xs
xsm
sm
md
lg

สามทหารเสือเจ้าพ่อเงินเฟ้อ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ฮอสเซน อัสการี และนูเรดดีน กริเชนเน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Inflationary musketeers
By Hossein Askari and Noureddine Krichene
12/05/2009

ผู้นำของธนาคารกลางชาติต่างๆ นำโดยเบน เบอร์นันกีแห่งสหรัฐอเมริกา, เมอร์วิน คิง แห่งอังกฤษ และฌอง-คล็อท ทริเชต์แห่งธนาคารกลางแห่งยุโรป พากันอัดฉีดเงินปลอมหลายล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก แต่พวกนี้ไม่สามารถที่จะหาของจริงใส่เข้าไปในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสักหนึ่งแกลลอน หรือข้าวสักหนึ่งถัง การพิมพ์เงินมหาศาลที่พวกนี้ทำอยู่ที่จริงแล้วมันจะแปรเป็นการเก็บภาษีเพิ่ม การปรับโครงสร้างการกระจายความมั่งคั่ง โดยมีผลลัพธ์คือภาวะเงินเฟ้อร้ายแรงรออยู่อย่างที่มิอาจหลีกหนีได้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ในท่ามกลางความอลหม่านทางการเงิน และในท่ามกลางเม็ดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่สาดเทเข้าไปอุ้มแบงก์พาณิชย์ใหญ่ยักษ์ทั้งหลายของระบบธนาคารแห่งโลกตะวันตก เพื่อต่อลมหายใจให้พ้นจากภาวะล้มละลายนั้น บรรดาแบงก์ชาติในหลากหลายประเทศพากันยืดอายุนโยบายขยายปริมาณเงินแบบที่เรียกว่าสุดลิ่ม เพียงเพื่อหวังจะฟื้นชีพกระบวนการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจนั่นเอง

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หั่นดอกเบี้ยลงเหลือ 1% และประกาศจะสร้างเงินจำนวนมหาศาล“ออกมาจากอากาศธาตุ” และในลีลาละม้ายกัน แบงก์ชาติอังกฤษกำหนดอัตราดอกเบี้ยของประเทศที่ระดับ 0.5% อันเป็นอัตราต่ำที่สุดนับจากที่แบงก์ชาติเจ้านี้ถูกสถาปนาขึ้นในปี 1694 พร้อมกับประกาศโครงการพิมพ์เงินปริมาณมหาศาลออกมาสนับสนุนมาตรการดอกเบี้ยถูกของตน

นโยบายการเงินแบบนอกรีตนอกรอยนี้ ซึ่งประกอบด้วยการบิดเบือนอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สะท้อนความเป็นจริง และการพิมพ์เงินออกมากันอย่างมโหฬาร นอกจากจะเป็นไปโดยสอดคล้องกับนโยบายโหมกระพือกระแสซูเปอร์เงินเฟ้อของกลุ่มประเทศจี-20 แล้ว ยังเป็นการแก้เผ็ดธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา(เฟด) ซึ่งหั่นดอกเบี้ยอ้างอิงในประเทศแตะระดับ 0% พร้อมการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อหล่อเลี้ยงผู้บริโภคอเมริกัน ตลอดจนผู้กู้เงินเพื่อการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์

ผลที่ตามมาคืออัตราดอกเบี้ย LIBOR อันเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดลอนดอน ร่วงลงแตะจุดต่ำสุด ลึกที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้ต้นทุนสินเชื่อถูกลงมาอย่างน่าเย้ยหยัน ในการนี้ กลุ่มจี-20 ได้กำหนดเป้าหมายไว้แล้วว่า นอกจากที่สินเชื่อจะถูกยัดเยียดให้แก่ผู้กู้ในประเทศด้วย และสินเชื่อแบบไร้เงื่อนไขจะถูกอัดเข้าไปยังประเทศกำลังพัฒนาด้วย โดยที่มีระดับดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเหลือเกินและมีปริมาณเงินของตระกร้าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมหาศาลไม่มีการอั้นใดๆ ทั้งสิ้นอย่างนี้ ระบบเศรษฐกิจของโลกได้ถูกกำหนดชะตาขึ้นมาแล้วว่า มันจะต้องไปถึงโมงยามแห่งภาวะเงินเฟ้อร้ายแรงที่สุดเท่าที่จะมีการจดจำกันไว้

