xs
xsm
sm
md
lg

เฟดนำธ.กลางทั่วโลกลดดอกตลาดหุ้นดีดน้ำมันขยับตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี - ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) หั่นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี โดยจีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, ต่างก็ลดด้วย คาดแบงก์ชาติใหญ่ๆ ยังจะเดินตามอีก สภาพเช่นนี้ทำตลาดหุ้นแถบเอเชียและยุโรปเกิดกำลังใจดีดผึงขึ้นเป็นแถว แม้ล่าสุดอเมริกาเผยตัวเลขจีดีพี ปรากฏว่าติดลบแรง

เฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย "เฟดฟันด์เรต" ครึ่งเปอร์เซ็นต์เมื่อวันพุธ(29) ลงเหลือ 1.0% อันเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2004 เป็นต้นมา เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง ในขณะเดียวกัน คำแถลงของเฟดยังเปิดช่องไว้สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหากว่าจำเป็น

ก่อนหน้านั้นในวันพุธ แบงก์ชาติจีนซึ่งก็คือธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ได้แถลงลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว 0.27% เหลือ 3.60% และหลังจากการประกาศของเฟด ธนาคารกลางของไต้หวันก็ได้ทำตามเมื่อวานนี้(30) โดยหั่นอัตราดอกเบี้ยสำคัญของตนลง 0.25% เช่นเดียวกับทบวงการเงินของฮ่องกง ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นธนาคารกลางของดินแดนนี้ ได้ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.5% เหลือ 1.5%

เป็นที่คาดหมายกันว่า ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น(บีโอจี) ซึ่งแม้มีท่าทีมานานแล้วว่าไม่เต็มใจลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอยู่ในระดับต่ำเตี้ยติดดินแค่ 0.5% ก็จะยอมเข้าร่วมกระแสหั่นดอกเบี้ยคราวนี้เหมือนกัน โดยอาจจะประกาศในวันนี้ว่าจะลดลงมา 0.25% นอกจากนั้น ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี), ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ, และธนาคารกลางของออสเตรเลีย ก็น่าจะตามแห่เช่นกันในสัปดาห์หน้า ในภาวะที่วิกฤตการเงินกำลังส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก

เฟดลดดอกเบี้ย0.5%ตามคาดหมาย

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด(เอฟโอเอ็มซี) มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ภายหลังการประชุมในวันอังคารและพุธ (28-29) ให้ลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารต่างๆ คิดในการปล่อยกู้ระหว่างกันชั่วข้ามคืนนี้ ลงไปเหลือ 1% ก่อนหน้านี้ตลาดวอลลสตรีทก็พร้อมใจกันเชื่อว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรตลงมา แม้ว่าจะเห็นต่างกันว่าจะลดลงเท่าไรกันแน่

"อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดูเหมือนว่าจะชะลอตัวลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง" เฟดระบุในคำแถลง "ยิ่งไปกว่านั้นความร้ายแรงของปัญหาในตลาดการเงินก็จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยน้อยลงไปอีก"

ก่อนหน้านี้ เฟดได้ทยอยออกมาตรการหลายประการที่มีเป้าหมายในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดซึ่งขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง บรรดาสมาชิกเอฟโอเอ็มซีเน้นในคำแถลงว่า มาตรการต่างๆ เหล่านี้จะออกฤทธิ์ในช่วงต่อไป

อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็สรุปว่า "ความเสี่ยงทางด้านลบต่ออัตราการเติบโตก็ยังคงอยู่" ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นกันว่า คือการที่เฟดเปิดช่องเอาไว้สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป

นอกจากนั้น จากการที่สำนักข่าวรอยเตอร์ทำการสำรวจความคิดของบริษัทพันธบัตรชั้นนำต่าง ๆพบว่า ตลาดฟิวเจอร์เชื่อว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก 0.25% ในช่วงปลายปีนี้

ในคำแถลงแจ้งการลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้ เห็นได้ชัดว่าเมื่อพูดเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เฟดใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงความห่วงกังวลที่น้อยลง โดยบอกเพียงว่าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวพอประมาณในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า เพราะว่าราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ ถูกลงและ "กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็คาดว่าจะอ่อนตัวลง"

