xs
xsm
sm
md
lg

จีนยังก้าวไม่ถึงระดับมหาอำนาจของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย-ขวา)ประธานาธิบดีจีนหู จิ่นเทา,ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา ,นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ร่วมกันถ่ายภาพที่วินฟิลด์ เฮาส์ บ้านพักรับรองของสถานทูตสหรัฐฯในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 1 เมษายน - ภาพ เอเอฟพี
เอเยนซี – ทั่วโลกรอลุ้นว่าการประชุมจี-20 จะช่วยให้โลกรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้หรือไม่ ขณะที่การปรากฎตัวของจีนได้กลายเป็นความหวัง ว่าจะเป็นตัวแปรที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าขั้นตรีทูตฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนี่ง

หนังสือ “Unhappy China” ที่กำลังได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เป็นการผสมผสานระหว่างลัทธิคลั่งชาติกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ที่มีต่อการไร้การจัดการของชาติตะวันตกกับความลังเลของจีนที่จะยึดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความหวังที่ทั่วโลกเห็นว่าจีนจะเข้ามาช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจของโลกได้ ด้วยการเพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่ไอเอ็มเอฟ และการเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียแทนที่สหรัฐฯ

แต่การเจรจาทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน และประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (1 เม.ย.) ระหว่างการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ จี-20 ที่กรุงลอนดอน กลับทำให้หลายฝ่ายมองว่าจีนได้ทำลายโอกาสที่จะทำให้ตนเองเป็นจุดสนใจในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ไปอย่างน่าเสียดาย

ทำให้หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน ไชน่า เดลี่ ฉบับที่ตีพิมพ์ในวันพุธ (2 เม.ย.) ได้ออกมาส่งสัญญาณต่อชาวโลกว่า เศรษฐกิจของจีนนั้นไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่ชาวโลกคิดกันไว้

ความลังเลของชาติที่มีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมามองว่า จีนยังเป็นเด็กที่อ่อนหัด

“จีนป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจ นั่นคือความจริง สิ่งที่จีนพูดและกระทำต่างส่งผลต่อการเงินระหว่างประเทศ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเศรษฐกิจด้านอื่นๆ” นายฉู่ ชูหลง ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาของมหาวิทยาลัยซิงหัวในกรุงปักกิ่ง ระบุ และยังว่า แต่ความจริงอีกด้านก็คือ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้จีนมีความพิกลพิการอยู่ นั่นคือ ความยากจนที่มีอยู่ทั่วไป การปกครองแบบเบ็ดเสร็จ และการล้อมกรอบด้านวัฒนธรรม หากจีนยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีโลก
หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศจีนต่างลงภาพหน้าหนึ่งของประธานาธิบดีหู จิ่นเทานั่งเจรจากับประธานาธิบดีสหรัฐบารัก โอบามา - ภาพ เอเอฟพี
นอกจากนี้ อนาคตทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังคงพัวพันกับสหรัฐฯ ที่เป็นทั้งลูกค้ารายใหญ่ คู่แข่ง ลูกหนี้ และยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจ อย่างลึกซึ้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้จึงจะออกมาป่วนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างการเงินของโลก และสะใจกับราคาที่สหรัฐฯ ต้องจ่าย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนยังขึ้นอยู่กับการฟื้นคืนชีพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความเจริญรุ่งเรือของจีนที่ปรากฎอยู่ในเวลานี้ กล่าวคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าปีนี้จีนจะโตถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์ การที่ชื่อธนาคารของจีน 3 แห่งติดอันดับท๊อป 20 ของธนาคารจากทั่วโลก ขณะที่เมื่อสามปีที่แล้วไม่มีชื่อของธนาคารจีนติดอยู่เลย นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนยังได้กว้านซื้อบริษัท เทคโนโลยี และทรัพยากร จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ในปีนี้ จีนได้ลงทุนในยุโรปไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังวางแผนที่จะลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันระยะยาวกับบราซิลและรัสเซีย และกำลังเจรจาซื้อหุ้นกับบริษัทเหมืองแร่ในออสเตรเลียอีก 3 แห่งคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ถือครองพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากการเกินดุลทางการค้าและการไหลเวียนของเงินลงทุน อีก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ยังเป็นหนี้จีนอีกด้วย

เป็นที่ชัดเจนว่าจีนตั้งเป้าที่จะมีบทบาทในเวทีโลก โดยได้เพิ่มงบประมาณด้านการทหารเป็นตัวเลข 2 หลักจากจีดีพี และกำลังเพิ่มศักยภาพกองทัพเรือให้เป็น blue-water navy และเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ยังได้ส่งเรือ 3 ลำออกไปลาดตระเวนในน่านน้ำของโซมาเพื่อป้องกันการปล้นทางทะเล ซึ่งถือเป็นการส่งเรือออกไปลาดตระเวนนอกน่านน้ำจีนเป็นครั้งแรก

นักวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศ กล่าวว่า จีนมีความมั่นใจต่อการดำเนินงานด้านการทูตและการทหารมากขึ้น ด้วยการออกมาวิจารณ์สหรัฐฯ อย่างรุนแรงในเรื่องนโยบายด้านงบประมาณ ไปจนถึงเรื่องการควบคุมทะเลจีนใต้

เคนเน็ธ จี. ลิเบอร์ธาล นักวิชาการจากสถาบันบรู๊คกิ้ง และผู้จัดทำนโยบายด้านเอเชียสำหรับผู้นำสหรัฐฯ ระหว่างปี ค.ศ. 1998-2000 กล่าวว่า ตามที่เคยปฏิบัติมานั้นจีนมักจะยินยอมทำตามสหรัฐฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ “แต่ในการประชุมร่วมกับจีนหลายๆ ประเด็นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผมต้องประหลาดใจในวิธีการเจรจาของจีนที่เหมือนกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เขาทำกัน”

นายลิเบอร์ธาล ยังกล่าวอีกว่า จีนเป็นประเทศที่รุ่งเรือในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังวิกฤต และเมื่อวิกฤตสิ้นสุดลง จีนคงจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยรัฐบาลไม่ได้สร้างหนี้ไว้มากนัก “การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกำลังเกิดขึ้น เมื่อจีนมั่นใจมากขึ้นประเทศตนเองมีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำให้ตัวเองสำคัญ”

แต่ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้น้ำหนักทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นโดยปริยาย ในกรณีของจีนนั้นยังมีส่วนประกอบที่จะทำให้เป็นมหาอำนาจอีกหลายประการขาดหายไป เช่น ความกวัดแกว่งทางด้านคุณธรรม การใช้กำลังทหารเพื่อปราบปราม และการควบคุมทางด้านวัฒนธรรม เป็นต้น

แม้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ก็พบว่าประชากรจีน 800 ล้านคนจากทั้งประเทศ 1,300 ล้านคน ยังคงเป็นชาวนาที่ชีวิตติดหล่มกับความยากจน จีนยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังแข่งขันเพื่อเปลี่ยนสถานภาพ

“ผมยังไม่กล้าเรียกจีนว่ามหาอำนาจ เพราะมันยังไม่ใช่ จีนยังไม่มีกำลังทหารเทียบเท่ากับมหาอำนาจ อำนาจของจีนยังคงมีจำกัด และอิทธิพลด้านการทูตของจีนก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะบางพื้นที่ อย่างเช่น ตะวันออกกลาง และลาติน อเมริกา” นั่นคือความเห็นจาก นายเดวิด แชมเบอร์ช ผู้อำนวยการโครงการนโยบายจีนแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น