เหล่าธนาคารกลางของชาติต่างๆ จึงตกอยู่ในล็อกอันแน่นหนาแห่งสงครามว่าด้วยการแข่งกันขยายปริมาณเงินพร้อมกับแข่งกันลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนี้เป็นสงครามที่ถอยกลับไม่ได้ด้วย แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือ มันกำลังส่งผลเป็นการดันระดับความไร้เสถียรภาพทางการเงินและทางเศรษฐกิจให้สูงลิ่วขึ้นไปเรื่อยๆ ในการนี้ แม้บรรดาธนาคารกลางของชาติใหญ่ๆ แห่กันอัดฉีดเม็ดเงินเทียมเข้าสู่ระบบเป็นเรือนล้านล้าน แต่แบงก์ชาติเหล่านี้ไม่สามารถที่จะหาของจริงใส่เข้าไปในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสักหนึ่งแกลลอน หรือข้าวสักหนึ่งถัง ดังนั้น การพิมพ์เงินนับอเนกอนันต์เช่นนี้ ที่จริงแล้ว มันคือจะสะท้อนไปสู่การเก็บภาษีไปชดเชยขนานแท้และดั้งเดิม อีกทั้งจะพาไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในเวลาเดียวกัน ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่นี้ ประเทศอุตสาหกรรมมากมายกำลังใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณกันบานเบิก รายที่กระฉ่อนเกินใครๆ ทั้งปวงก็คือ สหรัฐฯ ซึ่งมีประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินนโยบายขาดดุลงบประมาณสูงถึง 1.85 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2009 นี้ อันเทียบเท่ากับ 13% ของจีดีพีประเทศทีเดียว นอกจากนั้น หลังจากที่นานารัฐบาลแห่กันพิมพ์แบงก์ออกมาท่วมท้นระบบอย่างมหาศาลและใช้นโยบายขาดดุลทางการคลังอย่างมโหฬารในท่ามกลางการกระตุ้นเร้าจากที่ประชุมสุดยอด จี-20 นั้น บรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศเหล่านี้แสดงหน้าชื่นบานประกาศว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรออยู่แค่เอื้อม ซึ่งเป็นการประกาศวาทะโดยไม่ตระหนักถึงมรดกบาปที่เกิดจากการใช้นโยบายการเงินหละหลวมต่อเนื่องยาวนานจากปี 2000 จรดจนปี 2008 มรดกบาปดังกล่าวนี้ก็คือ ระบบการเงินที่ย่อยยับไปแล้ว กับสภาวะเสื่อมถอยรุนแรงที่ดำเนินอยู่ในกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจแท้จริงและในตลาดแรงงาน

“การทดสอบสมรรถนะ”ของแบงก์พาณิชย์ชั้นนำ 19 แห่งในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าแบงก์เหล่านี้ประสบปัญหาขาดทุนอยู่ในระดับ 599,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 ทั้งที่ได้รับอัดฉีดจากโครงการบรรเทาสินทรัพย์มีปัญหา ซึ่งมุ่งเพื่อช่วยปิดส่วนที่ขาดทุน แน่นอนว่าการทดสอบนี้ไม่ได้ดำเนินการกับแบงก์พาณิชย์จำนวนกว่า 8,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งล้วนเผชิญปัญหาขาดทุนจากการปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้ หากมีการทำทดสอบโดยทั่วหน้า ยอดขาดทุนอาจพุ่งเป็นหลายล้านล้านดอลลาร์

การขยายปริมาณเงินเมื่อช่วง 2000-2008 กดดันให้อัตราดอกเบี้ยดิ่งแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผนวกรวมกับการใช้นโยบายขาดดุลการคลังอย่างมากมายในสหรัฐฯและยุโรป นโยบายนี้จึงสร้างให้เกิดการเติบโตแบบที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ในท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงลิ่ว และเป็นการเติบโตที่หมดแรงเอาดื้อๆ ในปี 2008 ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่การเก็งกำไรแบบไร้ข้อจำกัดภายในตลาดสินทรัพย์และตลาดโภคภัณฑ์ ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยทะยานขึ้นไป 4 เท่าตัวในบางประเทศ และราคาน้ำมันก็พุ่งสูงถึงระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาสินค้าหมวดอาหารก็ขี่จรวดพรวดเสียบฟ้าขึ้นจนปะทุเป็นการจลาจล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินก็ต้องประสบภาวะไร้เสถียรภาพอย่างรุนแรง

นโยบายเงินต้นทุนถูก ได้รับการเปรียบเทียบจากนักเศรษฐศาสตร์หลายรายว่าเป็นสิ่งควบคู่กับภาวะเงินเฟ้อและการเก็งกำไร กล่าวก็คือ พวกนักเก็งกำไรสร้างรายได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมีปัจจัยเอื้อ 3 สิ่งคือ การที่ราคาไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ การที่ต้นทุนดำเนินการต่ำมากๆ (หมายถึงเงินที่กู้มาดำเนินงานเป็นเงินสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ) และการที่ผู้บริโภคเดินหน้ากู้เงินอย่างต่อเนื่องทั้งที่หมดศักยภาพในการชำระคืนหนี้ ปรากฏการณ์ทำนองนี้มักจบลงด้วยการล้มละลาย กับความโกลาหลทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แผลงฤทธิ์ให้เห็นกันแล้วในสารพัดวิกฤตการเงินในสกุลเงินต่างๆ