เปรียบเทียบกับตอนที่เฟดจับมือกับธนาคารกลางใหญ่ๆ ในอเมริกาเหนือและยุโรป ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินเมื่อต้นเดือนนี้ โดยที่เฟดหั่นเฟดฟันด์เรตลงมา 0.5% นั้น คำแถลงของเฟดตอนนั้นยังมีคำเตือนว่า ความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้ออาจจะกลับมาอีก

"ดูเหมือนว่าเฟดจะลดความสำคัญของความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อลง" ไมเคิล เกรกอรี นักเศรษฐศาสตร์ของบีเอ็มไอ แคปปิตอล มาร์เกตส์ในโตรอนโตเขียนในรายงานส่งถึงลูกค้า "ความจริงก็คือไม่มีความเสี่ยงเงินเฟ้ออีกแล้ว รวมทั้งกลับมีความเสี่ยงที่อัตราเติบโตจะชะลอตัวลงอย่างยาวนาน จึงทำให้นโยบายของเฟดจะโน้มเอียงไปทางผ่อนคลายเพิ่มขึ้น"

ในช่วง 13 เดือนที่ผ่านมา เฟดลดอัตราดอกเบี้ยชั่วข้ามคืนลงมาถึง 9 ครั้งแล้วจากระดับ 5.25% มาเหลือ 1% ในตอนนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตการเงินซึ่งเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯล้มละลายลงมาและไม่นานนักก็ลุกลามไปทั่วโลก

หลังจากที่เฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยคราวนี้ไม่นานนัก ก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งระบุว่าได้เปิดช่องทางสวอปสกุลเงินต่าง ๆกับธนาคารกลางของเม็กซิโก บราซิล เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เพื่ออัดฉีดดอลลาร์สหรัฐฯเข้าสู่ตลาดเหล่านี้ และช่วยให้ธนาคารกลางเหล่านี้สามารถรับมือกับการขาดแคลนสภาพคล่องได้ดีขึ้นด้วย ทำให้ตอนนี้เฟดมีสัญญาสวอปเงินตราอยู่กับธนาคารกลางถึง 13 แห่งแล้ว

นอกจากลดอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรตแล้ว เฟดก็ยังลดอัตราดอกเบี้ยดิสเคาน์เรตที่ให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืมชั่วข้ามคืน 0.5% คือจาก 1.75% มาเป็น 1.25% ด้วย

ตลาดหุ้นเอเชีย-ยุโรปพุ่งแรง

หลังจากเฟดหั่นดอกเบี้ยลงมาคราวนี้ ปรากฏว่าตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทกลับไม่แสดงปฏิกิริยาตอบรับเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดหมาย แถมยังมีนักวิเคราะห์บางรายผิดหวังว่ายังลดน้อยเกินไป ยิ่งในช่วงท้ายๆ ของวอลล์สตรีทวันพุธ ปรากฏว่ามีข่าวร้ายในเรื่องลู่ทางอนาคตของผลประกอบการของบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) จึงได้ทำให้ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ดำดิ่งลงมากว่า 300 จุดใน 12 นาทีสุดท้าย และปิดติดลบ 74.16 จุด หรือ 0.82%

ทว่าเมื่อมาถึงช่วงซื้อขายของตลาดแถบเอเชียวานนี้ ปรากฏว่าหุ้นต่างทะยานลิ่วกันแทบทุกตลาด โดยนักลงทุนให้เหตุผลสำคัญเรื่องการลดดอกเบี้ยของเฟดและของแบงก์ชาติจีน ว่าช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น และมีกำลังใจไล่ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำลงมามากแล้ว

