xs
xsm
sm
md
lg

โรงแรมเจ๊งระนาว-อสังหาฯจี้รัฐลดภาษี50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สศค.เชื่อส่งออกเดือน มี.ค.หดตัวต่อเนื่อง กดดันเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ทรุดหนัก ต้องดูแลค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยโรงแรม-รีสอร์ท เจ๊งระนาว ร้องรัฐสุดทนพิษการเมือง นักวิชาการแนะทางการลดภาษีท่องเที่ยว-อสังหาฯ 50% กู้วิกฤตด่วน

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง ”มองวิกฤตเศรษฐกิจผ่านวิกฤตส่งออกและนำเข้า” โดยคาดว่ามูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าในเดือน มี.ค.52 จะหดตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก ประกอบกับฐานที่สูงมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ สศค.คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 1 ปี 52 จะหดตัวมากกว่าไตรมาส 4 ปี 51 และจากมูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกปี (ม.ค.-ก.พ.52) อยู่ที่ -19.2%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือน ก.พ.52 ลดตัวลง ได้แก่ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักหดตัวรุนแรง ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวลง โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนถึง 75.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม, การแข่งขันด้านราคาของประเทศคู่แข่งทางการค้า เพราะต้องการระบายสินค้าส่งออกที่ยังค้างสต๊อก อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ยังหดตัวน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์นั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากในเดือน ก.พ.52 มีวันทำการมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, เดือนนี้มีการส่งออกทองคำแท่งสูงถึง 1,865 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวถึง 1,148% เพราะหากพิจารณามูลค่าการส่งออกโดยไม่รวมการส่งออกทองคำแล้วจะทำให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ.52 อาจหดตัวถึง -24.6%
ส่วนปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าในเดือน ก.พ.52 หดตัว ได้แก่ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง จึงทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกลดลงตาม, นักลงทุนชะลอการลงทุน เนื่องจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนาน ทำให้มีการชะลอการซื้อสินค้าทุน, ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศลดลงโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว และราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการเกินดุลการค้าในเดือน ก.พ.52 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าการส่งออก
"การส่งออกสินค้าของไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะหากพิจารณาโครงสร้างการส่งออกแล้วจะพบว่า สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 75.3% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็นสินค้าเกษตรมีสัดส่วน 11.3% สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีสัดส่วน 6.8% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีสัดส่วน 6.6% ซึ่งปรากฎว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยต่างหดตัวลงทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่า โดยปริมาณการส่งออกติดลบ 18.8% และมูลค่าการส่งออกติดลบ 16.9%
สศค.มองว่า ขณะที่โครงสร้างการนำเข้าพบว่า สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีสัดส่วนมากสุดถึง 43.4% ของสินค้านำเข้าทั้งหมด รองลงมาเป็นสินค้าทุนมีสัดส่วน 24.2% สินค้าเชื้อเพลิงมีสัดส่วน 20.9% สินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วน 8.3% และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีสัดส่วน 3.1% ซึ่งปรากฎว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปต่างหดตัวลงทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าเช่นกัน โดยปริมาณการนำเข้า -46.5% และมูลค่าการนำเข้า -45.3%
"ยุทธศาสตร์สำหรับการส่งออกปีนี้ ในมิติของคู่ค้าคือ ควรเร่งหาตลาดใหม่ เพิ่มปริมาณการค้าภายในภูมิภาค ส่วนมิติด้านสินค้านั้นเห็นว่า ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยหดตัวอย่างรุนแรง แต่สินค้าเกษตรไทยยังมีโอกาสและศักยภาพในการแข่งขัน เพราะการหดตัวยังไม่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเกษตร ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่ง และสนับสนุนให้ประเทศในภูมิภาคร่วมฟื้นเศรษฐกิจอย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง จึงจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวเร็วและยั่งยืน"
ในเดือน ก.พ.52 กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยติดลบ 11.3% และมูลค่าการนำเข้าติดลบ 40.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3,576 ล้านดอลลาร์

