xs
xsm
sm
md
lg

ยอดว่างงานกระฉูดในสหรัฐฯ: ยังไม่เห็นฝั่ง(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ฮอสเซน อัสการี และนูร์เรดดีน กริชเชเน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

No end in sight to US jobless rise
By Hossein Askari and Noureddine Krichene
09/07/2009

ยอดการว่างงานที่ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา ตอกย้ำความล้มเหลวของนโยบายการเงินโดยประธานเฟด เบน เบอร์นันกี ซึ่งเป็นนโยบายอันดุเดือดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยความหวังว่าจะช่วยนำมาซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดั่งที่เบอร์นันกีหมั่นให้คำสัญญาในทุกๆ ครั้งที่ประกาศหั่นลดดอกเบี้ย

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

กล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่า การขยายตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็วของภาวะว่างงานจนแตะระดับ 9.5% ในเดือนมิถุนายน 2009 นั้น ไม่อาจอธิบายที่มาที่ไปด้วยปัจจัยอื่นใดตรงจุดไปกว่าเรื่องนโยบายการเงินต้นทุนต่ำจัดจ้านของยุคกรีนสแปน-เบอร์นันกี นโยบายดังกล่าวผลักดันให้เม็ดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ไหลไปยังตลาดซับไพรม์ซึ่งล้มพังพาบ และส่งผลสืบเนื่องไปทำให้ระบบการธนาคารล้มละลายภายในสหรัฐฯ และยุโรป มันเป็นนโยบายที่หยิบยื่นความมั่งคั่งฟรีๆ ให้แก่ผู้กู้ มันจุดชนวนให้เกิดการเก็งกำไรรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนขึ้นภายในตลาดบ้าน ตลาดหุ้น และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

การพังพาบของราคาหุ้นทั้งหลายสร้างความเสียหายแก่เงินออมของผู้ที่ต้องพึ่งพิงอยู่กับเงินบำนาญคิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ การที่ผู้คนมีภาระจ่ายค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อราคาอสังหาฯ ทรุดต่ำรุนแรง นับเป็นการบีบคั้นอันโหดร้ายต่อภาคครัวเรือน นี่ยังไม่นับภาระจ่ายที่เพิ่มขึ้นแก่ครัวเรือนในด้านของภาษีอสังหาฯ ซึ่งกระฉูดสูงขึ้นมา ผนวกกับราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่แพงพุ่งอย่างเวอร์มากๆ ล้วนแต่เข้าไปเบียดบัง เข้าไปดูดขโมยงบค่าใช้จ่ายของครัวเรือนอย่างมหาศาล และบีบให้ผู้คนต้องไปตัดค่าใช้จ่ายในด้านของสินค้าจำเป็นอื่นๆ นับไม่ถ้วน

นโยบายของเบอร์นันกีนั้นมุ่งจะสร้างความเฟ้อฟูในราคาบ้านและสินทรัพย์ทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมิใช่การสร้างเสถียรภาพให้แก่ราคาของสินค้าเหล่านั้นเลย ในคำแถลง ณ เดือนมิถุนายน 2009 ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด มีอยู่ตอนหนึ่งว่า “ภายในสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ธนาคารกลางจะใช้เครื่องมือทุกอย่างเท่าที่สามารถนำมาใช้ได้ เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเพื่อสงวนรักษาเสถียรภาพด้านราคา ดั่งที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ในอันที่จะให้การสนับสนุนแก่ตลาดสินเชื่อจดจำนองและตลาดบ้านที่อยู่อาศัย และในอันที่จะปรับปรุงสภาพการณ์โดยรวมในตลาดสินเชื่อเอกชน ธนาคารกลางจะเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยหนี้จดจำนองของภาคสถาบันในปริมาณรวมกันสูงได้ถึง 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ กับจะเข้าซื้อหนี้ของสถาบันในปริมาณรวมกันสูงได้ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปลายปีนี้ นอกจากนั้น ธนาคารกลางจะซื้อหลักทรัพย์ของกระทรวงการคลังในปริมาณรวมกันสูงได้ถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้”

