xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปิด “กวดวิชา” แค่แตะเบรก เผยพบ “หมอ” ติดหวัดพันธุ์ใหม่นับสิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผอ.ฮูอาเซียนชี้ยอดผู้ป่วย-ตายของไทยสูงสุดในภูมิภาค ไม่สะท้อนโรคระบาดรุนแรงกว่าประเทศอื่น แถมชมไทยก้าวหน้าระบบติดตามและรายงานผลเยี่ยม ขณะที่หมอระบุปิด ร.ร.กวดวิชาชั่วคราวแค่แตะเบรกชะลอให้ป่วยช้าลง แต่ไม่หยุดระบาด เผยตามหลักวิชาการหากมีผู้ติดเชื้อแล้ว 30% เชื้อจะหยุดระบาดเองอัตโนมัติ ระบุพบหมอป่วยแล้ว 10 คน วัคซีนสำเร็จต้องฉีดให้เป็นอันดับต้นๆ ปรับระบบรักษา ให้กลุ่มเสี่ยงป่วยมีโรคประจำตัว ให้รีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้อาการหนัก

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกว่า ในความเป็นจริงไม่มีใครทราบจำนวนที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อชนิดนี้ในแต่ละประเทศ การที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนั้น เป็นการยากที่จะบอกว่าประเทศไทยมีการระบาดของโรครุนแรงกว่าประเทศอื่น แต่เป็นเพราะประเทศไทยมีความก้าวหน้าของระบบการติดตามและรายงานกรณีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่มีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศอื่น จึงมีการรายงานตัวเลขทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

“การดำเนินการควบคุมโรคของประเทศไทยอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง โดยแต่ละประเทศมีแนวทางของตนเอง องค์การอนามัยโลกไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย ซึ่งเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถติดจากคนสู่คนได้เร็ว แต่ความรุนแรงไม่รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดาทั่วไป เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการติดตามว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดามีผู้เสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลที่มีเสนอต่อสาธารณะจึงเป็นเหมือนการได้ข่าวข้างเดียว เฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009เท่านั้น จากนี้จึงต้องมีการติดตามไข้หวัดใหญ่ธรรมดาด้วย เพื่อให้มีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มาเปรียบเทียบระหว่างไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 รูปแบบ” นพ.สำลีกล่าว

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า การประชุมระดับเอเชียแปซิฟิกในครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการให้ข้อมูลเพื่อให้สาธารณะเข้าใจโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่เกิดความกลัวกับโรคนี้จนเกินไปขณะเดียวกันก็ไม่ประมาท เนื่องจากที่ผ่านมาไทยดำเนินการในเรื่องนี้ได้ไม่สมดุล เมื่อให้ข้อมูลเรื่องใดมากเกินไปประชาชนก็เกิดความกลัวมาก แต่เมื่อให้ข้อมูลน้อยก็จะถูกกล่าวหาว่าประมาท จึงต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆในการดำเนินการในเรื่องนี้

“ในระหว่างที่ดำเนินการตามมาตรการจำนวนผู้ป่วยไม่ได้ลดลง สมมติเดือน มิ.ย.มีผู้ติดเชื้อ 1 แสนคน ในเดือน ก.ค.จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเป็น 2-3 แสนแน่นอน แต่เมื่อใช้มาตรการบางอย่างแล้ว จะทำให้ยอดผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้นในลักษณะที่รวดเร็ว ซึ่งการที่มียอดผู้ป่วยติดเชื้อออกมาทุกวัน วันละ 100-200 ราย เป็นการรายงานจำนวนผู้ป่วยตามที่ห้องแล็บตรวจสอบเชื้อเสร็จจากที่มีคิวรอตรวจอยู่นับพันราย ไม่ได้เป็นการสะท้อนว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันแต่อย่างใด” นพ.คำนวณกล่าว

ปิดกวดวิชาแค่แตะเบรก

นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า มาตรการให้โรงเรียนกวดวิชาปิดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวมถึงปิดร้านเกม เพื่อทำความสะอาด และคัดกรองผู้ใช้บริการ รวมถึงขอความร่วมมือสถานบันเทิงให้ดูแลพนักงาน และจัดระบบระบาดอากาศนั้น เป็นไปตามมติ ครม.ซึ่งดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดแล้ว แต่ยังไม่ถือเป็นการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโรคเป็นเพียงการชะลอการระบาดไม่ให้รวดเร็วเกินไป ไม่ให้เกิดการติดเชื้อพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จนระบบบริการสาธารณสุขสามารถรองรับได้

“การปิดสถาบันกวดวิชาจะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อช้าลง ทยอยป่วยทีละน้อย เหมือนเป็นการแตะเบรก เนื่องจากไม่ช้าก็เร็วซึ่งตามหลักวิชาการ มีข้อมูลว่า สุดท้ายแล้วการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะมีประชาชนติดเชื้อประมาณ ร้อยละ 20-30 ของแต่ละพื้นที่ จากนั้นการระบาดก็จะหยุดลงเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อ 1 ไวรัส ต่อประชาชน 1.5-2 คน ประเทศไทย มีประชากรราว 63 ล้านคน ดังนั้นจะมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น ราว 20 ล้านคน โดยประชาชนในเขตเมืองจะมีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนในชนบท เพราะมีความแออัดมากกว่า”นพ.คำนวณกล่าว