***"โรงแรม-รีสอร์ท" เจ๊งระนาว
นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) แจ้งว่า สสช.ได้สำรวจยอดขายในปี 51 ของสถานประกอบการค้าปลีกสินค้าอุปโภค บริโภค, โรงแรม และภัตตาคาร, ธุรกิจให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน, กิจกรรมนันทนาการ, สำนักข่าว และการกีฬา และการให้บริการ ที่มีคนทำงาน 1 คนขึ้นไป ทั่วประเทศ รวมขนาดตัวอย่าง 4,441 แห่ง พบว่า ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องทุกประเภท ตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงสิ้นปี แม้ว่าในไตรมาสแรกมีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ของปี 50 ถึง 6.2% แต่ชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ที่ 4.5% ไตรมาสสาม 3.8% และไตรมาสสี่ 2.8%
ทั้งนี้ ธุรกิจแต่ละประเภทมีรายรับเพิ่มขึ้นระหว่างไตรมาสไม่เกิน 13% โดยภัตตาคารและร้านอาหาร มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสแรกที่ 13% ขณะที่โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ต่ำที่สุดเพียง 0.7% เท่านั้น ส่วนการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน มีรายรับที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรก ที่ 6.1% ไตรมาส 2 ที่ 8.1% และ ไตรมาสสาม 10.2% แต่ชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายที่ 4.7% เท่านั้น ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกมียอดขายชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 52 เพราะมีต้นทุนและราคาสูง และมีปัญหาการเมืองรวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
"ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย การกำหนดมาตรฐานควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวด ที่สำคัญต้องเร่งฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงหามาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุนและส่งเสริมด้านการตลาดแก่เอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มศักยภาพ" นางธนนุชกล่าว

***แนะลดภาษีท่องเที่ยว-อสังหาฯ50%
รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างมากเช่นในปัจจุบัน รัฐบาลควรกระตุ้นใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ส่งออก ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ โดยการกระตุ้นนั้นจะต้องทำทุกระยะ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว และต้องทำการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง หากเป็นระยะสั้นต้องทำทุกๆไตรมาส เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยวควรจัดงานท่องเที่ยวไทยในทุกไตรมาสเพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยว สำหรับการกระตุ้นในระยะกลาง 1-2 ปี นั้น ควรลดภาษีธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวลงประมาณ 50% เพื่อให้เจ้าของกิจการสามารถประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ หลังจากนั้นค่อยเริ่มเก็บภาษีเต็ม
สำหรับธุรกิจอสังหาฯ รัฐบาลได้กระตุ้นด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนองและภาษีธุรกิจเฉพาะไปแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลควรออกมากระตุ้นทุกไตรมาส ซึ่งหลักจากนี้ควรลดภาษี 50% ระยะเวลา 1-2 ปี ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่สร้างหรือซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท เพราะกลุ่มนี้เป็นการซื้อบ้านหลังแรกและเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของประเทศที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
“กรมสรรพากรควรเปลี่ยนแนวคิดในการจัดเก็บภาษีใหม่ จากเดิมที่เก็บไปหมดไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ธุรกิจนั้นจะมีจ่ายหรือไม่ เหมือนกับการถอนขนห่าน ถ้าถอนมากๆห่านอาจจะตายได้ แต่ถ้าหยุดถอนและเลี้ยงขนไว้ปีสองปี เชื่อว่าตอนนั้นจะมีขนห่านให้ถอนมากกว่านี้ การเก็บภาษีของรัฐควรคิดเช่นเดียวกับการลงทุน คือลงทุนตอนนี้แล้วค่อยมาเก็บผลประโยชน์ทีหลัง เพราะการลงทุนของเอกชนทุกๆ 1 บาทหมายถึงต้องมีค่าใช้จ่ายด้านภาษี 0.18 สตางค์”
ส่วนระยะยาว ควรปรับเกณฑ์มาตรฐานบ้านบีโอไอใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เอกชนสามารถพัฒนาบ้านบีโอไอได้ นอกจากนี้ ควรหาสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านอัตราดอกเบี้ยระยะยาว 30 ปี ด้วยการนำแหล่งเงินจากกองทุนของรัฐบาล เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ที่มีเงินกองทุนอยู่จำนวนมาก

***โวยสรรพากรดึงภาษีธุรกิจเฉพาะ
แหล่งข่าวจากกรมที่ดิน กล่าวว่า ภายหลังจากวันที่ 28 มีนาคม 52 ที่หมดอายุมาตรการในช่วงแรกและได้ต่ออายุทันในวันที่ 29 มีนาคมนั้น การโอนและจดจำนองบ้านเป็นไปอย่างปกติ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการได้โทรศัพท์เข้ามาร้องทุกข์จำนวนมากว่า การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนลดเหลือ 0.1% ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จึงจะสามารถจัดเก็บในอัตรา 0.1%ได้ ทำให้วางแผนการดำเนินงานไม่ได้ ซึ่งเจ้าพนักงานกรมที่ดินได้ชี้แจงไปว่า อยู่ระหว่างรอกรมสรรพากรส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลังเซ็นอนุมัติและส่งกลับมายังกรมสรรพากร หลังจากนั้นจะส่งต่อมายังกรมที่ดินและประกาศไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดปฏิบัติตาม ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่อใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น