xs
xsm
sm
md
lg

การเติบโตที่เหมาะสมแก่อนาคต

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ เดวิด พีเดอร์เซน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Growth fit for the future
By Peter David Pedersen
22/04/2009

ผู้คนทั่วโลกต่างตระหนักดีว่าโลกไม่อาจอยู่รอดได้ภายใต้โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม ความต้องการของมนุษย์จะไม่มีวันหมดสิ้นลงได้ ทางออกนั้นมีอยู่ โดยจะเอื้อให้มนุษย์ได้รับทั้งการบริโภคและโอกาสทางธุรกิจอันมหาศาลอย่างไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อน – แถมยังช่วยสร้างโลกใหม่ที่เหมาะสมสำหรับมนุษยชาติ

ระบบเศรษฐกิจใหม่มาจ่อรออยู่ปากประตูแล้ว มันไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่เราเคยรู้จักในชื่อของ “ระบบเศรษฐกิจใหม่” (the new economy) อีกทั้งไม่ใช่เรื่องของการเติบโตด้วยแรงขับเคลื่อนของพลังเทคโนโลยีสารสนเทศแบบที่ดำเนินอยู่ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่มันเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับจะแปลงโฉมวิถีวิธีที่ผู้คนเคยใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบธุรกิจ

ชื่อของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ว่านี้คือ“ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศ” (the ecological growth economy) มันคือความเป็นจริงรูปแบบใหม่ของโลกซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องมี เพื่อการเจริญก้าวหน้าของมนุษย์และเพื่อการเอาชีวิตรอดสืบไปของเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ ในการนี้ทางเลือกของพวกเรามีอยู่ว่า เราจะเร่งมือช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตไปกับระบบนิเวศตั้งแต่วันนี้ หรือเราจะปล่อยให้ลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไป ต้องตกอยู่ในความทุกข์ทรมานนานนับศตวรรษ

ข้อเลือกของเรานั้น ตัดสินใจไม่ยากเลยใช่ไหม อย่างไรเสียเราก็ย่อมจะเลือกความก้าวหน้าของมนุษยชาติมากกว่าความทุกข์ทรมาน กระนั้นก็ตาม เรากลับไม่ได้ดำเนินการตามทางเลือกด้วยอัตราความเร็วและขนาดความทุ่มเทที่มากมายและจริงจังเพียงพอ ทั้งนี้ การไม่ใส่ใจที่จะเข้ารับรู้เผชิญปัญหา ความเฉื่อยชาของสถาบัน ผลประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งความโลภ ล้วนเป็นสาเหตุใหญ่ที่เราดำเนินการล่าช้าเหยาะแหยะ แต่โลกยังไม่สิ้นความหวัง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีความรู้เป็นอาวุธ มีความตั้งใจดีเป็นพลังขับเคลื่อน กับมีภูมิปัญญาเป็นเครื่องมือสำคัญ

ชนกลุ่มใหญ่ของโลกตระหนักดีว่า มนุษย์ไม่สามารถอยู่รอดได้หากไม่พัฒนาตัวเองสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศ ผู้คนส่วนมากเต็มใจจะเข้าร่วมกระบวนและพร้อมจะเสียสละเพื่อผลักดันให้ชุมชนมนุษย์บรรลุถึงระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ในอันที่ช่วยสืบสานความก้าวหน้าของมนุษยชาติไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน

**การเติบโตเป็นความชั่วร้ายหรือ? **

ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศไม่ได้หมายความถึงการสูญเสียสิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่ อีกทั้งจะไม่เป็นเหตุให้การเติบโตของสังคมต้องลดน้อยลงหรือกระทั่งหมดโอกาสที่จะเติบโต มันไม่ใช่ว่ามนุษย์จะต้องมีไลฟ์สไตล์ที่ปราศจากสีสรรหรือความสนุกสนาน ตรงกันข้าม มันจะสร้างไลฟ์สไตล์ที่มีสีสรรและความสนุกสนานมากกว่าเดิม มันจะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้สืบเนื่องเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 และจะส่งเสริมความคึกคักในการบริโภคที่มหาศาลที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ พร้อมกับจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจมากขึ้นกว่าที่เคยพบเห็นกัน