นอกเหนือจากการลดดอกเบี้ยลงไปเกือบจะศูนย์จุดศูนย์ศูนย์เปอร์เซ็นต์แล้ว เฟดยังพอกพูนยอดของสภาพคล่องระยะยาวที่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจจนมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยดำเนินการภายใต้เครื่องมือสินเชื่อสารพัดสารพัน นอกจากนั้น เฟดยังสร้างความเสี่ยงที่พ่วงอยู่กับสินเชื่อเหล่านี้ภายใต้เครื่องมือต่างๆ ของเฟด ดังนั้น ด้วยความพยายามที่จะจุดประกายการเก็งกำไรราคาบ้านที่อยู่อาศัยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะขับเคลื่อนให้ราคาของบ้านที่อยู่อาศัยพุ่งทะยานอีกสักรอบ เฟดจึงกำลังออกแรงผลักดันหนี้จดจำนองอสังหาฯ มูลค่าสูงเกือบจะ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว ความพยายามสร้างภาวะเฟ้อของราคาอีกรอบหนึ่งดังกล่าวไม่อาจประสบความสำเร็จได้ถ้าพวกธนาคารพาณิชย์ไม่พร้อมที่จะ“เล่นเกมอีกครั้ง” - โดยการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้กู้ซึ่งไม่มีศักยภาพจะรับผิดชอบภาระหนี้ได้จริง รวมทั้งจะไม่สำเร็จได้ถ้าผู้กู้ไม่แกล้งโง่เอาหัวมุดทรายและเล่นตามบทในเกมไปเรื่อยๆ – โดยการสร้างภาระหนี้จดจำนองอสังหาฯ เจ้าปัญหาที่พวกเขาไม่มีศักยภาพจะรับผิดชอบภาระหนี้ได้จริง

อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นจริงมีอยู่ว่าพวกแบงก์พาณิชย์ต้องก้มหน้าก้มตาแบกรับความเสียหายจากหนี้จดจำนองอสังหาฯ อันมีปริมาณมหึมา ขณะที่พวกเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัยก็ยังคงบทบาทเดิมคือการไร้ความสามารถที่จะรับผิดชอบภาระหนี้ของพวกตน ด้วยเหตุนี้ จึงแทบจะไม่มีแบงก์หรือเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัยรายใดที่จะยอมเล่นไปตามเกมของเฟด ทั้งที่เห็นอยู่ว่าเฟดท่านเต็มอกเต็มใจจะปั๊มเงินออกมาท่วมระบบ อีกทั้งเต็มใจแบกรับความเสียหายในหนี้จดจำนองอสังหาฯ ทั้งหมด ที่ผ่านมา เฟดสู้อุตส่าห์สร้างเครื่องมือเพื่อการอัดฉีดเม็ดเงินมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไปสนับสนุนเงินกู้ที่ให้แก่หลักทรัพย์ประเภทที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ซึ่งเรียกกันว่า Term Asset-Backed Securities Loan Facility หรือ TALF เพื่อช่วยให้ฝ่ายต่างๆ มีสภาพคล่องไปตอบสนองความต้องการสินเชื่อในหมู่ครัวเรือน (เช่น รถยนต์และบัตรเครดิต) และความต้องการสินเชื่อในแวดวงของธุรกิจขนาดเล็ก แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวคือการพาให้ผู้บริโภคจมดิ่งอยู่ในกองหนี้ และทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินจากสินเชื่อแทนที่จะจับจ่ายด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงแท้จริง ทั้งนี้ เป็นไปบนความหวังว่ามาตรการแบบนี้จะเข็นให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้