“การที่ สธ.เสนอให้ปิดโรงเรียนกวดวิชาโดยไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียนทั่วไป เป็นเพราะโรงเรียนทั่วไปสามารถเช็กนักเรียนที่มีอาการป่วยแล้วให้หยุดเรียนพักผ่อนอยู่ที่บ้านได้ ขณะที่โรงเรียนกวดวิชา แม้ครูจะขอความร่วมมือให้นักเรียนที่ป่วยหยุดเรียน แต่เด็กเสียเงินค่ากวดวิชาแล้วคงไม่มีใครหยุดเรียน” นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า

ยังไม่ปิดสถานบันเทิงผับ บาร์ แนะหลีกเลี่ยง

นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า นอกจากสถาบันกวดวิชาที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค สถานบันเทิงกลางคืน ร้านเกม และคอนเสิร์ต ก็เป็นสถานที่ที่มีรายงานการติดเชื้อจำนวนมาก แต่ยังไม่จำเป็นต้องห้ามทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ โดยจะขอความร่วมมือในการป้องกันโรค สำหรับเจ้าของกิจการให้ช่วยในการดูแลเจ้าหน้าที่และให้คำแนะนำในการป้องกันโรค ส่วนประชาชนทั่วไปหากเป็นกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงในการเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ

นพ.คำนวณ กล่าต่อว่า อย่างไรก็ตาม สธ.ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีผู้ให้ความร่วมมือกับมาตรการของ สธ.หรือไม่ เพราะเป็นการขอความร่วมมือไม่ได้เป็นการบังคับ ให้สถานบันเทิง ร้านเกม คอนเสิร์ตต่างๆ ปิดกิจการ หรือหยุดกิจกรรม แต่ให้มีระบบคัดกรอง หรือดูแลสุขภาพของพนักงาน ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย และที่สำคัญประชาชนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ หากร่างกายไม่แข็งแรงก็ไม่ควรออกไปเที่ยว หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ แต่หากร่างกายแข็งแรงก็สามารถไปในที่ใดๆ ก็ได้ และให้ระวังดูแลสุขภาพตัวเอง

เผยทั่วประเทศแพทย์ป่วยนับสิบราย
นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ทั้งแพทย์และพยาบาลติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หลายสิบราย ดังนั้น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009หากมีการผลิตได้และนำเข้ามาในประเทศไทยตามที่มีการสั่งจองไว้ 2 ล้านโดส อาจจะมีการพิจารณาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคงในระดับปฏิบัติการก่อน เนื่องจากหากคนกลุ่มนี้ป่วยจะไม่สามารถทำงานเพื่อความมั่นคงของประเทศได้ ซึ่งในเร็วๆ นี้ สธ.จะมีการเก็บสุ่มตัวอย่างเลือดของบุคลาการทางการแพทย์ เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่ามีใครเคยได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แล้วบ้าง

“สิ่งที่กระทรวงฯ จะดำเนินการเป็นการด่วน คือ การเร่งให้ความรู้กับกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวที่มีอยู่ 2.4 ล้านคนทั่วประเทศ แบ่งเป็นผู้ป่วยโรคปอด 1.3 แสนคน โรคหัวใจ 3 แสนคน โรคหอบหืด 3.8 แสนคน อัมพาต 1 หมื่นคน เบาหวาน 1.3 ล้านคน โรคมะเร็ง 1 หมื่นคน และผ่าตัดเปลี่ยนไต 6 หมื่นคน ให้เข้าใจว่าหากมีอาการไข้หวัดต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที และแจ้งให้แพทย์ทราบว่าป่วยเป็นไข้หวัดและมีโรคประจำตัว แพทย์จะได้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที” นพ.คำนวณกล่าว

ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลลด 80% เป็นหวัด 2009
นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า จากเดิมที่มีการคาดการว่าในปี 2552 จะมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่พร้อมกัน 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ตามฤดูกาล และสายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ปรากฏว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาลลดลงจำนวน ผู้ป่วยที่มีการตรวจยืนยันเชื้อหลายพันรายพบว่า 80% เป็นผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยารายงานพบไข้หวัดตามฤดูกาลตั้งแต่ ม.ค.-30 มิ.ย.จำนวน 7,423 ราย เสียชีวิต 1 ราย ขณะที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากปอดบวม 444 ราย จากผู้ป่วย 54,799 ราย

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลชัดเจนว่าโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่จะเป็นปอดอักเสบ ในการรักษาจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคทรวงอก ดังนั้น จากเดิมที่ สธ.มีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วในการเข้าไปสอบสวนโรคเมื่อพบพื้นที่ระบาด จากนี้จะมีการเพิ่มทีมดูแลรักษาเคลื่อนที่เร็วด้วยมี นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.เป็นประธาน โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมในทีม โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละแห่ง เช่น คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลรับผิดชอบพื้นที่ใด เมื่อมีผู้ป่วยอาการรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ศิริราชพยาบาลจะต้องส่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำในการดูแลรักษาผู้ป่วยทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น