เรื่องเหล่านี้จะเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นแน่ ทำไมหรือ? เหตุก็เพราะมันเป็นหนทางเดียวของมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่แทนที่จะต้องยอมจำนนให้แก่ความตาย และสืบสานความก้าวหน้าของมนุษย์แทนที่จะยอมจำนนให้แก่ความทุกข์ทนไม่รู้จักจบสิ้น

ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาข้อมูลแนวโน้มโลกในรูปแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ปริมาณอาหารที่ประชากรโลกจะต้องใช้ในการบริโภค ณ ปี 2050 จะทวีตัวขึ้นมาอย่างน้อยก็สองเท่าจากเมื่อปี 1995 การบริโภคพลังงานก็จะพุ่งขึ้นไปราว 76% ในช่วงปี 2000 ถึง 2030 จำนวนประชากรในตัวเมืองจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 3,300 ล้านคนในปี 2007 เป็น 5,000 ล้านคนในปี 2030 แล้วทวีขึ้นเป็น 6,400 ล้านคนในปี 2050 ขณะที่จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9,150 ล้านคนในปี 2050 จากระดับ 6,700 ล้านคนเมื่อต้นปี 2009 ที่ผ่านมา โดยที่ทุกคนก็จะคาดหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตที่มีดี มีความสะดวกสบายทัดเทียมกันและกัน

มนุษย์โลกจะต้องการสิทธิในการบริโภคที่เท่าเทียมกัน สิทธิในการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลและการเดินทางเคลื่อนย้ายอย่างเสรีไม่น้อยหน้าใคร อีกทั้งสิทธิในการสนุกกับชีวิตแบบที่เชื่อกันว่าเป็นไลฟ์สไตล์ที่เจริญรุ่งเรืองและน่าพึงพอใจ แรงขับเคลื่อนด้านการบริโภคโดยรวมของมนุษย์โลกมีแนวโน้มที่จะมหาศาลที่สุดและยาวนานที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาในแต่ละห้วงเวลา 50 ปีของประวัติศาสตร์มนุษย์ แล้วจะไม่มีกฎหมายใดๆ หรือกฎเกณฑ์ศีลธรรมใดๆ ที่จะหยุดยั้งนักบริโภครุ่นนี้ไม่ให้เดินหน้าลุยไปกับการบริโภคมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่หลายประเทศจะมีการบริโภคล้นเกิน คำถามสำคัญมากๆ ที่จะผุดขึ้นมาคือ “มากแค่ไหนจึงจะเรียกได้ว่าเพียงพอ” หรือไม่อย่างนั้น ก็เป็นคำถามว่าไลฟ์สไตล์ที่เจริญรุ่งเรืองนั้น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่คำตอบจะไม่สามารถถูกกำหนดโดยนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม หากแต่มันจะต้องถูกกำหนดโดยความพร้อมใจของมวลชนทั่วโลกซึ่งตกผลึกอยู่ในชีวิตจริงของพวกเขา

**อะไรคือระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศ? **

เพื่อที่จะสามารถดึงมนุษย์โลกออกจากความหิวโหยและยากจน พร้อมกับช่วยกันสร้างความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตกับความพึงพอใจของมนุษย์นั้น เราต้องดำเนินการที่เป็นการเตรียมพร้อมและเอื้อแก่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศโดยจะต้องให้เป็นจริงภายในราวทศวรรษหน้า เราไม่สามารถเลือกว่าจะเอาความเจริญเติบโตหรือไม่ เราไม่สามารถเพิกเฉยไม่สืบสานให้มีการเติบโตในสองสามทศวรรษข้างหน้า เพราะมันเป็นการตัดสิทธิของคนนับล้านๆ ที่จะมีชีวิตที่เท่าเทียมและมีคุณภาพ อีกทั้งจะเป็นการเหยียบให้ประชากรโลกจำนวนมหาศาลต้องติดกับอยู่ในความยากจนและทุกข์เข็ญ

