xs
xsm
sm
md
lg

ยอดว่างงานกระฉูดในสหรัฐฯ: ยังไม่เห็นฝั่ง(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ฮอสเซน อัสการี และนูร์เรดดีน กริชเชเน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

No end in sight to US jobless rise
By Hossein Askari and Noureddine Krichene
09/07/2009

ยอดการว่างงานที่ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกา ตอกย้ำความล้มเหลวของนโยบายการเงินโดยประธานเฟด เบน เบอร์นันกี ซึ่งเป็นนโยบายอันดุเดือดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยความหวังว่าจะช่วยนำมาซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดั่งที่เบอร์นันกีหมั่นให้คำสัญญาในทุกๆ ครั้งที่ประกาศหั่นลดดอกเบี้ย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกาพุ่งแตะระดับ 9.5% ในเดือนมิถุนายน 2009 จากที่เคยอยู่ ณ ระดับเพียง 3.6% ในเดือนตุลาคม 2000 และ 4.1% ในเดือนตุลาคม 2006 ในการนี้ สิ่งที่น่างุนงงมากที่สุดคือความล้มเหลวของนโยบายการเงินเชิงรุกของท่านประธานเบน เบอร์นันกี แห่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งสู้อุตส่าห์เข็นออกมาใช้สร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนดั่งที่เจ้าตัวให้สัญญากับประชาชนในทุกครั้งที่ประกาศหั่นลดดอกเบี้ยลง

ยิ่งเบอร์นันกีหั่นดอกเบี้ยต่ำลงมากเท่าไร และยิ่งไปขยายงบดุลของเฟดมากขึ้นเท่าไร การว่างงานก็ยิ่งพุ่งทยานสูงมากขึ้นเท่านั้น การว่างงานนับแต่จะทวีตัวแม้อัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์สเรตซึ่งเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงของระบบเศรษฐกิจ ถูกตัดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะศูนย์จุดศูนย์ศูนย์เปอร์เซ็นต์แท้ๆ นับจากเมื่อเดือนธันวาคม 2008 ในการนี้ คำสัญญาของเบอร์นันกี(ที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผลเสียที) ค่อนข้างจะทำให้ผิดหวังกันอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เบอร์นันกีและเหล่าสาวกยังคอยแต่จะสรรเสริญตัวเองว่า ถ้าไม่มีนโยบายการเงินแบบที่ทำให้ต้นทุนเงินมีราคาถูกจัดๆ ชนิดที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อนเช่นนี้ อัตราว่างงานคงจะยิ่งสูงกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่แท้

นอกจากนั้น อัตราว่างงานที่ไต่ระดับสูงขึ้นมาเรื่อยๆ นี้ ยิ่งดูน่าประหลาดใจมากขึ้นไปอีกเมื่อคำนึงถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะนโยบายการคลังขยายตัวมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หรือกระทั่งมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไซส์มโหฬาร อันได้แก่ การใช้นโยบายขาดดุลการคลังขนานใหญ่ในสมัยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเตลิดไปได้ถึง 455,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ปี 2008 แล้วก็แพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานสภาผู้แทนราษฎร แนนซี่ เปโลซี ในปี 2008 มูลค่ามหาศาลถึง 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งออกมาพร้อมกับคำประกาศด้วยความมุ่งมั่นว่ามันจะนำมาซึ่งการฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2008 หลังจากนั้นเป็นแพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบารัค โอบามา ซึ่งออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ด้วยมูลค่า787,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นขนาดอภิมหาบิ๊กบึ้มที่โฆษณากันว่าจะพลิกผันทิศทางของระบบเศรษฐกิจได้แน่นอน

ด้วยมุ่งจะพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเร่งด่วน รัฐบาลโอบามายอมแลกด้วยการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่ที่สุดในประวัตศาสตร์ชาติอเมริกันยามปลอดสงคราม คือการขาดดุลสูงถึง 13% ของจีดีพีประเทศ กระนั้นก็ตาม แม้จะยอมขาดดุลแบบทำลายทุกสถิติไปแล้ว อัตราการว่างงานก็ยังดื้อดึงที่จะไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ทฤษฎีว่าด้วยการทวีคูณเชิงมูลค่าเศรษฐกิจอันเป็นผลงานการคิดค้นของสำนักฮาร์วาร์ด ดูเหมือนจะให้ผลในทางตรงข้าม และต้องถือเป็นผลงานที่น่าผิดหวังสำหรับพวกลัทธิเคนเซียนซึ่งทำนายไว้อย่างเชื่อมั่นสุดๆ ว่าการขาดดุลงบประมาณจะเสกให้ก้อนหินกลายเป็นขนมปัง และจะไปเพิ่มรายได้กับการจ้างงานขึ้นแบบทวีคูณ