เบอร์นันกีดูเหมือนว่าค่อนข้างเด็ดเดี่ยวที่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพและความปลอดภัยของระบบการเงินสหรัฐฯ ให้มากๆ ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งที่เห็นอยู่ว่าอัตราหนี้เสียในสินเชื่อบุคคลได้ทวีตัวสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลแล้วก็ตาม ในเวลาไม่นานเกินรอ นโยบายเงินกู้ต้นทุนต่ำจะผันเปลี่ยนเป็นภาวะเงินเฟ้อและการบิดเบือนโครงสร้างเศรษฐกิจ แล้วจะส่งผลไปเป็นความเสียหายทางการเงินมากยิ่งขึ้นภายในระบบการธนาคาร ตลอดจนความเสียหายแก่ภาครัฐเองในรูปของการที่จะต้องเสียงบอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ในอันที่จะไปโอบอุ้มบุคคลและสถาบันที่ล้มละลายรอบใหม่ๆ ในอนาคต

ทั้งเฟดและทั้งรัฐบาลโอบามาติดแหง็กอยู่ในกับดักแห่งมาตรการการเงินการคลังที่ไม่สามารถยืนระยะได้เนิ่นนานนัก พวกนักการเมืองจะไม่ยอมให้ดอกเบี้ยเขยิบกลับขึ้นมาจากระนาบศูนย์เปอร์เซ็นต์นี้เพื่อสร้างเสถียรภาพแก่นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของพวกตน ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งได้สร้างหนี้ภาครัฐปริมาณสูงที่สุด ก็ย่อมคัดค้านอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเขยิบกลับขึ้นมา นอกจากนั้น บรรดาเฟดสาขาต่างๆ ก็เช่นกันที่จะค้านการปรับขึ้นดอกเบี้ย เหล่านี้จะทำให้ปัจจัยพื้นฐานด้านศักยภาพการแข่งขันของสหรัฐฯ ด้อยลงกว่าประเทศอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ ในกาลข้างหน้ายาวไกล ระบบเศรษฐกิจของโลกน่าจะถูกกดให้ประคองอัตราดอกเบี้ยไว้ ณ ระดับต่ำใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือกระทั่งลงไปในระดับติดลบ ผลกระทบจากเรื่องนี้จะไปบั่นทอนกำลังใจของคนออมเงินตลอดจนพวกนักลงทุนเอกชน ซึ่งนั่นหมายถึงการสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้คนจะเกิดความโน้มเอียงที่จะบริโภค และเอาดีทางการเก็งกำไรในตลาดสินทรัพย์กับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ พร้อมกับปิดกั้นโอกาสที่ราคาจะเกิดเสถียรภาพ

หันมองแนวโน้มผลกระทบต่อการจ้างงานบ้าง การจ้างงานนั้นสัมพันธ์อยู่กับผลผลิตแท้จริงผ่านสายสัมพันธ์ที่เรียกว่าการทำหน้าที่ในการผลิต อุปสงค์ต่อแรงงานเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องสร้างผลผลิตแท้จริงขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรูปของสินค้าหรือบริการ ดังนั้น การที่ระบบมีการสร้างผลผลิตแท้จริงน้อยลง ความจำเป็นในการจ้างแรงงานก็ย่อมลดลงเช่นกัน ที่ผ่านมา แม้เฟดปฏิเสธความจริงในเรื่องขนาดของปัญหาเงินเฟ้อด้วยการดูแต่ตัวเลขชี้ภาวะเงินเฟ้อตัวหลักซึ่งไม่รวมเอาราคาของอาหาร พลังงาน และสินทรัพย์เข้าไปคำนวณด้วยนั้น แต่ในเวลาเดียวกัน อุปสงค์แท้จริงภายในสหรัฐฯ ได้หดตัวลงแล้วภายใต้พลังกดดันของเงินเฟ้ออันรุนแรงในราคาของบ้านที่อยู่อาศัย พลังงาน อาหาร และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวจัดในตลาดแลกเปลี่ยนเงิน