คำถามสำหรับมนุษยชาติในระยะ 4-5 ทศวรรษข้างหน้าคือ “คุณภาพของการเติบโตควรเป็นอย่างไร” และเราจะบรรลุถึงสภาพการณ์เช่นนั้นได้อย่างไร และคำตอบก็คือ การสร้างความเติบโตบนพื้นฐานของการมีระบบนิเวศที่มั่นคง

ธุรกิจที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้อาจเรียกได้ว่าถึงทางตันแล้ว มันมีแต่จะสร้างความทุกข์มากขึ้น สร้างความตายและความเสียหายอย่างมหาศาล ในการที่จะสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โลกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารที่จะต้องทำให้เสร็จภายในช่วงเวลาสั้นๆ สิ่งที่รอคอยเราอยู่ภายภาคหน้าคือความท้าทายอย่างสุดๆ มันจะเป็นทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม อีกทั้งการปฏิวัติวิถีวิธีที่เรามองเศรษฐกิจ ธุรกิจ กำไร และความเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เรามีเวลาเหลือไม่มากนัก ส่วนสิ่งที่น่ายินดีก็คือ ระบบเศรษฐกิจใหม่นี้ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาแล้ว และกำลังรุกหน้าด้วยอัตราความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ

เราหมายถึงอะไรบ้างเมื่อพูดถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจบนหลักการด้านนิเวศที่มั่นคง มันครอบคลุมถึงทุกรูปแบบของธุรกิจ ขณะที่กิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์จะถูกพาไปสู่เรื่องสำคัญอย่างเช่น การใช้ทรัพยากรโดยมีการรีไซเคิลอย่างแท้จริง การปล่อยของเสียที่ปราศจากคาร์บอน ตลอดจนการฟื้นฟูกับการลงทุนในทุนด้านธรรมชาติ (หมายเหตุ – ปัจจัยการผลิตในทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ประกอบด้วย ที่ดิน แรงงาน และทุนทางการเงิน ส่วนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศจะเพิ่มปัจจัยอีกหนึ่งประการคือ ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ) ในอันที่จะบรรยายถึงระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศโดยละเอียดทั้งหมดย่อมเป็นไปไม่ได้ในบทความสั้นๆ ชิ้นนี้ ในที่นี้จึงขอนำเสนอประเด็นหัวใจของเรื่องไว้ 2 ประการ

ประเด็นที่ 1 - ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศต้องถูกขับเคลื่อนด้วยการปรับโครงสร้างในเรื่องของกฎระเบียบและระบบแรงจูงใจซึ่งฝังรากอยู่ในระบบเศรษฐกิจระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ แนวโน้มอันนี้จะเป็นจริงเป็นจังขึ้นมากในอนาคตอันใกล้นี้ คำถามสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า การปรับโครงสร้างที่ดำเนินอยู่ขณะนี้มีความเร็วและมีขนาดการดำเนินการที่มากพอหรือไม่ เราจำเป็นที่จะต้องไม่หยุดยั้งเพียงแค่การสร้างวิสัยทัศน์ หากเราจำจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ๆ กับระบบแรงจูงใจใหม่ๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคต่อไปกันอย่างจริงจัง

ประเด็นที่ 2 – ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศจะส่งผลไปถึงโอกาสทางการตลาดที่ใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ในเมื่อทุกเซ็กเตอร์ในระบบเศรษฐกิจในทุกส่วนของโลกจะมุ่งหน้าสู่มาตรฐานว่าด้วยความเขียวชอุ่ม ความสะอาด และความยั่งยืนในทุกครั้งที่เป็นเรื่องของพลังงาน ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ในครัวเรือน การผลิตอาหาร การใช้ทรัพยากรน้ำ ฯลฯ ในการนี้ พื้นที่ทุกๆ แหล่งที่สำคัญต่อการสนับสนุนชีวิตมนุษย์จะได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ ในเวลาเดียวกัน ประเทศใด บริษัทธุรกิจใด และบุคคลใดที่เข้าใจการแปลงโฉมครั้งใหญ่นี้ จะได้รับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ปริมาณนับไม่ถ้วนทีเดียว

