xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ระดม ร.ร.แพทย์ตั้งชุดเคลื่อนเร็วดูผู้ป่วยหนักหวัด 09

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สธ.ระดมความร่วมมือโรงเรียนแพทย์ ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเคลื่อนที่เร็วติดตามดูผู้ป่วยหนัก หมอชี้คนตื่นส่งผลโรงพยาบาลล้น คนแห่มาตรวจเพียบ สร้างภาระให้โรงพยาบาล ขณะที่หมอไทยประจำซีดีซี สหรัฐฯ แนะปิด-หยุดทุกกิจกรรมทุกชนิด 2 สัปดาห์ ตัดวงจรการระบาดได้ ชี้ทุกคนต้องเสียสละเห็นแก่ส่วนรวม

เมื่อเวลา 11.00 น.มีการประชุมของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากคณะแพทยศาสตร์สถาบันต่างๆ ได้แก่ รพ.รามาธิบดี ศิริราชพยาบาล รพ.จุฬาลงกรณ์ วชิระพยาบาล รพ.พระมงกุฎ และผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคติดเชื้อ โดยใช้เวลาในการหารือกันกว่า 5 ชั่วโมง นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เป็นการระดมความคิดเห็นและสรุปสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่าย เพราะขณะนี้พบว่า กรณีผู้ป่วยที่เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคประจำตัวและได้รับการรักษาช้าเกินไป ขณะนี้จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา แม้ว่าพฤติกรรมของโรคยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ความเสี่ยงจะอยู่ในผู้ที่มีโรคประจำตัว ทำให้ต้องพยายามเข้าไปช่วยเหลือให้ตรงจุด

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.กล่าวภายหลังจากประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติใน 4 เรื่อง คือ 1.ให้คณะแพทย์จัดทำคู่มือการรักษาเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยจะเริ่มประชุมและมีข้อสรุปในวันที่ 17 ก.ค.นี้ 2.คณะแพทย์แต่ละมหาวิทยาลัย จะจัดตั้งทีมแพทย์ในลักษณะหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อเข้าร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหนัก 3.จัดระบบส่งต่อให้รวดเร็วและสามารถนำผู้ป่วยหนักมายังโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมได้ทัน และ 4.จัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์การแพทย์ไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทย์ต่างๆ เข้าร่วม เพื่อให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และป้องกันความสับสนของประชาชน ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก

“ขณะนี้ประชาชนยังมีความตื่นตระหนก เพราะได้รับข่าวสารจำนวนมาก ซึ่งในข่าวสารนั้นอยากให้ประชาชนทำความเข้าใจวิธีการดูแลตัวเอง การตื่นตระหนก และมารักษากันมากเกินไปจะสร้างภาระให้แพทย์อย่างมาก ซึ่งในการประชุมคณะแพทย์ต่างๆ ก็ได้รับทราบปัญหาว่ามีประชาชนที่มาขอรับบริการมากในแต่ละวัน” นพ.ปราชญ์ กล่าว

ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้ ประชาชนตื่นตระหนกและกลัวไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มากจนเกินไปทั้งๆ ที่เชื้อหวัดโดยทั่วไปหากได้รับเชื้อ 100 คน จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 10 คน มีอาการประมาณ 5 คน 2-3 คน ต้องไปหาหมอ และอีก 1 คนต้องนอนโรงพยาบาล ถือเป็นธรรมชาติของโรค ซึ่งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ก็เช่นเดียวกัน แม้จะติดต่อได้ง่าย แต่ไม่รุนแรงไปกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในหลายประเทศจึงถือว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลตัวหนึ่งเท่านั้น

“การที่ประชาชนแห่ไปโรงพยาบาลทำให้สร้างปัญหาอย่างมหาศาล ขณะนี้พบว่า บางคนที่กลัวมากจนขึ้นรถมาหาหมอพร้อมกันทีเดียวเป็นคันรถ และอยากตรวจพร้อมกันหมดทุกคนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ หากเป็นแบบนี้ก็จะเกิดผลเสีย อย่างที่ศิริราชทุกวันนี้ก็จะมีประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งบุคลากรทุกคนก็ทำงานอย่างสุดความสามารถแล้ว ทั้งหมดนี้เกิดจากคนบริโภคข่าวสารมากเกินไป ซึ่งประเทศที่มีปัญหามากกว่าเราก็มี เพียงแต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้น” ศ.นพ.สมหวัง กล่าว

ด้านพญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้อำนวยการโรคพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่เข้ารับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี เฉลี่ยวันละกว่า 400-500 ราย โดยเฉพาะในช่วงวัยหยุดยาวติดต่อกันและวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีผู้ที่มารับบริการตรวจไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในแต่ละวันมีผู้ที่โรงพยาบาลรับรักษาตัวรอดูอาการเฉลี่ย 10 กว่ารายเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอยู่แล้ว

“การให้บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ต้องใช้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ต้องผลัดหมุนเวียนกันประมาณ 4 คน ซึ่งทำให้ภาระการทำงานของบุคลกรในโรงพยาบาลที่มีมากอยู่แล้วก็มากยิ่งขึ้น จากที่ได้หยุดพักผ่อนกลับต้องทำโอที นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังต้องจ้างบุคลากรภายนอกมาให้บริการผู้ป่วยในส่วนที่ต้องเจาะเลือดนำเชื้อผู้ป่วยไปตรวจพิสูจน์ เพราะมีกำลังคนไม่เพียงพอทำให้โรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาก” พญ.วารุณี กล่าว

