xs
xsm
sm
md
lg

ยอดว่างงานกระฉูดในสหรัฐฯยังยากที่จะแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกาพุ่งแตะระดับ 9.5% ในเดือนมิถุนายน 2009 จากที่เคยอยู่ ณ ระดับเพียง 3.6% ในเดือนตุลาคม 2000 และ 4.1% ในเดือนตุลาคม 2006 ในการนี้ สิ่งที่น่างุนงงมากที่สุดคือความล้มเหลวของนโยบายการเงินเชิงรุกของท่านประธานเบน เบอร์นันกี แห่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งสู้อุตส่าห์เข็นนโยบายออกมาใช้สร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน ดังที่เจ้าตัวให้สัญญากับประชาชนในทุกครั้งที่ประกาศหั่นลดดอกเบี้ยลง

ยิ่งเบอร์นันกีหั่นดอกเบี้ยต่ำลงมากเท่าไร และยิ่งไปขยายงบดุลของเฟดมากขึ้นเท่าไร การว่างงานก็ยิ่งพุ่งทะยานสูงมากขึ้นเท่านั้น การว่างงานนับวันแต่จะทวีตัวแม้อัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์สเรตซึ่งเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงของระบบเศรษฐกิจ ถูกตัดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะศูนย์จุดศูนย์ศูนย์เปอร์เซ็นต์แท้ๆ นับจากเมื่อเดือนธันวาคม 2008

นอกจากนั้น อัตราว่างงานที่ไต่ระดับสูงขึ้นมาเรื่อยๆ นี้ ยิ่งดูน่าประหลาดใจมากขึ้นไปอีกเมื่อคำนึงถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะนโยบายการคลังขยายตัวมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หรือกระทั่งมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไซส์มโหฬารที่โฆษณากันว่าจะพลิกผันทิศทางของระบบเศรษฐกิจได้แน่นอน

ที่ผ่านมา วิกฤตในตลาดที่อยู่อาศัยถูกพวกผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯ และพวกนักวิชาการ ระบุว่าเป็นเหตุใกล้ให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด เขียนบทความในไฟแนนเชียลไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ (ปรากฏใน www.ft.com วันที่ 25 มิถุนายน 2009) โดยแสดงความเชื่อมั่นแข็งขันว่าการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจจะอุบัติทันทีที่ราคาในตลาดที่อยู่อาศัยเกิดเสถียรภาพ

แต่ในเมื่อนโยบายของเฟดยังมุ่งจะหนุนให้ราคาบ้านที่อยู่อาศัยกลับสู่ภาวะเฟ้อขึ้นอีก และในเมื่อนโยบายของรัฐบาลยังมุ่งจะปกป้องไม่ให้เกิดการยึดทรัพย์จดจำนองบ้านที่อยู่อาศัย ตลอดจนมุ่งช่วยอุดหนุนท่านเจ้าของบ้าน มันย่อมเป็นการยากที่ราคาของบ้านที่อยู่อาศัยจะเกิดเสถียรภาพขึ้นได้ ตราบเท่าที่มันยังถูกบิดเบือนด้วยนโยบายการเงินและการคลังของภาครัฐ

ยิ่งกว่านั้น ความพยายามที่จะจุดประกายการเก็งกำไรราคาบ้านที่อยู่อาศัยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะขับเคลื่อนให้ราคาของบ้านที่อยู่อาศัยพุ่งทะยานอีกสักรอบ ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ถ้าพวกธนาคารพาณิชย์ไม่พร้อมที่จะ"เล่นเกมอีกครั้ง" (โดยการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้กู้ซึ่งไม่มีศักยภาพจะรับผิดชอบภาระหนี้ได้จริง) รวมทั้งจะไม่สำเร็จได้ถ้าผู้กู้ไม่แกล้งโง่เอาหัวมุดทรายและเล่นตามบทในเกมไปเรื่อยๆ (โดยการสร้างภาระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เจ้าปัญหาที่พวกเขาไม่มีศักยภาพจะรับผิดชอบภาระหนี้ได้จริง) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แทบจะไม่มีแบงก์หรือเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัยรายใดที่จะยอมเล่นไปตามเกมของเฟด ทั้งที่เห็นอยู่ว่าเฟดท่านเต็มอกเต็มใจจะปั๊มเงินออกมาท่วมระบบ อีกทั้งเต็มใจแบกรับความเสียหายในหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด

หันมองแนวโน้มผลกระทบต่อการจ้างงานบ้าง ในเมื่อการสร้างผลผลิตแท้จริงลดระดับลง ความจำเป็นในการจ้างแรงงานก็ย่อมลดลงเช่นกัน และในเมื่ออัตราค่าจ้างไม่ขยับตัวได้รวดเร็วเพียงพอ ในเมื่อตัวเงินจากแหล่งของเงินบำนาญเป็นตัวเลขนิ่งสนิท และในเมื่อรายได้จากดอกเบี้ยเงินออมก็ต่ำมาก รายได้แท้จริงของแรงงานและผู้ที่กินเงินบำนาญจึงถูกริดรอนมูลค่าไปภายในภาวะแห่งเงินเฟ้ออันสูงลิ่ว และนั่นทำให้การจับจ่ายแท้จริงของผู้คนลดน้อยถดถอยลงไป

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ในเกณฑ์ติดลบ แต่ผู้คนก็ไม่กระตือรือร้นที่จะผันเม็ดเงินไปพอกพูนค่าในรูปของการลงทุน ยิ่งกว่านั้น การติดลบด้านการคลังอันมหาศาลทำลายทุกสถิติของรัฐบาลอเมริกันในขณะนี้จะบีบไปยังการออมแท้จริงของภาคเอกชน และยิ่งทำให้การลงทุนแท้จริงในภาคเอกชนเหือดหายมากยิ่งขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสกัดกั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

ในกาลข้างหน้ายาวไกล ทั้งสหรัฐฯ และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหลาย น่าจะถูกกดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ ณ ระดับต่ำใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือกระทั่งลงไปในระดับติดลบ ผู้ที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็นเพียงแค่พวกยอดฝีมือด้านเงินเฟ้อมักที่จะสามารถฉวยประโยชน์จากเงินไร้ต้นทุน อันที่จริงแล้ว นโยบายด้านอุปสงค์เป็นเรื่องไม่เพียงพอที่จะบรรลุซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะนโยบายด้านอุปทานก็ต้องมีควบคู่กันไปด้วย ความผิดพลาดแท้จริงอยู่ที่ว่า ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ติดกับอยู่ในนโยบายการเงินการคลังที่ผิดฝาผิดตัวผิดที่ผิดทาง ซึ่งมีแต่จะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกับการสร้างงานยิ่งล่าช้าออกไปกว่าที่ควรเป็น

(เก็บความตัดตอนจากเรื่อง No end in sight to US jobless rise
โดย Hossein Askari และ Noureddine Krichene ฮอสเซน อัสการี เป็นศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศและด้านการเมืองระหว่างประเทศ ในมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ส่วน นูร์เรดดีน กริชเชเน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ในสังกัดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเป็นอดีตที่ปรึกษาธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม ณ นครเจดดาห์)
กำลังโหลดความคิดเห็น