มันเป็นเรื่องน่าสนเท่ห์ที่นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนปรนและขยายปริมาณเงินอย่างสุดโต่ง ตลอดจนแพ็กเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจไซส์อภิมหาบิ๊กบึ้ม แม้ไม่สามารถเพิ่มปริมาณงานสุทธิในระบบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็ไม่อาจกระทั่งแค่จะหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นในยอดสุทธิการว่างงาน ซึ่งเร่งเครื่องขึ้นไปแตะระดับ 467,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2009 จากระดับ 322,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2009 มาถึงตอนนี้ มันออกจะตันแล้วที่จะนึกนโยบายการเงินแหวกแนวใหม่ๆ ใดๆ หรือนโยบายการคลังที่ขยายปริมาณเงินได้มากไปกว่าที่ทำๆ กันไปแล้ว ในอันที่จะสร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

แม้การถดถอยทางเศรษฐกิจจะสาหัสมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งเบอร์นันกีและพวกผู้กำหนดนโยบายคนอื่นๆ ในระดับเดียวกับเบอร์นันกีที่อยู่ในทีมงานของประธานาธิบดีโอบามา ต่างเหนียวแน่นศรัทธาในแนวทางรักษาอาการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจที่พวกตัวใช้อยู่ ว่าในท้ายที่สุดจะสามารถสร้างมหัศจรรย์และผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจเฟื่องฟูกลับขึ้นมาได้อีก เมื่อเร็วๆ นี้ เบอร์นันกีกล่าวย้ำแนวคิดของตนว่า “อุปสงค์ในหมู่ผู้บริโภคควรได้รับการสนับสนุนโดยการกระตุ้นเชิงการคลังและการเงิน”

ที่ผ่านมา วิกฤตในตลาดที่อยู่อาศัยถูกพวกผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯ และพวกนักวิชาการ ระบุว่าเป็นเหตุใกล้ให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด เขียนบทความในไฟแนนเชียลไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ (ปรากฏใน www.ft.com วันที่ 25 มิถุนายน 2009) โดยแสดงความเชื่ออย่างมั่นคงว่าการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทันทีที่ราคาในตลาดที่อยู่อาศัยมีเสถียรภาพ ดังนี้ : “ผมให้ประมาณการไว้ในไฟแนนเชียลไทมส์เมื่อปีกว่ามาแล้วว่า วิกฤตจะยุติเมื่อราคาบ้านในสหรัฐฯ มีเสถียรภาพ ราคาพวกนี้มีส่วนกำหนดจำนวนของหลักทรัพย์ในตลาดบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้แก่หนี้จดจำนองบ้านในสหรัฐฯ มูลค่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ และส่วนใหญ๋ถืออยู่ในรูปของหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์หนุนหลังซึ่งเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายนอกสหรัฐฯ แต่ราคาบ้านในปัจจุบันถูกสกัดโดยพวกบ้านไร้คนอาศัยและรอการขายจำนวนมาก”

กรีนสแปนเคยปฏิเสธเสียงกดดันให้สร้างเสถียรภาพของราคาบ้านที่อยู่อาศัยในช่วงปี 2003-2004 เขาปล่อยให้ภาวะฟองสบู่ในตลาดบ้านเดินหน้าเฟ้อไปเรื่อยๆ ผ่านมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินต้นทุนต่ำโดยเฟด นโยบายดังกล่าวสร้างความเสียหายนับได้หลายล้านล้านดอลลาร์แก่ระบบธนาคาร ตลอดจนจุดชนวนให้เกิดการยึดทรัพย์สินจดจำนองกันไปหลายล้านรายการทีเดียว สำหรับบทความที่เอ่ยถึงข้างต้น กรีนสแปนไม่ระบุออกมาชัดเจนว่าราคาบ้านที่อยู่อาศัยจะเกิดเสถียรภาพได้อย่างไรในยามที่เฟดอัดฉีดเม็ดเงิน 15 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบสินเชื่อจดจำนองที่อยู่อาศัย อีกทั้งไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่า ณ ระดับใดที่ราคาบ้านที่อยู่อาศัยจะเกิดเสถียรภาพ