ในเมื่ออัตราค่าจ้างไม่ขยับตัวได้รวดเร็วเพียงพอ ในเมื่อตัวเงินจากแหล่งของเงินบำนาญเป็นตัวเลขนิ่งสนิท และในเมื่อรายได้จากดอกเบี้ยเงินออมก็ต่ำมาก รายได้แท้จริงของแรงงานและผู้ที่กินเงินบำนาญจึงถูกริดรอนมูลค่าไปภายในภาวะแห่งเงินเฟ้ออันสูงลิ่ว และนั่นคือต้นเหตุที่การจับจ่ายแท้จริงของผู้คนลดน้อยถดถอยลงไป กล่าวคือลดลงราว 2.75% ในไตรมาส 3 ปี 2008 และ 2.99% ในไตรมาส 4 ปี 2008 อย่างไรก็ตาม การที่ราคาอาหารและพลังงานชะลอความร้อนแรงไปบ้าง ตัวเลขจึงกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยคือ 0.95% ในไตรมาส 1 ปี 2009 นอกจากนั้น แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ในเกณฑ์ติดลบ แต่ผู้คนก็ไม่กระตือรือร้นที่จะผันเม็ดเงินไปพอกพูนค่าในรูปของการลงทุน ดังปรากฏว่าการลงทุนเอกชนแท้จริงมีอัตราขยายตัวติดลบในช่วงระหว่างปี 2006-2008 และถึงกับดิ่งรุนแรงในอัตรา 8.2% ในไตรมาส 1 ปี 2009 การตกต่ำของภาคการลงทุนเอกชนแท้จริงนี้ส่งผลไปเป็นปฏิกิริยากระทบชิ่งไปมาต่อปฏิกิริยาผลกระทบเร่งตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ พร้อมกับกดดันผลผลิตแท้จริง ซึ่งดิ่งลงมาราว 6.3% ในไตรมาส 4 ปี 2008 และ 5.5% ในไตรมาส 1 ปี 2009 การติดลบด้านการคลังอันมหาศาลทำลายทุกสถิติของรัฐบาลอเมริกันในขณะนี้จะบีบไปยังการออมแท้จริงของภาคเอกชน และยิ่งทำให้การลงทุนแท้จริงในภาคเอกชนเหือดหายมากยิ่งขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสกัดกั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

มิลตัน ฟรีดแมนเสนอไว้ในปี 1968 ว่าธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมอัตราการว่างงานได้ อีกทั้งไม่สามารถควบคุมอัตราดอกเบี้ยได้ สิ่งที่ธนาคารกลางสามารถทำคือการควบคุมปริมาณเงินและปริมาณสินเชื่อ ดังนั้น เขาจึงเรียกร้องให้ใช้นโยบายการเงินแบบเน้นเสถียรภาพ ที่ผ่านมา เฟดได้ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลทางเศรษฐกิจและการเงิน พร้อมกับเป็นต้นเหตุให้การว่างงานขยายไปถึงระดับ 7 ล้าน ด้วยหวังจะเร่งขยายอุปสงค์รวมและจะดูดซับการว่างงานออกจากระบบให้ได้อีกครั้งหนึ่ง เฟดได้ตัดสินใจอัดฉีดเม็ดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ในรูปของสภาพคล่องระยะยาวระลอกใหม่ผ่านเครื่องมือการปล่อยสินเชื่อสารพันแบบ โดยดำเนินการในเวลาที่วงการธนาคารถูกท่วมท้นด้วยสินทรัพย์เป็นพิษและผู้บริโภคก็มีหนี้สินล้นพ้นเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว

สัดส่วนของสินเชื่อต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 350% ในปี 2008 และเห็นได้ชัดว่าไม่มีทางจะประคองให้อยู่รอดไปเรื่อยๆ ได้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีการล้มละลายและการลงบัญชีหนี้สูญกันอย่างใหญ่โต การบีบให้สัดส่วนตรงนี้ยิ่งพุ่งสูงลิ่วขึ้นไปอีกจะช่วยประคองความมั่นคงปลอดภัยของระบบการธนาคารได้นิดหน่อยเท่านั้น สภาพคล่องกองสูงได้เท่าภูเขาเลากาที่เฟดอัดฉีดเข้าระบบย่อมไม่ได้ถูกซุกไว้ใต้พรม มันมีแต่จะแผลงฤทธิ์ไปเร่งให้เงินเฟ้อยิ่งเตลิดหนักในท้ายที่สุด พร้อมกับบีบการเติบโตทางเศรษฐกิจกับตลาดงานไม่ให้ได้หายใจหายคอกันเลย อันเป็นสถานการณ์ที่สหรัฐฯ ได้ประสบตลอดมานับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2007

