xs
xsm
sm
md
lg

เฟดหั่นดอกเบี้ยเหลือ0%พร้อมใช้ทุกวิธีฟื้นฟูศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ประกาศหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
"เฟดฟันด์เรต" ลงสู่ระดับเท่ากับ 0% ในทางเป็นจริง อีกทั้งสัญญาจะใช้ "เครื่องมือทั้งหมดที่จะหามาใช้ได้" เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังถลำลงสู่ภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายๆ สิบปี ด้านนักวิเคราะห์ชี้ แม้เฟดแสดงความห้าวหาญครั้งประวัติศาสตร์เช่นนี้ แต่ก็ยังจะไม่พอเพียง ต้องมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังมูลค่าระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์มาสนับสนุนด้วย แต่ขณะเดียวกันก็คาดว่า ความเคลื่อนไหวคราวนี้จะกดดันแบงก์ชาติของประเทศต่างๆ ให้ต้องลดตามกันบ้าง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่กำหนดพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยในวันศุกร์(19)

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด(เอฟโอเอ็มซี) ลงมติภายหลังประชุมกัน 2 วันในวันจันทร์และอังคาร(15-16) ลดอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต ซึ่งเป็นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมชั่วข้ามคืนระหว่างธนาคารต่างๆ ให้ลงมาอยู่ที่ 0-0.25% จากเดิม 1% นอกจากนี้เฟดยังสำทับด้วยว่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยแสนถูกนี้ไว้เป็นระยะเวลายาวนาน

"ทางธนาคารกลางจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่จะหามาใช้ได้ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมามีอัตราเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของราคาต่อไป" เฟดกล่าวในคำแถลงที่ออกภายหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซี

เศรษฐกิจของสหรัฐฯนั้นดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยมาตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว และหลายฝ่ายพากันลงความเห็นว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา

การประกาศของเฟดคราวนี้ทำให้หุ้นสหรัฐฯทะยานขึ้นรุนแรง ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวันอังคารโดยดีดขึ้นไป 359.61 จุดหรือ 4.20 % นอกจากนี้ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯก็เพิ่มขึ้นด้วย กดให้อัตราผลตอบแทนลดต่ำลงมากที่สุด

มติอย่างเป็นเอกฉันท์ของเอฟโอเอ็มซีครั้งนี้ ยังส่งผลกดให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯดิ่งลงไปเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่าง ๆโดยเฉพาะยูโร ซึ่งลงไปต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง เวลานี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเขตยูโรโซน ตามที่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)ประกาศไว้นั้น อยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดที่สุดในบรรดา 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7)

นอกเหนือจากลดดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว เฟดยังแสดงท่าทีด้วยว่าจะใช้วิธีการอื่น ๆเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดเพิ่มเติมจากมาตรการการเงินมหภาคที่ใช้อยู่แล้ว โดยจะเน้นที่การเข้าซื้อตราสารหนี้จำนวนมหาศาล ซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวที่กล้าหาญและฉีกออกมาจากปฏิบัติการครั้งก่อน ๆ เพื่อดันให้ต้นทุนกู้ยืมนั้นถูกลงอย่างมาก

ทั้งนี้ เฟดประกาศว่าจะเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหรือที่รับประกันโดยหน่วยงานสินเชื่อการเคหะที่รัฐบาลให้การสนับสนุน นอกจากนี้ก็ยังพิจารณาหนทางอื่น ๆเพื่อจะนำเอาเม็ดเงินที่มีอยู่มหาศาลในเฟดเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

"สภาพการทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอส่งผลให้อาจต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรตให้อยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษไปชั่วระยะหนึ่ง" เฟดกล่าว ซึ่งได้รับการตีความว่าเป็นการให้คำมั่นเชิงนโยบายว่าจะใช้แนวทางกดดอกเบี้ยในตลาดให้อยู่ในระดับต่ำนับตั้งแต่นี้ต่อไปเป็นระยะยาว