เรามาลองดูต้นทุนแท้จริงของนโยบายการเงินอันนี้กัน มันผลักดันภาวะว่างงานในสหรัฐฯ ให้พุ่งขึ้นแตะระดับ 8.9% เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2009 ซึ่งไม่ช้าคงได้เห็นอัตราว่างงานวิ่งถึงตัวเลขสองหลักแน่ โดยที่ว่าสถานการณ์คงย่ำแย่หนักกว่านี้ในหลากหลายประเทศอุตสาหกรรมฝั่งยุโรป สภาพคล่องส่วนเกินที่บรรดารัฐบาลของประเทศทั้งหลายขยันอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ ได้ขับเคลื่อนระดับของสินเชื่อให้ขยับสูงลิบลิ่วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกันมาก่อน พร้อมกับผลักดันเงินกู้ปริมาณมหาศาลไปสู่ผู้กู้กลุ่มซับไพรม์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์มากล้น แต่เป็นทรัพย์ที่ผู้กู้ไม่มีวันจะสามารถชำระคืนได้หวาดไหว

นอกเหนือจากที่นโยบายเหล่านี้ฉุดให้ประเทศไอซ์แลนด์ถึงแก่กาลล้มละลายแล้ว มันยังทำเอาแบงก์พาณิชย์มากมายในสหรัฐฯ และยุโรปล้มละลายไปเป็นเบือ เกิดกลายเป็นความจำเป็นที่จะต้องทุ่มเทเงินหลายล้านล้านดอลลาร์เข้าไปอุ้มให้แบงก์เหล่านี้ประคองตัวพ้นวิกฤต นอกจากนั้น มันขจัดมูลค่าของหุ้นให้หายวับไปเป็นเรือนล้านล้านดอลลาร์ มันผันผายความมั่งคั่งอันมหึมาไปสู่ผู้กู้ ซึ่งไม่เคยลงทุนกับอะไรเพื่อความมั่งคั่งนี้ อีกทั้งไม่มีวันจะสามารถชำระคืนหนี้นี้ได้เป็นอันขาด คนอเมริกันที่เป็นเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัยจำนวนมหาศาลซื้อบ้านเหล่านี้มา ณ ราคาสูงเว่อร์ในตลาดอันเต็มไปด้วยการเก็งกำไรจนมูลค่าสินค้าเฟ้อหาความเป็นจริงไม่เจอ แล้วตอนนี้รัฐบาลก็เล่นบทเทวดาใจดี จ่ายเงินให้กันง่ายๆ ถ้าไม่มีรัฐบาลมาโอบอุ้มเฟรดดี แมค กับแฟนนี เม สองยักษ์ผู้ค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย ป่านนี้จีนจะเป็นผู้ที่ต้องจ่ายค่าความล้มละลายในตลาดหนี้จำนองอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ไปเรียบร้อยโรงเรียนอเมริกาแล้ว ใช่แต่เท่านั้น แม้แต่เรื่องรถยนต์อันหรูหราฟุ่มเฟือยและค่าน้ำมันที่เคยแพงลิบลิ่วก็ตาม ผู้บริโภคก็ได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายที่ผ่านอยู่ในกลไกของหนี้บัตรเครดิตเป็นที่รื่นรมย์แล้ว

พวกผู้กำหนดนโยบายมิได้ดำเนินการอันเหมาะควรกับคำถามสำคัญมากมาย อาทิ ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์วุ่นวายเรื่องอาหารและการประท้วงเรื่องพลังงานในปี 2007-08 คำตอบสำหรับเรื่องเหล่านี้มีเฉลยไว้นานแล้วโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อจาคส์ เรอฟ์ ซึ่งกล่าวว่ามาตรการของแบงก์ชาติที่อัดฉีดเม็ดเงินบริสุทธิ์เข้าระบบสามารถส่งผลไปเกิดเป็นความอดอยาก เงินที่แบงก์ชาติปั๊มออกมาจากความว่างเปล่าก็เสมือนกันเงินเฟ้อบริสุทธิ์ ซึ่งจะส่งผลถึงเรื่องของภาษีและการริบเอามูลค่าในทรัพย์ของประชาชนออกไปนั่นเอง มันเป็นการริบทรัพย์จากผู้ผลิตแล้วมอบแก่ผู้กู้ไปฟรีๆ

