xs
xsm
sm
md
lg

“หนั่น”คิดปิด ร.ร.1เดือน“วิทยา”ลดวันปิดกวดวิชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “เสธ.หนั่น” เสนอปิดร.ร.ทั่วประเทศ 1 เดือนสกัดหวัดมรณะ สธ.พบผู้เสียชีวิตอีก 3 ราย รวมตาย 21 ราย “วิทยา” ฉุนเจลล้างมือปลอมระบาด รับลูกร.ร.กวดวิชาชงครม.ลดจำนวนวันปิด พร้อมชี้ผู้ปกครองกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหม่ “ศิริราช-ราชวิถี” ชี้คนตื่นส่งผลโรงพยาบาลล้นคนแห่มาตรวจเพียบ เผยมาทีเป็นคันรถ
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรนำประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดด้วยการแจกหน้ากากให้ประชาชนใส่ทุกคน เพราะภายใน 1 เดือนสามารถหยุดโรคได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้สั่งให้ผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มอีก 10 ล้านชิ้นเนื่องจากขณะนี้เริ่มขาดแคลนจากการที่ญี่ปุ่นสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่วันนี้จะมีการหารือกันทุกเรื่อง โดยเฉพาะการนำรถโมบายออกตรวจและรักษาตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศด้วย ซึ่งจะมีจำนวนกี่คัน และจะเริ่มออกตรวจได้เมื่อไรนั้น คงจะมีการหารือกันอีกครั้ง แต่คิดว่าน่าจะเริ่มได้เลย เพราะรถก็มีอยู่แล้ว โดยในรถจะมีหมอ พยาบาลที่จะดูแลรักษาได้ตามปกติ
พล.ต.สนั่นกล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวคิดว่าการจะหยุดยั้งให้ได้ดีที่สุดคือ ควรปิดโรงเรียน เหมือนปิดเทอมเลย ถ้าปิดได้ประมาณสัก 2-4 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดใหญ่ โดยให้เลื่อนวันปิดภาคเรียนในภาคเรียนที่ 1 ขึ้นมาก่อน พอถึงวันปิดภาคเรียนก็ค่อยไปเรียนชดเชยเอา หากทำได้เช่นนี้ เชื่อว่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้แน่นอน

 **เตือนผู้ปกครองกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหม่
วานนี้(13 ก.ค.) ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวหลังเดินทางเข้าเยี่ยมเด็กที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ว่า การที่นักเรียนป่วยพักฟื้นอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องระมัดระวังตัวให้ดีไม่ให้ติดเชื้อต่อจากเด็ก เนื่องจากนักระบาดวิทยามีการคาดการณ์ว่า ภายในเดือนหน้ากลุ่มที่จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009มากที่สุดคือกลุ่มผู้ปกครอง เพราะจะติดเชื้อจากนักเรียนที่เป็นบุตรหลาน ซึ่งมีจำนวนติดเชื้อมากที่สุดอยู่ในขณะนี้
  ทั้งนี้ สธ.ไม่อยากใช้กฎหมายในการบังคับให้หน่วยงานต่างๆต้องทำตามมาตรการที่มีการเสนอ เพราะจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ออกมามาก โดยระบุว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาของประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 จาก 5 ระดับ คือมีอัตราการป่วยตายไม่เกิน 0.5 % แต่หากประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆไม่ให้ความร่วมมือในการช่วยป้องกันเพื่อชะลอการแพร่ระบาด สถานการณ์อาจยกระดับเป็น ระดับ 3 คือมีอัตราป่วยตาย 0.5-1 % เมื่อถึงเวลานั้นอาจจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการตัดสิทธิบางอย่างของประชาชน
นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ จะมีการขอความร่วมมือให้กรมการขนส่ง แจ้งไปยังผู้ประกอบการรถตู้โดยสารทุกรายให้เตรียมหน้ากากอนามัยไว้แจกให้กับผู้โดยสารทุกราย เนื่องจากประชาชนต้องใช้เวลาในการโดยสารแต่ละวันเป็นเวลานาน

**เด็กติดเชื้ออายุน้อยสุด 1 ปี
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรับเป็นผู้ป่วยในทั้งสิ้น 40 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 12 ราย คิดเป็น 30 %  ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 10 ราย โดยผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 1 ปี  มีอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลแล้ว