อันที่จริงตั้งแต่ก่อนหน้าที่เฟดออกมาเคลื่อนไหวคราวนี้เสียอีก อัตราดอกเบี้ยในอนาคตเมื่อวัดจากราคาตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สประเภทดอกเบี้ย ก็กำลังแสดงให้เห็นแนวโน้มแล้วว่าอัตราดอกเบี้ยจริงน่าจะอยู่ในระดับต่ำไปตลอดปีหน้า โดยที่อัตราของสิ้นปี 2009 นั้นอยู่ที่ 0.69% เท่านั้น

เท่าที่ผ่านมา แม้ทางการสหรัฐฯจะออกมาตรการหลายอย่างหลายประการ ก็ยังคงไม่สามารถที่จะป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยมิให้เลวร้ายลงไปอีกได้ โดยเฉพาะการที่เฟดอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ธนาคารที่เสี่ยงต่อการล้มละลาย แต่มาตรการดังกล่าวนี้กำลังทำได้ตัวเลขในงบดุลของเฟดเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเวลาเพียงสามเดือน กลายเป็น 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 887,000 ล้านดอลลาร์ และหลายฝ่ายก็เชื่อว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นจนถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไม่ช้า

ชี้ต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังด้วย

ถึงแม้เฟดจะลดดอกเบี้ยลงมาต่ำเตี้ยขนาดนี้ ทว่านักวิเคราะห์จำนวนมากก็ยังมองว่า นี่เป็นความเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะบังเกิดสัมฤทธิ์ผลที่เป็นจริง เนื่องจากภาคการเงินของสหรัฐฯยังสั่นคลอนและกระปรกกระเปรี้ย ยากยิ่งที่การชี้นำลดดอกเบี้ยของทางการ จะกระตุ้นให้มีการฟื้นฟูการกู้ยืมในระบบขึ้นมาได้

"ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่อย่างนี้ นโยบายการเงินโดยตัวมันเองยังไม่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับงานนี้หรอก" ไนเจล กอลต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของ โกลบอล อินไซต์ ในเมืองเล็กซิงตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ของสหรัฐฯ ให้ความเห็น พร้อมกับชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้ที่สามารถกู้ยืม และใช้จ่ายให้เกิดความคึกคักได้มากที่สุด

"ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยในด้านมาตรการกระตุ้นทางการคลังแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นทุกทีๆ ว่าจะต้องตกลงไปในเกลียวหมุนวนแห่งภาวะเงินฝืดอย่างเต็มตัว" กอลต์บอก

บรรดานักวิเคราะห์ต่างกำลังเขม้นมองอย่างมุ่งหวังไปยังว่าที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เนื่องจากเขาเรียกร้องและให้คำมั่นมาตลอดว่า จะจัดทำโครงการด้านงานโยธาที่จะช่วยสร้างงาน กระตุ้นการใช้จ่าย และยกเศรษฐกิจสหรัฐฯให้โผล่ขึ้นมาจากภาวะถดถอย

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานไว้ในฉบับวันเสาร์(13)ที่ผ่านมาว่า ทีมงานของโอบามากำลังพิจารณาแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า

คาดบีโอเจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง การประกาศเดินหน้าลดดอกเบี้ยกันเต็มตัวของเฟดเที่ยวนี้ ก็น่าจะส่งผลต่อธนาคารกลางอื่นๆ ให้ต้องขยับตามบ้าง โดยเฉพาะจุดสนใจขณะนี้จะไปจับอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น(บีโอเจ) ที่กำหนดจัดการประชุมเรื่องดอกเบี้ยในปลายสัปดาห์นี้อยู่แล้ว
แม้ที่ผ่านมาบีโอเจไม่ค่อยอยากจะขยับลดดอกเบี้ยนัก เพราะเวลานี้ก็ต่ำมากอยู่แค่ 0.3% เท่านั้น แต่เมื่อเฟดกล้าหั่นลงต่ำกว่าแล้ว จึงคาดกันว่า วันศุกร์(19)นี้บีโอเจก็จะลดจนถึงระดับใกล้ 0 หรือกระทั่งถึง 0% ทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น