xs
xsm
sm
md
lg

เผยยอดตายหวัด 09 ไม่เกินร้อยละ 0.5 ไม่ต้องปิดประเทศ จี้ สธ.เน้นมาตรการกักผู้ป่วยแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค แจงขอความร่วมมือสั่งปิดสถาบันกวดวิชา-ร้านเกม เพราะมีหลายแห่งไม่มีใบอนุญาต สุขอนามัย ไม่ได้มาตรฐาน กวดวิชากรุงเทพฯ มีเด็กต่างจังหวัดมาเรียน เกรงนำเชื้อหวัดกลับไประบาดยังภูมิลำเนา ระบุ ยอดติดหวัดตายยังไม่ถึงร้อยละ 0.5 ยังไม่จำเป็นต้องปิดประเทศ จี้ สธ.ออกมาตรการกักผู้ป่วยอยู่บ้านแทน

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องขอความร่วมมือปิดสถาบันกวดวิชาและร้านเกม เนื่องจากผลการสอบสวนโรคของทีมระบาดวิทยา พบว่า เด็กที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่มีอาการป่วย หรือติดเชื้อภายหลังจากไปเรียนที่สถาบันกวดวิชา ซึ่งทราบข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ ว่า มีสถาบันกวดวิชาหลายแห่งที่ไม่มีใบอนุญาตถูกต้องจาก ศธ.ทำให้สถานที่ สุขอนามัยไม่ได้มาตรฐาน ใน 1 ห้องเรียน มีเด็กเรียนมากถึง 100-200 คน และต้องเรียนหลายชั่วโมง ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อไวรัสได้ และแม้ว่าจะมีการสั่งปิดโรงเรียน สถานศึกษา แต่เด็กไม่หยุดเรียนพิเศษกวดวิชา เพราะได้เสียเงินไปแล้ว จึงควรจะสั่งปิดโรงเรียนกวดวิชาพร้อมกันทุกแห่งทั่วประเทศ

“ที่สำคัญ สถาบันกวดวิชาในกรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ได้มีเฉพาะเด็กในกรุงเทพฯ มาเรียนเท่านั้น แต่มีเด็กจากต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนกวดวิชาด้วย จึงทำให้เมือติดเชื้อแล้วก็นำเชื้อกลับไปแพร่ระบาดในจังหวัดภูมิลำเนาที่ตนเองอาศัยอยู่ ทำให้เกิดการระบาดตามโรงเรียนในต่างจังหวัด ซึ่งมาตรการนี้ สธ.หวังว่า จะช่วยชะลอการระบาดของโรคลงได้ ซึ่งหลังจากปิดสถาบันกวดวิชาแล้ว ทีมนักวิชาการ สธ.ก็จะประเมินผลว่าช่วยลดการระบาดลงได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญ คือ เด็กจะต้องหยุดอยู่กับบ้านไม่ออกไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ ด้วย หากทำได้ตามคำแนะนำของ สธ.ก็จะช่วยลดการระบาดลงได้”นพ.คำนวณ กล่าว

ชี้ตายไม่เกินร้อยละ 0.5 ยังไม่จำเป็นต้องปิดประเทศ
นพ.คำนวณ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์การระบาดของไทย พบว่า ขณะนี้อัตราการป่วยตายของไทย ยังไม่เกินร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ สถานการณ์ยังไม่รุนแรงหนัก จนต้องออกมาตรการปิดประเทศแต่อย่างใด ซึ่งการปิดประเทศไม่ได้หมายถึงการห้ามคนเดินทางเข้า-ออกประเทศ แต่หมายถึงการหยุดกิจกรรมพบปะสังสรรค์ของประชาชน หยุดกิจกรรมการชุมนุมคน เช่น ปิดโรงเรียน หยุดงาน ปิดโรงหนัง เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่หยุดกิจกรรมพบปะสังสรรค์ของคน คือ เม็กซิโก และ อาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการป่วยตายสูง คือ มากกว่า ร้อยละ 2

“การสั่งหยุดกิจกรรมชุมนุมคนในประเทศนั้น ไม่ได้คิดจะทำก็ทำได้ เพราะต้องมีเงื่อนไขควบคุมความรุนแรงของโรค โดยใช้อัตราป่วยตาย เป็นเกณฑ์การแบ่งระดับความรุนแรง โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ได้กำหนดเกณฑ์ไว้ 5 ระดับ คือ ระดับ 1 รุนแรงต่ำสุด คือ มีอัตราป่วยตาย ไม่ถึงร้อยละ 0.1 ระดับ 2 มีอัตราป่วยตาย ไม่ถึงร้อยละ 0.5 ระดับ 3 อัตราป่วยตาย ไม่ถึงร้อยละ 1 ระดับ 4 มีอัตราป่วยตาย ไม่เกินร้อยละ 1.5 และระดับ 5 รุนแรงมากที่สุด มีอัตราป่วยตาย ร้อยละ 1.5-2 ซึ่งหากประเทศมีอัตราป่วยตายสูงในระหว่างนี้ ก็จะต้องดำเนินมาตรการหยุดกิจกรรมชุมนุมคน” นพ.คำนวณ กล่าว

นพ.คำนวณ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตของไทย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 6 คน ในจำนวนนี้ มี 9 คน ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคอ้วน เนื้องอกในสมอง และไธรอยด์ เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีภาวะเสี่ยงสูงที่จะเกิดการป่วยตายได้ คิดเป็นร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตที่มีโรคประจำตัว ส่วนอีก 2 ราย ไม่มีประวัติชัดเจนว่า มีโรคประจำตัว แต่ข้อมูลการสอบสวนโรค พบว่า มีการพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับ พบว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิต หรือมีอาการหนัก ส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้า ทำให้ได้รับการรักษาช้าตามไปด้วย จึงทำให้อาการหนักรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

