xs
xsm
sm
md
lg

จีนตะลุยลงทุนกาฬทวีป กลางพายุเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานชาวคองโกกำลังเก็บตัวอย่างแร่ โดยมีหัวหน้าชาวจีนคอยคุมอยู่ที่แค้น Katanga ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุ – เฮอรัลด์ ทริบูน
รอยเตอร์ – แม้การส่งออกของจีนถูกวิกฤตเศรษฐกิจโลกตีกระหน่ำ ซึ่งพลอยทำให้ปริมาณการขนส่งแร่จากทวีปแอฟริกามายังแดนมังกรดิ่งลง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า ผลประโยชน์ในระยะยาวของจีนในกาฬทวีปยังคงมีอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

เศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโตลงอย่างรวดเร็วกว่าชาติเศรษฐกิจรายใหญ่อื่น ๆ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ระบุว่า อาจปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลงจากร้อยละ 9 ที่คาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม ลงเหลือราวร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจีนสามารถโตถึงร้อยละ 8 ได้ในปี 2552

ในสภาพการณ์เช่นนี้ รัฐบาลและนักธุรกิจจีนยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในทวีปแอฟริกา “เราจะยังคงมีโครงการช่วยเหลือสำหรับที่นี่อย่างเข้มแข็งต่อไป และบริษัทจีนจะยังคงลงทุนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในแอฟริกา เพราะ เป็นทางออกที่มีแต่ชนะ” นายหยาง เจี้ยฉือ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวที่ประเทศแอฟริกาใต้เมื่อกลางเดือนมกราคม

ด้านเดวิด ชินน์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเอธิโอเปีย และบูร์กินา ฟาโซ และเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนด้านกิจการระหว่างประเทศเอลเลียตต์ (Elliott School of International Affairs) ของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันเชื่อว่า จีนจะยังคงอยู่ในทวีปแอฟริกาต่อไปในระยะยาวและเป็นการปักหลักอย่างมียุทธศาสตร์

ทุ่มเงินเพื่อความมั่นคงด้านวัตถุดิบ

ที่ผ่านมา รัฐบาลและบรรดาบริษัทของจีนให้คำมั่นช่วยเหลือประเทศในกาฬทวีปมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ในรูปของเงินกู้และการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ก็เพื่อจุดประสงค์สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบสำหรับจีน ซึ่งเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในโลก

ขณะที่ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปีในช่วงทศวรรษนี้ โดยมูลค่าพุ่งสูงเกือบ 107,000 ล้านดอลลาร์ในปี2551

นอกจากจะไม่ถอยหนีแล้ว นักธุรกิจจีนยังกำลังช่วงชิงการทำสัญญาการเข้าซื้อกิจการที่นั่นอีกด้วย เช่นบริษัทของจีนและอินเดียต่างแสดงความสนใจเข้าซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตแร่โคบอลต์รายใหญ่สุดของแซมเบีย หลังจากบริษัทระงับการทำเหมืองไปเมื่อเดือนธันวาคม

สแตนดาร์ดแบงก์ของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (TCBC) ถือหุ้นร้อยละ 20 ระบุเมื่อเดือนธันวาคมว่า ทางธนาคารกำลังแนะนำให้นักธุรกิจชาวจีน ซึ่งต้องการลงทุนทำเหมืองแร่ เข้าซื้อโอกาสที่เปิดรออยู่ในแอฟริกาและที่อื่น ๆ ในปี 2552 ซึ่งนักธุรกิจชาวจีนให้ความสนใจมาก เนื่องจากยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอีกด้วย

โอกาสเหมาะสำหรับชิงส่วนแบ่งตลาด

นอกจากการทำเหมืองแร่แล้ว วิสาหกิจรัฐของจีนยังกำลังเดินหน้าเข้าลงทุนเชิงยุทธศานตร์ในภาคพลังงานและสิ่งสาธารณูปโภค ขณะที่บริษัทเอกชนขยายการลงทุนในภาคเทคโนโลยี

“ชาติร่ำรวยตะวันตกบางชาติ ซึ่งถูกวิกฤตการเงินกระหน่ำ กำลังลดการลงทุนในแอฟริกา นี่เป็นโอกาสดีทีเดียวสำหรับธุรกิจจีนในการขยายการลงทุนและส่วนแบ่งตลาดในแอฟริกา” นายชุย หย่งเชียน อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง กล่าวในที่ประชุมการค้าระหว่างจีนกับแอฟริกาเมื่อเดือนมกราคม

ขณะที่การค้ากับแองโกล่า แหล่งน้ำมันดิบใหญ่ที่สุดของจีนในแอฟริกา พุ่งถึง 25,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2550 นอกจากนั้น ปักกิ่งยังเสนอให้เงินกู้ ซึ่งมีน้ำมันค้ำประกัน อีกจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์

ด้านบริษัทหัวเหว่ย เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสารรายใหญ่สุดของจีน กำลังขยายฐานที่มั่นการลงทุนจากทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ลงมายังตอนใต้อีกด้วย
สาวจีนเดินผ่านแผนที่ทวีปแอฟริกา
จัดตั้งเขตเศรษฐกิจปลอดภาษี

ที่แซมเบีย บริษัทไชน่า น็อน-เฟอร์รัส แมตเทิลส์ คอร์เปอเรชั่น (China Non-Ferrous Metals Corporation) กำลังเปิดโรงถลุงทองแดงในเดือนมกราคม ที่เมือง แชมบิชี ซึ่งแซมเบียจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจปลอดภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีน

นอกจากนั้น ชาติทั้งสองยังเปิดเขตเศรษฐกิจแห่งที่สองใกล้กับกรุงลูซากา ซึ่งบริษัทจีนจะใช้เป็นที่ประกอบชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือสำหรับการส่งออก

ไม่ผลีผลามขยายการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่จีนเดินหน้าขยายธุรกิจ แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ส่งผลให้ธุรกิจของจีนในบางพื้นที่ของแอฟริกาต้องปิดตัวลง หรือมีการทบทวนสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์บางฉบับ ซึ่งได้แก่การลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และในประเทศกินี

คองโก ซึ่งเคยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากความมั่งคั่งด้วยแร่ทองแดง, โคบอลต์ ,ทองคำ และทรัพยากรแร่ชนิดอื่น ๆ ขณะนี้ การลงทุนซาลงไป เช่นบริษัทเอกชนของจีนรายหนึ่งในมณฑลเซินเจิ้น ซึ่งส่งขายโคบอลต์และนิเกิลสำหรับผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือนั้น ได้ปิดโรงงานที่มีอยู่หลายแห่งในคองโก และยังไม่มีแผนกลับไปผลิตในระยะเวลาอันใกล้

ส่วนกินี ผู้ส่งออกแร่อะลูมิเนียมอันดับหนึ่งของโลก ต้องการบรรลุข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับจีน เพื่อนำเงินมาก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ, ถนนหนทาง และสะพาน โดยแลกเปลี่ยนแร่กับจีน

อย่างไรก็ตาม การเจรจายังไม่ประสบความคืบหน้า เนื่องจากบรรยากาศเศรษฐกิจในปัจจุบัน และปัญหาการเมืองในกินีเอง เช่นเดียวกับกาบ็อง ที่ยัง
ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงความช่วยเหลือมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์กับจีนได้ในท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจที่ไร้ความแน่นอน โดยกาบ็องไม่อาจทำอะไรจีนได้ นอกจากได้แต่กล่าวหาจีนว่าเตะถ่วงการเจรจาเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น