIINGI12M14/09 และ SCI INGI6M10/09 ก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่คาดหวังโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาลในประเทศซึ่งมีอายุตราสารใกล้เคียงกัน เพื่อครอบคลุมทั้งการลงทุนระยะสั้น ซึ่งไม่เกิน 1 ปี และระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

ด้านรายงานจาก บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทเปิดขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ฟอร์เรน โนท 6M20 (SCBFRN6M20) มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 6 เดือน เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้ คาดว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนประมาณ 2.50%ต่อปี โดยได้เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งแรก และครั้งเดียวตั้งแต่วันนี้ – 21 กรกฎาคม 2552 และมีเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท

**บอนด์กิจิโต3แสนล้าน**

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา หลังจากพบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะออกโดยรัฐบาล (พันธบัตรรัฐบาล) หรือตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศเกาหลี และตราสารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ อยู่ในระดับที่น่าสนใจ และสูงกว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศและเงินฝาก แม้ว่าจะมีต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ซึ่งจากความน่าสนใจดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนรวมเกาหลีใต้ มีมูลค่าเงินลงทุนรวมพุ่งเกิน 3 แสนล้านบาทไปแล้ว

โดยจากการรายงานตัวเลขเงินลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2552 พบว่า มีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 366,047.17 ล้านบาท

"ด้วยระดับความเสี่ยงที่ไม่มาก เพราะเกาหลีใต้ ถือเป็นประเทศที่มีทุนสำรองในอัตราที่สูง เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และคลายความกังวลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประกอบกับผลตอบแทนที่น่าสนใจ จึงทำให้มีกองทุนที่ออกไปลงทุนในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว"

อย่างไรก็ตาม กองทุนที่ออกไปลงทุนในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ เป็นเงินลงทุนระยะสั้น ตั้งแต่ 3 เดือนก็มี 6 เดือนก็มี หรืออาจจะยาวขึ้นเป็น 1 ถึง 2 ปี ซึ่งเงินเหล่านี้ ล็อกเอาไว้ตามอายุของกองทุน บางส่วนมีการลงทุนต่อในลักษณะของการโรลโอเวอร์ คือ หลังจากครบอายุแต่ละรอบแล้ว ก็จะมีการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ตามรอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่กองทุนกิมจิ ที่เสนอขายกันในช่วงกลางปี 2551 กำลังจะทยอยครบอายุ ซึ่งเงินที่ครบรอบการลงทุนเหล่านี้ บางส่วนมีการลงทุนต่อในกองทุนใหม่ ที่บรรดาบริษัทจัดการกองทุน ส่งออกมาเพื่อชดเชยกองเก่าที่ทยอยครบอายุอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนหน้าใหม่ ที่เข้ามาแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะฐานลูกค้าเงินฝาก จึงทำให้เงินลงทุนรวมในกองทุนกิมจิ ยังคงที่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งมูลค่า 50,000 ล้านบาทของรัฐบาล น่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการออมให้กับผู้ออมได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าระยะเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างยาวถึง 5 ปี แต่การนำเงินของประชาชนในประเทศ มาช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจให้กับประเทศ น่าจะช่วยลดภาระการก่อหนี้ของรัฐบาลได้ไม่น้อย

"ขณะนี้ ช่องทางการออมเงินในประเทศ มีทางเลือกเพิ่มขึ้นแล้ว ซึ่งทางเลือกนี้เองก็ให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ ความเสี่ยงไม่มาก ที่สำคัญ เป็นการเปิดโอกาสให้เรา มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยเงินของเราเอง โดยไม่ต้องเป็นว่าในอนาคต ภาระหนี้จะตกทอดไปถึงลูก ถึงหลาน ในทางกลับกัน เงินลงทุนในพันธบัตรเหล่านี้ สามารถส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกให้หลานได้เช่นกัน"
กำลังโหลดความคิดเห็น