ตอนปิดตลาดวานนี้ ดัชนีหุ้นนิกเกอิของตลาดโตเกียวพุ่งขึ้นไป 9.96% ขณะที่ฮั่งเส็งของฮ่องกง บวกเพิ่มขึ้นถึง 12.8% , โซลกระโจนพรวด 11.95%, สิงคโปร์ก็โลดลิ่วขึ้นมา 7.8%, ไทเป 6.29%, เซี่ยงไฮ้ 2.55% ทางด้านยุโรปก็คึกคักเช่นกัน ในตอนบ่ายวานนี้ ตลาดแฟรงเฟิร์ตเพิ่มสูงขึ้นมา 4.18%, ลอนดอน 2.05%, และปารีส 2.12% สำหรับวอลล์สตรีทวานนี้ ตอนเปิดตลาดดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมก็พุ่งขึ้นไป 2.16%

น้ำมันดิบถือโอกาสพุ่งตาม

เมื่อวันพุธ(29) หลังเฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ ขยับขึ้นอย่างร้อนแรง 4.77 ดอลลาร์ หรือกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ มาปิดที่ 67.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากนั้นระหว่างการซื้อขายหลังปิดตลาดจริงราคาน้ำมันยังไหลขึ้นถึงระดับ 68.28 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ของลอนดอนพุ่งขึ้นมา 5.18 ดอลลาร์ มาปิดที่ 65.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ต่อมาในการซื้อการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์วานนี้ (30) เมื่อเวลา 11.50 น. (ประมาณ 19.50 น.ตามเวลาในเมืองไทย) น้ำมันดิบไลต์สวีตครูดยังขึ้นอีก 1 เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 68.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยช่วงหนึ่งของการซื้อขาย ราคาพุ่งขึ้นถึง 70.60 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ไหลขึ้น 83 เซนต์ มาอยู่ที่ 66.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ราคาน้ำมันยังคงถูกชี้นำจากภาพรวมของภาคการเงิน นอกจากนั้น จากการลดดอกเบี้ยของเฟด ยังทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง จึงทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

จีดีพีสหรัฐฯ ติดลบ 0.3%

ตลาดหุ้นในยุโรปและสหรัฐฯยังคงคึกคัก ถึงแม้มีการประกาศวานนี้ตอนที่ยุโรปอยู่ในช่วงบ่ายๆ และวอลล์สตรีทยังไม่ทันเริ่มซื้อขาย ว่าอัตราเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงไตรมาสสามปีนี้ หดตัวลงมา 0.3% อันเป็นการติดลบแรงที่สุดของสหรัฐฯในรอบระยะเวลา 7 ปี

ขณะที่ตัวเลขระดับนี้ไม่ถือว่าเลวร้ายอย่างที่นักวิเคราะห์บางคนหวาดกลัวว่าอาจจะหดตัวถึง 0.5% แต่ก็ทำให้พวกนักเศรษฐศาสตร์คาดหมายกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาสสี่จะยิ่งทรุดแรงกว่านี้ เพราะเพียงแค่เดือนนี้ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส ก็ยังเผชิญทั้งภาวะตลาดหุ้นทรุดหนัก, สินเชื่อตึงตัวยืดเยื้อต่อ, และบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐฯพากันตัดลดตำแหน่งงาน

ไม่เพียงเท่านั้น ทางฟากยุโรป ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)ก็มีการแถลงตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจใน 15 ชาติที่ใช้เงินสกุลยูโรประจำเดือนตุลาคม ปรากฏว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับแต่ปี 1993 เป็นต้นมา

"ตัวเลขนี้แย่เอามากๆ มันเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเขตยูโรกำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย" เป็นความเห็นของ คริสตอฟ เวล แห่งธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้าย หลายๆ ประเทศต่างทยอยประกาศมาตรการอุ้มชูกระตุ้นเศรษฐกิจของตน

นายกรัฐมนตรี ทาโร อาโซะ ของญี่ปุ่นวานนี้ ประกาศแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวมกัน 26.9 ล้านล้านเยน (277,000 ล้านดอลลาร์) ขณะที่สมาชิกพรรคคนสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลเยอรมนี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า เยอรมนีกำลังพิจารณาแผนการที่มีมูลค่า 20,000 - 25,000 ล้านยูโร โดยอาจจะเผยโฉมได้ในสัปดาห์หน้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น