ขณะที่ พญ.ทิพวรรณ นาคจินดา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ถือเป็นโรคระบาดตามฤดูกาล ซึ่งในภูมิภาคเอเชีย เมื่อพิจารณาจากอัตราการป่วยตายขณะนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น และไม่ได้สูงกว่าที่ควรจะเป็น ไม่เหมือนในอีกซีกโลกที่จะมีอัตราการป่วยแบบพุ่งสูงในแต่ละช่วงปี แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีอัตราการป่วยแบบขึ้นๆลงๆ ซึ่งอัตราผู้ป่วยในประเทศไทยก็ไม่ได้สูงกว่าที่อื่น ซึ่งการป้องกันและควบคุมโรค ทุกคนจำเป็นต้องมีความเสียสละเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เช่น ในสหรัฐฯ หรือเม็กซิโก ขณะนี้หากเกิดปัญหาบางรัฐก็จะมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อสกัดโรคทันที

“อยากเสนอให้มีการปิดทุกอย่าง เช่น โรงเรียน โรงภาพยนตร์ ผับ บาร์ ฯลฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากทำพร้อมกันจำนวนผู้ป่วยก็จะลดลงอย่างทันที เพราะระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ในระหว่าง 1-2 วัน แต่ระยะการมีอาการ คือ 7-10 วัน หากหยุดกิจกรรมในช่วงนี้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องสัมผัสโรคและทำให้เกิดการแพร่สู่ผู้อื่นต่อไปเรื่อยๆ และหากตัดสินใจช้าเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีการแพร่ระบาดไปในวงกว้างมากเท่านั้น ไม่ได้ถือเป็นการทำลายภาพพจน์ของประเทศ แต่จะยิ่งทำให้ภาพของประเทศดีขึ้น ว่า มีการควบคุมโรคอย่างจริงจัง แต่หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ หรือไม่สามารถขอความร่วมมือได้ ก็ต้องเลือกกลุ่มที่จำเป็น เช่น กลุ่มของนักเรียน ต้องระงับการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของนักเรียนทั้งหมด เชื่อว่า เวลา 2 สัปดาห์ไม่นาน และไม่ได้สร้างผลกระทบต่อการศึกษาแต่อย่างใด” พญ.ทิพวรรณ กล่าว

พญ.ทิพวรรณ กล่าวว่า การหยุดกิจกรรมในที่นี้ ต้องทำไปพร้อมการให้ความรู้ประชาชน ในการป้องกันดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น เมื่อป่วยให้หยุดทำงาน ใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ให้ข่าวสับสน จนประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่น ซึ่งขณะนี้กำลังมีการแก้ไขให้เกิดทิศทางที่ถูกต้อง และหากมีการปิดโรงเรียน ก็ต้องปิดกิจกรรมอื่นๆ ที่มีการชุมนุมคนด้วย เพราะหากปล่อยให้ช้ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น และหากจะได้ผลทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพื่อตัดวงจรการระบาดลง หากสามารถทำได้อัตราการติดเชื้อก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นพ.ปราชญ์ กล่าวถึงข้อเสนอของ พญ.ทิพวรรณ ว่า สิ่งที่ พญ.ทิพวรรณ แนะนำนั้น หมายถึงว่าให้ดำเนินการในช่วงที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ถึงจุดอันตราย คือ มีอัตราผู้ป่วยเสียชีวิต เกิน 5% อย่างเช่น ในประเทศเม็กซิโกในช่วงระยะแรกของการแพร่ระบาดของโรค เพราะยังไม่มีข้อมูลว่าความรุนแรงของโรคจะมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยในขณะนี้ที่มีอัตราป่วยตายไม่เกิน 0.5% จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องปิดหรือหยุดกิจกรรมทุกอย่าง ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ไม่แนะนำให้มีการปิดประเทศ และประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากฮูว่าเป็นประเทศที่มีการดำเนินการมาตรการต่างๆอย่างโปร่งใส และมีระบบการรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ดีมีประสิทธิภาพ

“หากจะให้ดำเนินการมาตรการที่ปิด หรือหยุดเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนและเยาวชนที่เป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อมากที่สุดในขณะนี้นั้น สธ.ก็ได้ดำเนินการแล้ว คือ ปิดโรงเรียนกวดวิชา ส่วนโรงเรียนทั่วไปไม่จำเป็นต้องปิด เพราะนักเรียนนั่งเรียนระยะห่างกัน อีกทั้ง มีครูประจำชั้นคอยคัดกรองนักเรียนที่เป็นระบบทุกวัน สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นกิจกรรมยอดนิยมของเยาวชน จะต้องขึ้นอยู่กับอำนาจของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะ สธ.ไม่มีอำนาจสั่งปิด แต่ที่ผ่านมา สธ.แนะนำมาโดยตลอดว่าสถานที่ที่เป็นแหล่งแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวกควรหลีกเลี่ยง” นพ.ปราชญ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น