ในเมื่อนโยบายของเฟดยังมุ่งจะหนุนให้ราคาบ้านที่อยู่อาศัยกลับสู่ภาวะเฟ้อขึ้นอีก และในเมื่อนโยบายของรัฐบาลยังมุ่งจะปกป้องไม่ให้เกิดการยึดทรัพย์จดจำนองบ้านที่อยู่อาศัย ตลอดจนมุ่งช่วยอุดหนุนท่านเจ้าของบ้าน มันย่อมเป็นการยากที่ราคาของบ้านที่อยู่อาศัยจะเกิดเสถียรภาพขึ้นได้ในแวดล้อมของราคาดุลยภาพที่ตลาดเป็นผู้กำหนด ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่ากรีนสแปนสร้างความสับสนระหว่างตัวเหตุกับตัวผล ราคาของสินค้าและบริการใดๆ ก็ตาม ล้วนแต่เป็นความสืบเนื่องระหว่างอุปสงค์กับอุปทานและนโยบายที่สามารถส่งผลกระทบไปถึงอุปสงค์กับอุปทาน ด้วยเหตุนี้ ราคาจึงไม่สามารถมีเสถียรภาพได้ภายในแวดล้อมของดุลยภาพในตลาด ตราบเท่าที่มันยังถูกบิดเบือนด้วยนโยบายการเงินและการคลังของภาครัฐ

นอกจากนั้น ยังเห็นได้ชัดว่ากรีนสแปนมองเรื่องของระดับราคาเพียงบางส่วน ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่แต่เพียงที่จะต้องเผชิญกับระดับราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่ถูกบิดเบือนในกลไกอุปสงค์อุปทาน หากยังเผชิญกับการบิดเบือนราคาและการเก็งกำไรราคาในตลาดสำคัญประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะตลาดสินค้าอาหาร ตลาดพลังงาน และตลาดซื้อขายเงินตรา อุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ถูกกระทบโดยตรงจากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ไม่ใช่ปัจจัยด้านราคาของบ้านที่อยู่อาศัย ยอดขายรถเสียหายยับเยินเมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อุปทานที่เคยมีต่อรถเอสยูวี อีกทั้งรถซดน้ำมันทั้งหลายได้หายเหือดไปหมดในเมื่อผู้บริโภคหันไปเลือกใช้รถประหยัดน้ำมัน รถที่สามารถใช้ได้ทั้งน้ำมันและเชื้อเพลิงทดแทนต่างๆ อีกทั้งรถขนาดเล็กทั้งหลาย

ในแบบเดียวกัน เมื่อราคาสินค้าอาหารพุ่งสูงขึ้นสามสี่เท่าตัว วิกฤตอาหารก็ปะทุขึ้นขณะที่อุปสงค์ต่ออาหารจะถูกบีบลงมา และแม้ว่าเรายังอยู่ในท่ามกลางของภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาสินค้าอาหารก็เด้งกลับขึ้นมาอีก การมีเสถียรภาพด้านราคาไม่ใช่จะเป็นความจำเป็นเฉพาะสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น หากยังเป็นความจำเป็นที่สินค้าทุกประเภทจะต้องมี ในเมื่อบ้านที่อยู่อาศัย ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคล้วนแต่อยู่ในอิทธิพลของนโยบายการเงินการคลังชุดเดียวกัน ราคาพวกนี้ย่อมไม่มีวันจะเกิดเสถียรภาพได้จนกว่าตัวนโยบายจะมีเสถียรภาพขึ้นมาได้ก่อน

เมื่อพิจารณาในวงกว้างมากขึ้น ยังมีความเห็นอันน่าเชื่อถืออื่นๆ ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงข้ามกับทัศนะแคบๆ ของกรีนสแปนต่อปัญหาเศรษฐกิจถดถอย คือความเห็นของเออร์วิง ฟิชเชอร์ (1933) ซึ่งชี้ว่าการอธิบายปัญหาเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงและปัญหาการว่างงานวงกว้างสามารถทำได้ก็แต่ด้วยประเด็นของการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจัดๆ และการใช้นโยบายการเงินต้นทุนต่ำเวอร์ๆ นโยบายของกรีนสแปนและเบอร์นันกีที่เป็นนโยบายการเงินผ่อนปรนสุดๆ กับขยายปริมาณเงินอย่างมหาศาลมโหฬาร ได้สร้างสภาพความบิดเบือนมากมายภายในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และผลักดันให้สัดส่วนของสินเชื่อต่อจีดีพีพุ่งสูงสู่ระดับที่ไม่อาจจะประคับประคองกันได้ไหว อีกทั้งยังสุมภาระลงบนแบงก์พาณิชย์ในรูปของสินทรัพย์เป็นพิษมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งในท้ายที่สุดก็ไปเป็นตัวป่วนระบบเศรษฐกิจแท้จริงกับสร้างความย่อยยับแก่ตลาดแรงงาน

ฮอสเซน อัสการี เป็นศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศและด้านการเมืองระหว่างประเทศ ในมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน นูร์เรดดีน กริชเชเน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ในสังกัดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเป็นอดีตที่ปรึกษาธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม หรือ Islamic Development Bank ณ นครเจดดาห์
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ยอดว่างงานกระฉูดในสหรัฐฯ: ยังไม่เห็นฝั่ง(ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น