**ขึ้นทะเบียนตายเพิ่ม 3 ราย  รวม 21 ราย
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สธ. ได้ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 3 ราย โดยรายที่ 19 เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี จ.กรุงเทพฯ น้ำหนักตัว 120 กิโลกรัม เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ  เมื่อ 29 มิ.ย. แพทย์ให้ยาและให้สังเกตอาการที่บ้าน ต่อมาวันที่ 3 ก.ค. อาการหนักขึ้น ตรวจพบมีปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. สธ.เพิ่งได้รับรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 11 ก.ค.
  ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 20 เป็นหญิง อายุ 53 ปี จ.กรุงเทพฯ มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เริ่มป่วยมีไข้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ไปหาแพทย์ที่คลินิก ต่อมาไข้สูง หายใจหอบ อาการทรุดหนักลง ต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม แพทย์ตรวจพบปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา
ด้านรายที่ 21 เป็นหญิง จ.สกลนคร อายุ 46 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยรายนี้มีโรคประจำตัว เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน รักษานาน 6 ปี เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. แต่มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งอาการหนักแล้ว มีไข้สูงปอดบวม ต้องส่งรักษาต่อยังโรงพยาบาลศูนย์ วันที่ 11 ก.ค. ต่อมาอาการทรุดลง เสียชีวิตวันที่ 12 ก.ค.
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยารายงานว่า มีผู้ป่วยเพิ่มอีก 328 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3,883 ราย พบผู้ป่วยเกือบทุกจังหวัด ยกเว้น 4 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย คือ ชุมพร ระนอง พังงา และสตูล ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมากเกิน 100 ราย ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ จ.เชียงใหม่

**“วิทยา” รับลูกลดวันปิดกวดวิชา
ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา และคณะ เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กรณีมติครม. สั่งปิดโรงเรียนกวดวิชานาน 2 สัปดาห์ โดยนายอนุสรณ์ กล่าวภายหลังการหารือว่า การปิดโรงเรียนกวดวิชาของสธ. นั้นไม่มีข้อมูลการระบาดของโรคในเด็กนักเรียนที่ไปเรียนกวดวิชาที่เป็นรายๆ อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นรายบุคคลว่า มีเด็กกี่คน  ชื่ออะไร เรียนที่ใด ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่บ้าง ดังนั้น ควรมีการทบทวนมติครม. ที่ให้สั่งปิดโรงเรียนกวดวิชาใหม่
  ด้านนายวิทยากล่าวว่า ในการประชุมครม.วันที่ 14 ก.ค.นี้ ตนจะเสนอขอความเห็นชอบในหลักการให้ครม.พิจารณาทบทวนจำนวนวันในการปิดโรงเรียนกวดวิชาให้ลดลงจากเดิมที่ปิด 15 วัน โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการมาตรการการเฝ้าระวังโรคให้ได้ตามมาตรฐานที่สธ.กำหนดคือ ก่อนเข้าเรียนต้องคัดกรองนักเรียน หากมีอาการป่วยให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านและโรงเรียนจะสอนชดเชยให้กับนักเรียน รวมถึงให้ใช้เจลล้างมือก่อนและหลังเข้าเรียน และระหว่างนั่งเรียนให้สวมหน้ากากอนามัยด้วย ส่วนโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถือว่าไม่ได้อยู่ในกรอบที่ให้มีการผ่อนผัน
  นายวิทยากล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงการผลิตเจลแอลกอฮอล์ปลอมออกมาวางขาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการล้างมือเป็นวิธีการกำจัดเชื้อโรคทุกชนิดไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ที่ได้ผลกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ดังนั้น จึงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบและสอดส่อง หากพบมีการทำผิดให้ลงโทษอย่างเด็ดขาด
 
**สปสช.สำรอง 600 ล.ซื้อวัคซีน
  ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยนายวิทยา กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยมีมติอนุมัติสำรองงบประมาณจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 600 ล้านบาทสำหรับการจัดซื้อวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส เพื่อรองรับการระบาดปี 2552 และในอนาคต โดยสปสช.จะทำเรื่องของบกลางจากรัฐบาลต่อไป
 
**เด็กป่วยขาดสอบGAT/PAT 60 ราย
นางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากศูนย์สอบการจัดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพหรือวิชาการ หรือ PAT จากทั้ง 18 ศูนย์ทั่วประเทศแล้ว โดยพบว่า มีนักเรียนที่แจ้งมาว่าไม่สามารถเข้าสอบ GAT และ PAT เมื่อวันที่ 11-12 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากป่วยเป็นไข้หวัดจำนวนทั้งสิ้น 60 ราย ทั้งนี้คาดว่า สทศ.จะจัดสอบ GAT และ PAT รอบพิเศษให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้ในวันที่ 8-9 ส.ค. และจะประกาศผลสอบพร้อมกับเด็กปกติในวันที่ 15 ส.ค.นี้

**กทม.พร้อมทามิฟลูโดยไม่ต้องรอผล 
นพ.ไกรจักร  แก้วนิล  รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.)  กล่าวหลังประชุมระดมสมองผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากโรงพยาบาลสังกัดกทม. 4 แห่ง คือ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และวชิรพยาบาล  โรงพยาบาลกลาง  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  และโรงพยาบาลตากสินว่า  ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า  หากมีการพบว่าผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลของ กทม.ติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือหากสงสัยและรอการวินิจฉัยยืนยันโรค  ก็ให้ยาทามิฟลูโดยไม่ต้องรอยืนยันผลตรวจไปก่อน  เนื่องจากหากรอผลตรวจอาจใช้เวลาหลายวัน  คนไข้อาจมีอาการกำเริบรักษาไม่ทัน 
 