นี้เป็นที่รู้จักกันในอีกมุมหนึ่งว่า การขยายสินเชื่อโดยไม่มีค้ำประกัน สำหรับการปล่อยสินเชื่อโดยแบงก์พาณิชย์ทั่วไป แบงก์ควักเงินจากส่วนของเงินออมที่มีในมือ แต่เมื่อแบงก์ชาติอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบโดยเป็นการปั๊มธนบัตรขึ้นมาแบบปราศจากสินทรัพย์รองรับ มันจึงละม้ายกับการปล้นทรัพย์นั่นเอง ดังนั้น ด้วยเงินอัดฉีดอันว่างเปล่านี้ พวกแบงก์ชาติทำให้ผู้กู้สามารถบริโภคอาหารและซื้อหาพลังงานไปใช้ได้โดยที่ผู้กู้ไม่ได้มอบสินทรัพย์แท้จริงใดๆ คืนกลับไป ซึ่งก็คือการผันทรัพย์ไปยังผู้กู้ซึ่งไม่ได้ร่วมสร้างทรัพย์ใดๆ ขึ้นมาทั้งสิ้น

ผลที่ตามมาคือ ผู้ผลิตตัวจริง อาทิ เกษตรกร แรงงานรับจ้าง สายการบิน ชาวนา และนักอุตสาหกรรมทั้งหลาย ต้องสูญเสียทุนแท้จริง พร้อมกับพบความเป็นจริงว่าอาหารและพลังงานในมือของพวกตนถูกลดทอนไป ทั้งที่ ปัจจัยเหล่านี้เป็นทุนอันจำเป็นเพื่อการลงทุนและการผลิต การสูญเสียทุนไปเอื้อเฟื้อแก่ผู้กู้ปรากฏออกมาในรูปของราคาอาหารและราคาพลังงานที่พุ่งแพงลิ่ว ในการนี้ ชนชั้นผู้ยากไร้ในประเทศซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจยอบแยบคือผู้ที่ต้องแบกรับภาระภาษี และต้องเผชิญกับการที่ปริมาณอาหารลดน้อยจนถึงขั้นอดอยาก และจุดชนวนขึ้นเป็นการจลาจลต่างๆ

ในทางละม้ายกัน คนขับรถบรรทุกในสหรัฐฯ และยุโรป ก็ต้องแบกภาระภาษี กับเผชิญกับการที่ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงลดน้อยลงและมีราคาแพงขึ้นมาบั่นทอนการดำเนินงานของพวกเขา และกระตุ้นให้พวกเขาลุกขึ้นมาประท้วง ทั้งนี้ เม็ดเงินที่พวกแบงก์ชาติอัดฉีดเข้าระบบได้ทำลายฐานเงินออมและลดมูลค่าของทุนเพื่อการผลิต พร้อมกับส่งผลไปลดทอนการเติบโต มันเป็นการหั่นมูลค่าแท้จริงของค่าจ้างและเงินบำนาญ อีกทั้งยังเป็นการทำให้ชนชั้นล่างๆ ของสังคมต้องถลำลงไปในความยากจน

คำถามที่จะต้องตอบสำหรับวันนี้คือ มาตรการของแบงก์ชาติไม่ว่าจะเรื่องดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือเรื่องเม็ดเงินอัดฉีดท่วมระบบแบบไม่มีคำว่าอั้น จะนำไปสู่การฟื้นตัวได้หรือภายใต้สภาพการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจโลก แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์นั้นไม่ใช่อัตราที่ใช้กันในตลาด ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ย่อมหมายถึงว่าเงินทุนจะมีอัตราผลตอบแทนเท่ากับศูนย์ เวลาจะมีมูลค่าแค่ศูนย์ จึงไม่จำเป็นที่จะไปทำการลงทุน ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็จะไม่เกิดขึ้น

ส่วนถ้าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ในระดับติดลบ อัตราดอกเบี้ยย่อมจะติดลบ และการเติบโตทางเศรษฐกิจแท้จริงก็ติดลบด้วย ดังนั้น โดยคำจำกัดความแล้ว อัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์เป็นอัตราที่แบงก์ชาติบีบให้เป็นอย่างนั้น และจึงเป็นเรื่องที่บิดเบือนความเป็นจริง กับจะนำไปสู่การที่ทรัพยากรถูกแจกกระจายออกไปอย่างไร้ประโยชน์และไม่เป็นธรรมทางสังคม พร้อมกับเร่งให้เกิดการเก็งกำไร

ฮอสเซน อัสการี เป็นศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศและการระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ ส่วน นูเรดดีน กริเชนเน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และอดีตที่ปรึกษาธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม ณ กรุงเจดดะห์

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • สามทหารเสือเจ้าพ่อเงินเฟ้อ (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น