xs
xsm
sm
md
lg

“เฟด”ประกาศรับซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นการอัดฉีดเงิน$1ล้านล้านช่วยศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี – ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ประกาศในวันพุธ(18)ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายว่า จะอัดฉีดเงินอีก 1.15 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของอเมริกา เพื่อดึงประเทศให้พ้นจากภาวะถดถอยรุนแรง การอัดฉีดส่วนหนึ่งนั้นจะผ่านการเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวของรัฐบาล ซึ่งนับเป็นการเข้าซื้อครั้งแรกในรอบ 40 ปีของเฟด
ในคำแถลงหลังสิ้นสุดการประชุมเป็นเวลาสองวัน คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด(เอฟโอเอ็มซี) ระบุว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของกระทรวงการคลังสหรัฐฯเป็นมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ การตัดสินใจนี้ทำให้หลายฝ่ายประหลาดใจเพราะแม้ว่าเฟดจะเคยบอกว่ากำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ดูเหมือนจะละทิ้งเรื่องนี้ไปในช่วงสองสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ประธานเฟดสาขานิวยอร์ค วิลเลียม ดัดลีย์ก็เคยออกมากล่าวว่าวิธีการนี้ไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดในการบรรเทาภาวะตึงตัวของตลาดการเงิน
อย่างไรก็ตาม ตลาดก็ตอบรับข่าวนี้อย่างร้อนแรงในลักษณะต่าง ๆกัน ราคาหุ้นทั้งหลายพากันดีดขึ้น รวมทั้งอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯก็ร่วงลงมากที่สุดในหนึ่งวันนับตั้งแต่ปี 1987 เป็นต้นมา ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือนเมื่อเทียบกับเงินยูโร
“เมื่อเฟดบอกว่าจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัว และป้องกันภาวะเงินฝืด พวกเขาไม่ได้พูดเล่น” ซัล กัวเทียรี่ แห่งบีเอ็มโอแคปิตอลมาร์เก็ตในโตรอนโตกล่าว
นอกจากการซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังแล้ว เฟดยังบอกว่าจะขยายปริมาณการซื้อตราสารหนี้ที่หนุนหลังโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยออกไปอีก 750,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้รวมทั้งสิ้นจะเท่ากับ 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะเดียวกัน เฟดยังจะซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านดอลลาร์
การขยายโครงการซื้อตราสารหนี้ที่หนุนหลังโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยนี้ จะยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงไปอีก เพราะจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมถูกลง ทั้งนี้ ควิคเคน โลนส์ ระบุว่า อัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยอายุ 30 ปีลดลงไปมากถึง 0.375% ไปอยู่ที่ 5%
เห็นกันว่า ความสำเร็จของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ในการดึงอัตราดอกเบี้ยลง จากการเข้าซื้อตราสารหนี้ของรัฐบาล อาจจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯตัดสินใจเข้าซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลัง อันเป็นยุทธศาสตร์ที่เคยใช้ครั้งสุดท้ายมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960
การที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ของรัฐบาลที่ใช้เป็นมาตรฐานลดลงไป เป็นความหวังของเฟดที่จะทำให้ลดต้นทุนการกู้ยืมสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ
“นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ส่งผลสะเทือนอย่างมาก พวกเขากำลังพยายามลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อการบริโภคลงมา” เจมส์ แครอน จากมอร์แกน สแตนลีย์กล่าว
นอกจากการเพิ่มจำนวนเงินที่จะอัดฉีดเข้าไปไปในเศรษฐกิจแล้ว เฟดก็ยังลงมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรตเอาไว้ที่ 0-0.25% ตามเดิม อันเป็นอัตราต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา และก็คงอยู่ในระดับนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมแล้ว

ขณะเดียวกัน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ เจฟฟรีย์ แล็คเกอร์กลับมาสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ร่วมกับคนอื่น ๆหลังจากที่โหวตสวนทางมาเมื่อเดือนมกราคม

ในคำแถลงของเฟด ได้ชี้ว่า จะขยายช่วงเวลาการใช้อัตราดอกเบี้ยระดับนี้ออกไป ซึ่งเป็นท่าทีที่พูดอย่างชัดเจนกว่าที่เคยบอกในช่วงสองสามเดือนก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี เมื่ออัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ใกล้ศูนย์นานหลายเดือนแล้วเช่นนี้ เฟดจึงต้องหาทางอื่น ๆเพิ่มเติมขึ้นอีก เพื่อทำให้สภาพคล่องกลับมาเดินสะพัดได้เหมือนเดิม ด้วยความหวังที่ว่าจะช่วยให้ธนาคารปล่อยกู้มากขึ้น และเศรษฐกิจจะเดินหน้าสู่การเติบโตดังเดิม อันเป็นนโยบายที่เบน เบอร์นันกี ประธานเฟดเรียกว่า “ผ่อนคลายสินเชื่อ”
“แต่ปัญหาก็คือการที่เฟดอัดฉีดเงินล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเข้าไปในระบบ นั่นเป็นเงินของผู้เสียภาษีที่เป็นจำนวนมหาศาล” เกรก ซัลแวกกิโอ จากเทมปัส คอนซัลติ้ง ใน กรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นสะท้อนความกังวลของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสหรัฐฯ
เบอร์นันกีนั้นกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(15)ว่า การซ่อมแซมภาคการเงินที่ผุพังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งประสบภาวะถดถอยมากว่าหนึ่งปีแล้ว
ในสัปดาห์นี้ เฟดได้เริ่มต้นหารือในแผนการกระตุ้นสินเชื่อสำหรับการศึกษา, รถยนต์, บัตรเครดิตและธุรกิจรายย่อย และเมื่อวันพุธก็ออกมาพูดอีกว่าจะขยายแผนการนี้ให้ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายประเภท
แผนการกระตุ้นสินเชื่อการบริโภคและธุรกิจขนาดเล็กจะเริ่มจากการอัดฉีดเม็ดเงิน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ที่อิงอยู่บนตราสารสินเชื่อเหล่านี้ แต่เฟดเองก็กล่าวว่าแผนนี้อาจจะต้องใช้เงินราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น