xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าสู่ด/บ0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - การลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างแรงโดยธนาคารกลางประเทศต่าง ๆเมื่อวันพฤหัสบดี(4) แสดงให้เห็นว่าความตั้งใจที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินให้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อต้านกระแสเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ตกต่ำสาหัสมากที่สุดในรอบ 80 ปี

ธนาคารกลางบางแห่งนั้นยังขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันอยู่เลยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่บัดนี้ก็ต้องยอมกลับตาลปัตรนโยบายการเงิน เปลี่ยนมารับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว

ในวันพฤหัสบดี ธนาคารกลางอังกฤษประกาศลดอัตราดอกเบี้ยถึง 1% หลังจากที่หนึ่งเดือนที่แล้วได้ช็อกทุกคนด้วยการหั่นดอกเบี้ยมาแล้วถึง 1.5% นอกจากนั้น ธนาคารกลางสวีเดนก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปถึง 1.75% ทำเอาการแถลงในวันเดียวกันของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ที่ลดลง 0.75% ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งห้าวหาญที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป ดูเป็นการหั่นแค่ "พอประมาณ" เท่านั้นเอง

"การลดอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นว่าระดับนโยบายเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจแล้ว" ซาราห์ เฮวิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในลอนดอนกล่าว

แม้จะใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเหมือนๆ กัน แต่ความแตกต่างในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างธนาคารกลางต่าง ๆนั้นอยู่ที่ความรวดเร็วของการดำเนินนโยบายใหม่
"ธนาคารกลางยุโรปลดอัตราดอกเบี้ย 75 เบซิสพอยน์ (0.75%) เมื่อเทียบกับธนาคารกลางอื่น ๆแล้ว ก็ยังเป็นอัตราที่น้อยกว่ากันมาก" ฮาวเวิร์ด อาร์เชอร์ แห่ง ไอเอชเอส โกลบัล อินไซท์ กล่าว

สำหรับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ นั้น ที่สหรัฐฯ หลายฝ่ายก็พากันคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินกลางเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศนี้ลงไปอยู่ต่ำกว่าระดับ 1%

ส่วนทางแดนอาทิตย์อุทัย เวลานี้ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น(บีโอเจ) กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำคัญไว้ที่ 0.3% ซึ่งเหนือระดับ 0%เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยที่บีโอเจเคยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0% มาแล้วเมื่อทศวรรษก่อน ในขณะที่เกิดขึ้นภาวะเงินฝืดรุนแรงขึ้นหลังจากภาวะฟองสบู่แตก

แม้กระทั่งจีน ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ก็ยังถูกสถานการณ์บีบให้ต้องลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญลงมาถึง 108 เบซิสพอยน์ (1.08%) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนับเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบ 11 ปี

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังคงกำลังแสดงอิทธิฤทธิ์อยู่ในตอนนี้ ก็คือ แม้จะลดดอกเบี้ย (ซึ่งหมายถึงต้นทุนสำหรับเงินกู้ยืม) ลงมาให้ต่ำเตี้ยปานใดก็ตาม แต่ตราบใดที่พวกธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ยังไม่เริ่มปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกค้ากันอย่างจริงจังแล้ว มันก็ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่นั่นเอง

ริคส์แบงก์แห่งสวีเดนชี้ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยระลอกแล้วระลอกเล่าในเวลานี้ ยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเหมือนในยามสถานการณ์ปกติ ส่วนธนาคารกลางอังกฤษก็แสดงความวิตกต่อการขาดแคลนสินเชื่อในประเทศว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจต่อไป

"ปัญหาต่อไปก็คือแรงกดดันอาจจะเพิ่มขึ้นจนทำให้ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก และก็จะมีความเป็นไปได้สูงที่แบงก์เรต (อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติอังกฤษ) อาจจะลดลงไปจนเหลือศูนย์ในทางเป็นจริงในปีหน้า" เจมส์ ไนท์ลีย์ แห่ง ไอเอ็นจี โกลบัล อีโคโนนิกส์กล่าว

ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยลงแตะระดับศูนย์เปอร์เซนต์กันจริงๆ ธนาคารกลางต่าง ๆอาจจะต้องหันมาใช้วิธีการเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงภาวะเงินฝืด นั่นก็คือ อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เริ่มเติบโตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

"ธนาคารกลางสหรัฐฯพูดถึงการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลนี้อย่างเปิดเผย ซึ่งสามารถกระทำโดยผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนมา และทางการของอังกฤษเองก็อาจจะคิดถึงยาที่มีฤทธิ์แรงมากขึ้น หากว่าสถานการณ์สินเชื่อขาดแคลนไม่ดีขึ้น" ไนท์ลีย์กล่าว

ด้านประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ฌอง-โคลด ทริเชต์กล่าวว่า "หากว่ามีการตัดสินใจเริ่มนโยบายใหม่ ๆ เราก็คงตามไปด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรใหม่"

แท้ที่จริงแล้ว ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ นั้น หลายๆ ประเทศอยู่ที่ระดับ 0 หรือต่ำกว่านั้นแล้วด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงเรื่อย ๆทั่วโลก อันมีสาเหตุใหญ่มาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ดิ่งลงรุนแรงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น