เฟดได้สร้างการบิดเบือนโครงสร้างเศรษฐกิจที่มหึมามหาศาล และได้ผลักให้หนี้ภาคเอกชนสูงลิ่วขึ้นไปเรื่อยๆ รัฐบาลโอบามาก็ตัดสินใจที่จะผลักให้หนี้ภาครัฐทะยานขึ้นเสียดฟ้า ในระดับที่ว่าเมื่อหนึ่งปีที่แล้วจะไม่มีใครสามารถคาดคิดจินตนาการถึงสถานการณ์เช่นนี้ได้เลย ในการนี้ หนี้ของภาครัฐและภาคเอกชนที่ไม่สามารถประคองตัวไปได้ยาวไกลนักนี้ จะส่งผลเป็นการจำกัดพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะหลายปีข้างหน้า ทั้งนี้ ตามประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ นโยบายการเงินการคลังที่ไม่สามารถประคองตัวได้ในระยะยาวจะไม่สามารถสร้างให้เกิดการเติบโตและการสร้างงานได้ สภาวะทางจิตวิทยาที่ผวาถึงความไม่แน่นอนอย่างรุนแรงได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายดาษดื่นภายในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับบั่นทอนพลังการขยายตัวของภาคการลงทุนเอกชนและการขยายการจ้างงาน ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าสินเชื่อที่หมิ่นเหม่จะล้มละลายเป็นปัจจัยตัวเอ้ในวิกฤตการเงินทุกครั้ง ไม่ว่าจะในคราวเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อช่วงปี 1929 อีกทั้งในวิกฤตการเงินครั้งต่างๆ ในระยะที่ผ่านมา

วิกฤตการเงินต่างๆ นานาเป็นปัจจัยให้เกิดการสร้างกฎระเบียบใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งรวมถึงกฎหมาย Pearl Act ปี 1844 ในประเทศอังกฤษ และกฎระเบียบที่ออกโดยรัฐบาลรูสเวลต์ ปี 1935 กระนั้นก็ตาม กฎระเบียบเหล่านี้ไม่อาจ และไม่สามารถป้องกันวิกฤตได้ในยามที่ธนาคารกลางเป็นฝ่ายที่จงใจจะบ่อนทำลายกฎหมายกฎเกณฑ์เหล่านี้เสียเอง พวกยอดฝีมือด้านเงินเฟ้อมักที่จะสามารถฉวยประโยชน์จากเงินไร้ต้นทุนที่ทางการอัดฉีดเข้าระบบเพื่อเร่งขยายอุปสงค์รวมและเพิ่มการจ้างงาน นโยบายด้านอุปสงค์เป็นเรื่องไม่เพียงพอที่จะบรรลุซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะนโยบายด้านอุปทานก็ต้องมีควบคู่กันไปด้วย ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ติดกับอยู่ในนโยบายการเงินการคลังที่ผิดฝาผิดตัวผิดที่ผิดทาง ซึ่งมีแต่จะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกับการสร้างงานยิ่งล่าช้าออกไปกว่าที่ควรเป็น

ฮอสเซน อัสการี เป็นศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศและด้านการเมืองระหว่างประเทศ ในมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน นูร์เรดดีน กริชเชเน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ในสังกัดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเป็นอดีตที่ปรึกษาธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม หรือ Islamic Development Bank ณ นครเจดดาห์
  • ยอดว่างงานกระฉูดในสหรัฐฯ: ยังไม่เห็นฝั่ง(ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น