เอเอฟพี/เอเจนซี - ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ระบุเมื่อวันพุธ (29) ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงหดตัวต่อไปแม้ไม่รุนแรงเหมือนในช่วงก่อนหน้านี้ ดังนั้นเฟดจึงยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ใกล้กับศูนย์เปอร์เซ็นต์ต่อไป รวมทั้งยังคงเดินหน้าโครงการต่าง ๆเพื่อกระตุ้นสินเชื่อในตลาด ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์อเมริกันแถลงว่า จีดีพีในรอบไตรมาสแรกของสหรัฐฯ หดตัวแรงเกินคาดที่ -6.1%
ภายหลังการประชุมเป็นเวลา 2 วันของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ก็มีผลสรุปออกมาให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% เหมือนเดิม รวมทั้งคงมาตรการต่างๆ ที่มุ่งอัดฉีดสินเชื่อเข้าไปในระบบการเงินการธนาคาร และนำพาเศรษฐกิจโดยรวมให้พ้นจากภาวะถดถอย กระนั้นเฟดก็เน้นว่า ทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจนั้น "มีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย"
ในคำแถลงของเอฟโอเอ็มซีระบุว่า นับตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้วในเดือนมีนาคม "เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราเร่งของการหดตัวดูเหมือนว่าจะช้าลงไปบ้าง"
นอกจากนี้คำแถลงกล่าวด้วยว่า สมาชิกของเอฟโอเอ็มซี "คาดการณ์ว่า จากการปฏิบัติต่างๆ ในเชิงนโยบายเพื่อทำให้ทั้งตลาดการเงินและสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ, แผนกระตุ้นด้านการคลังและการเงิน, รวมทั้งพลังต่างๆ ทางตลาด จะส่งผลให้เกิดค่อยๆ กลับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขของการมีเสถียรภาพทางด้านราคา"
เอฟโอเอ็มซีซึ่งมีประธานเฟด เบน เบอร์นันกี เป็นผู้นำ ยังได้เน้นย้ำจุดยืนเดิมที่ว่า "จะใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีอยู่ เพื่อหนุนส่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและคงไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพด้านราคา"
ทั้งนี้ สมาชิกของเอฟโอเอ็มซีลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เฟดฟันด์เรต เอาไว้ที่ระหว่าง 0 - 0.25% โดยในคำแถลงอธิบายว่า "สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังคงทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดเดอรัล ฟันด์ส เรตต้องคงอยู่ในระดับต่ำผิดปกติเช่นนี้ต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง"
นอกจากนี้ คำแถลงบอกว่า เฟดยังจะเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อซื้อตราสารหนี้ของกระทรวงการคลังและหลักทรัพย์อื่น ๆ "โดยพิจารณาจากทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจที่ค่อยๆ พัฒนาไป ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ในตลาดการเงิน"
ก่อนหน้านี้ เฟดได้ประกาศแผนการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่อิงอยู่กับตราสารสินเชื่อบ้านเป็นมูลค่าไม่เกิน 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งจะเข้าซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานรัฐบาลมูลค่าไม่เกิน 200,000 ล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้
และเมื่อเดือนที่แล้ว เฟดก็ออกมาประกาศจะซื้อหลักทรัพย์กระทรวงการคลังมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนต่อๆ ไปจากนี้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งความพยายามของเฟด ที่จะดึงอัตราดอกเบี้ยอื่น ที่เฟดไม่ได้ควบคุมโดยตรง ให้ลดต่ำลงมาด้วย
เบอร์นันกี ไม่ยอมเรียกมาตรการเช่นนี้ว่า "การผ่อนคลายด้านปริมาณ" (quantitative easing" ตามอย่างญี่ปุ่นหรือทางยุโรป แต่เรียกชื่อว่า "การผ่อนคลายด้านสินเชื่อ" (credit easing) กระนั้นเขาก็ยอมรับว่า ความพยายามเช่นนี้ก็เหมือนกับการพิมพ์เงินจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อใช้ช่วยเหลือนำพาเศรษฐกิจ ให้หลุดพ้นจากวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีคราวนี้
การแถลงของเอฟโอเอ็มซีคราวนี้ มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแจ้งว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวลงไปถึง 6.1% เนื่องจากการลงทุนภาคธุรกิจที่ลดลงมาก การส่งออกทรุดฮวบ และสินค้าคงคลังของธุรกิจต่างๆ ก็หดฮวบเป็นสถิติใหม่ จนการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่มีการกระเตื้องขึ้น ก็ยังไม่อาจดึงให้เศรษฐกิจอยู่ในสถานะที่ดีกว่านี้ได้
การประมาณการจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้เป็นครั้งแรกสุดของกระทรวงพาณิชย์เช่นนี้ สร้างความผิดหวังให้แก่พวกนักทำนายเศรษฐกิจซึ่งคาดหมายกันว่าจะดำดิ่งในระดับเท่ากับปีละ 4.7% เท่านั้น นอกจากนั้นอัตรานี้ก็ดีขึ้นนิดเดียวจากรอบไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับเท่ากับปีละ -6.3%
เศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นหดตัวมาติดกันสามไตรมาสแล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1974-1975 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายยังคงมองว่า มีสัญญาณที่ดีขึ้นในรายงานเศรษฐกิจที่ดูมัวมนนี้
นักวิเคราะห์เหล่านี้มองว่า การที่สินค้าคงคลังของภาคธุรกิจหล่นลงฮวบฮาบ คือเหลืออยู่ในระดับ 103,700 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุดใหม่ ควรถือเป็นข่าวดี เพราะบ่งชี้ให้เห็นว่าพวกธุรกิจต่างๆ ได้ตัดลดสต็อกสินค้าของพวกตน จนถึงระดับที่จะต้องเริ่มต้นสั่งซื้อวัตถุดิบใหม่ๆ อันจะเป็นการกระตุ้นการผลิตให้กลับคึกคักขึ้นนั่นเอง
คริสตินา โรเมอร์ ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบข่าว บอกว่า การที่ยอดสินค้าคงคลังลดต่ำลง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคสูงขึ้น ต้องถือว่าเป็นความสดใสในท่ามกลางรายงานที่เต็มไปด้วยความมัวมน