**คนตื่นแห่ตรวจล้นโรงพยาบาล
เมื่อเวลา 11.00 น.  มีการประชุมของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากคณะแพทยศาสตร์สถาบันต่างๆ ได้แก่ รพ.รามาธิบดี ศิริราชพยาบาล รพ.จุฬาลงกรณ์ วชิระพยาบาล รพ.พระมงกุฎ และผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคติดเชื้อ โดยใช้เวลาในการหารือกันกว่า 5 ชั่วโมง
  นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์  ปลัดสธ. กล่าวภายหลังจากประชุมว่า ที่ประชุมมีมติใน 4 เรื่อง คือ 1 ให้คณะแพทย์จัดทำคู่มือการรักษาเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยจะเริ่มประชุมและมีข้อสรุปในวันที่ 17 ก.ค.นี้ 2 คณะแพทย์แต่ละมหาวิทยาลัย จะจัดตั้งทีมแพทย์ในลักษณะหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อเข้าร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหนัก 3 จัดระบบส่งต่อให้รวดเร็วและสามารถนำผู้ป่วยหนักมายังโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมได้ทัน และ4 จัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์การแพทย์ไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทย์ต่างๆเข้าร่วม เพื่อให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันและป้องกันความสับสนของประชาชน  ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก
    ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้ ประชาชนตื่นตระหนกและกลัวไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มากจนเกินไป ซึ่งการที่ประชาชนแห่ไปโรงพยาบาลทำให้สร้างปัญหาอย่างมหาศาล โดยขณะนี้พบว่าบางที่คนกลัวมากจนขึ้นรถมาหาหมอพร้อมกันทีเดียวเป็นคันรถและอยากตรวจพร้อมกันหมดทุกคนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ หากเป็นแบบนี้ก็จะเกิดผลเสีย อย่างที่ศิริราชทุกวันนี้ก็จะมีประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมาก
  ด้านพญ. วารุณี จินารัตน์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่เข้ารับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีเฉลี่ยวันละกว่า 400-500 ราย โดยเฉพาะในช่วงวัยหยุดยาวติดต่อกันและวันเสาร์อาทิตย์ จะมีผู้ที่มารับบริการตรวจไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมาก
  “การให้บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ต้องใช้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ต้องพลัดหมุนเวียนกันประมาณ 4 คน ซึ่งทำให้ภาระการทำงานของบุคลกรในโรงพยาบาลที่มีมากอยู่แล้วก็มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้โรงพยาบาลยังต้องจ้างบุคลากรภายนอกมาให้บริการผู้ป่วยในส่วนที่ต้องเจาะเลือดนำเชื้อผู้ป่วยไปตรวจพิสูจน์เพราะมีกำลังคนไม่เพียงพอทำให้โรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาก”พญ.วารุณีกล่าว    
 
**หมอไทยใน CDC เสนอปิดทุกอย่าง 2 สัปดาห์
ขณะที่ พญ.ทิพวรรณ นาคจินดา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) กล่าวว่า  อยากเสนอให้มีการปิดทุกอย่าง เช่น โรงเรียน โรงภาพยนตร์ ผับ บาร์ ฯลฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากทำพร้อมกันจำนวนผู้ป่วยก็จะลดลงอย่างทันที เพราะระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ในระหว่าง 1-2วัน แต่ระยะการมีอาการคือ  7-10 วัน  หากหยุดกิจกรรมในช่วงนี้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องสัมผัสโรคและทำให้เกิดการแพร่สู่ผู้อื่นต่อไปเรื่อยๆ และหากตัดสินใจช้าเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีการแพร่ระบาดไปในวงกว้างมากเท่านั้น ไม่ได้ถือเป็นการทำลายภาพพจน์ของประเทศ แต่จะยิ่งทำให้ภาพของประเทศดีขึ้นว่ามีการควบคุมโรคอย่างจริงจัง แต่หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ หรือไม่สามารถขอความร่วมมือได้ ก็ต้องเลือกกลุ่มที่จำเป็น เช่น กลุ่มของนักเรียน ต้องระงับการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของนักเรียนทั้งหมด เชื่อว่าเวลา 2 สัปดาห์ไม่นาน และไม่ได้สร้างผลกระทบต่อการศึกษาแต่อย่างใด
  ด้านนพ.ปราชญ์ กล่าวถึงข้อเสนอของพญ.ทิพวรรณว่า สิ่งที่พญ.ทิพวรรณแนะนำนั้น หมายถึงว่าให้ดำเนินการในช่วงที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ถึงจุดอันตราย คือ มีอัตราผู้ป่วยเสียชีวิต เกิน 5 % อย่างเช่นในประเทศเม็กซิโกในช่วงระยะแรกของการแพร่ระบาดของโรคเพราะยังไม่มีข้อมูลว่าความรุนแรงของโรคจะมากน้อยแค่ไหน  แต่สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยในขณะนี้ที่มีอัตราป่วยตายไม่เกิน 0.5 % จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องปิดหรือหยุดกิจกรรมทุกอย่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น