“สธ.จะปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ใหม่ โดยจะรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการป่วย มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ทันที และต้องแจ้งแพทย์ว่า มีโรคประจำตัวเป็นโรคอะไรด้วย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที ส่วนในกลุ่มคนปกติ ที่ไม่มีโรคประจำตัว แนวทางการรักษายังคงเหมือนเดิม คือ ให้ทานยาลดไข้ ตามปกติ หาก 1-2 วัน ไข้ยังไม่ลด และมีอาการหอบ เหนื่อยร่วมด้วย ให้รีบพบแพทย์ทันที” นพ.คำนวณ กล่าว

จี้ สธ.ออกมาตรการกักผู้ป่วยอยู่บ้าน
นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสู่คน กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องใช้มาตรการปิดประเทศ แต่หากในอนาคตที่มีการระบาดในรอบที่ 2 ซึ่งธรรมชาติของโรคจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่คาดว่าจะทำให้อัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60-80% ถึงเวลานั้นคงไม่มีใครกล้าที่จะออกจากบ้านอยู่แล้ว จึงมีการหยุดการทำกิจกรรมต่างๆ และใช้มาตรการปิดประเทศไปโดยปริยาย

นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะในขณะนี้ คือ 1.รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรออกมาตรการสั่งห้ามผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มคนทั่วไป ออกจากบ้านหรือเดินทางไปในแหล่งชุมชนโดยให้ปฏิบัติตัวดูแลรักษาสุขภาพใช้หน้ากากอนามัย และล้างมืออยู่กับบ้าน มีการแยกเป็นสัดส่วนชัดเจนในห้องที่ปิดมิดชิด อาจมีผู้ดูแลเพียง 1 คน และหากไม่จำเป็นไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกันแต่ให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร จาน ชาม ของใช้ส่วนตัวมีการแยกต่างหากเป็นพิเศษ กระดาษชำระ หรือขยะติดเชื้อมีการแยกทำลาย โดยไม่ควรไปโรงพยาบาลเนื่องจากเสี่ยงรับเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้นได้ หากมีอาการมากขึ้น เช่นเป็นไข้ต่อเนื่อง 2-3 วันไข้ไม่ลดลง มีอาการปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ อาเจียน ท้องเสีย และมีการอาการหน้ามืด คล้ายจะเป็นลม ต้องรีบพบแพทย์ทันที

2.ในกลุ่มเสี่ยงที่มีการแนะนำเตือนไว้ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว ตับ ไต หัวใจ ปอด ภูมิต้านทานต่ำ หรือบกพร่องไม่ว่าจะมีอาการลักษณะใดควรได้รับการรักษาทันที 3. กลุ่มแพทย์และพยาบาล ในกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นเดียวกันเพราะอาจรับเชื้อโดยไม่รู้ตัว ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพราะอาจแพร่เชื้อได้แม้จะไม่มีอาการป่วย 4.รัฐบาลต้องบอกความจริงกับประชาชนโดยไม่ต้องกลัวเสียหน้า หากมีผู้เสียชีวิตที่เป็นกลุ่มคนปกติทั่วไป มีร่างกายแข็งแรงป่วยและเสียชีวิตลง เนื่องจากในอเมริกาและเม็กซิโกมีรายงานยืนยันตรงกันว่า ผู้ที่ป่วยมากที่สุดอยู่ในวัยหนุ่มสาว อายุระหว่าง 15-54 ปี ในจำนวนนี้ ประมาณ 50% มีโรคประจำตัว ซึ่งความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างกันกับกลุ่มวัยอื่น และหากไปพบแพทย์ไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้

“ถือว่าขณะนี้ทุกคนเสี่ยงเท่ากันหมดอย่าคิดว่าอยู่ในวัยหนุ่มสาวมีความแข็งแรงแล้วไม่ใส่ใจในการป้องกันตัวเองในส่วนของบุคลกรทางการแพทย์ควรเอาใจใส่คนกลุ่มนี้ด้วย รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วยอื่นร่วมด้วย ไม่ใช่เฉพาะไอ จาม แต่ในรายที่เป็นไข้ ท้องเสีย เป็นไข้ซึม สมองอักเสบ ให้คิดว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009ด้วย หรือบางรายอาจไม่พบเชื้อทางจมูก แต่ควรตรวจหาในตำแหน่งที่มีอาการ เช่น หากมีไข้ซึม สมองอักเสบ อาจต้องเจาะตรวจเชื้อที่บริเวณไขสันหลัง ไม่เช่นนั้นอาจพลาดโอกาสช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้”

นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ข้อมูลที่มีอยู่ตรงกันกับ สธ.ในระดับหนึ่งอยู่แล้วแต่สธ.ขาดการตอกย้ำมาตรการที่สำคัญให้มีความชัดเจนเช่น การให้ผู้ป่วยอยู่กับบ้านไม่ให้เดินทาง อย่างไรก็ตามขอชื่นชมการทำงาน ซึ่งทำได้ดีมากอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดความเข็มแข็ง เด็ดขาด ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลมีอำนาจสั่งห้ามหรือบังคับโดยสมัครใจให้เห็นถึงความจำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น