**เราจะสามารถวิวัฒนาการจาก
โฮโมซาเปียน (homo sapiens) เป็นโฮโมโซเชียน (homo sociens) ได้หรือไม่? **


ในอันที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตไปกับระบบนิเวศด้วยอัตราความเร็วและขนาดการดำเนินการที่เหมาะสม โลกจะต้องมีการร่วมมือกันครั้งมโหฬาร รวมทั้งจะต้องร่วมกันวาดฝันสร้างวิสัยทัศน์อนาคตอย่างที่ไม่เคยทำกันมาก่อน เราจะต้องรับฟังเสียงของคนรุ่นลูกรุ่นหลานให้กระจ่างชัดมากขึ้น รวมทั้งต้องใส่ใจถึงความต้องการของเผ่าพันธุ์อื่นๆ อีกมากมายที่อาศัยร่วมโลกกับเรา เราจะต้องมีการดำเนินการที่ได้รับความร่วมมืออย่างแท้จริงจากบรรดาผู้นำชาติต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งหากต้องใช้มาตรการเชิงบังคับก็ต้องทำกัน ผ่านเวทีความร่วมมือทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจี-8 กลุ่มจี-20 และสหประชาชาติ อีกทั้งจะต้องมีรูปแบบความร่วมมือใหม่ๆ ในระหว่างชุมชนธุรกิจกับภาคประชาสังคม

ในช่วงสองสามทศวรรษหลังจากครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นโลกผ่านมุมมองจากอวกาศ มนุษย์เริ่มถกเถียงกันจริงๆ จังๆ ในเรื่องของความเป็นไปได้ที่วิถีชีวิตที่เป็นอยู่ของมนุษย์อาจไม่สามารถดำเนินไปเรื่อยๆ ตลอดกาล ซึ่งนั่นเป็นการเกิดขึ้นของสำนึกต่อความอยู่รอดของโลก ในเวลาเดียวกัน เครื่องมือเทคโนโลยีการสื่อสาร อาทิ เครื่องแฟกซ์ และระบบอินเทอร์เน็ต ยิ่งหนุนเสริมความตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวของโลก ถ้าเราจะทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่เอี่ยม โดยสร้างอย่างมั่นคงบนเสาหลักแห่งระบบนิเวศ เราจะต้องสร้างวิวัฒนาการในทางวัฒนธรรม ความคิด และจิตใจ ซึ่งผมขอเรียกมันว่าวิวัฒนาการจากโฮโมซาเปียน สู่โฮโมโซเชียน หรือก็คือมนุษย์ที่มีการแบ่งปันและร่วมมือ

เรามีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับปัญหาด้านระบบนิเวศและด้านสังคมซึ่งโลกต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนประเด็นว่าด้วยภาพอนาคตที่พึงปรารถนา ข้อมูลและญาณทัศน์เหล่านี้จะช่วยเร่งอัตราความเร็วในวิวัฒนาการของเราสู่ความเป็นโฮโมโซเชียน ซึ่งหมายถึงการมองให้ไกลออกจากผลประโยชน์ของชาติ โดยให้ความสำคัญที่ผลประโยชน์ของโลก กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการตระหนักว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่อาจอยู่รอดได้โดยปราศจากการคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จำนวนมหาศาลเกินคณนานับบนโลกของเรา ซึ่งเอื้อให้เราสามารถอยู่รอดได้

อนาคตอยู่ในมือของเราตามแต่ที่เราจะกำหนดให้เป็น

ปีเตอร์ เดวิด พีเดอร์เซน เกิดในเดนมาร์ก เป็นซีอีโอบริษัท E-Square Inc. ซึ่งเป็นทีมนักคิดและที่ปรึกษาชั้นนำทีมหนึ่งของญี่ปุ่น ในแต่ละปี เขาทำงานให้กับบริษัทญี่ปุ่นราว 100 บริษัทในด้านของยุทธศาสตร์องค์กร เขานำแนวคิด LOHAS (Lifestyles of Health And Sustainability หรือไลฟ์สไตล์แห่งสุขภาพและความยั่งยืน) เข้าสู่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2002
กำลังโหลดความคิดเห็น