xs
xsm
sm
md
lg

ติดเชื้อมรณะตายรายวัน-ต้องรับผิดชอบ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข
หากนับจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 ล่าสุดจนถึงเมื่อเวลา 17.00 น.วานนี้ (8 กรกฎาคม) มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวนถึง 11 ราย และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 2,714 คน

มีแนวโน้มว่าทั้งยอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกนาที

ตายกันเป็นใบไม้ร่วง ตายกันแบบรายวัน !!

หากพิจารณากันตามความเป็นจริงถือว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต เพราะลักษณะการติดเชื้อได้แพร่กระจายอย่างไม่มีวงจำกัด ขณะเดียวกันผู้ที่เสียชีวิตในระยะหลังก็มีคนในวัยหนุ่มสาวที่แข็งแรงรวมอยู่ด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ

เดิมเคยพบเฉพาะคนแก่และเด็กที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอ หรือได้รับคำอธิบายว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และมีโรคแทรกซ้อนก็ตาม

จากการรับฟังรายงานข้อมูลมาตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน บางรายที่เสียชีวิตเป็นหญิงที่ตั้งท้อง 5 เดือนลักษณะ “ตายทั้งกลม” น่าเศร้ายิ่งนัก

ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งยังไม่พบว่าจะมีการมาตรการป้องกันรับมืออย่างไร เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้เชื้อหวัดมรณะสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวอยู่ในวงจำกัดได้อย่างไร

เพราะถ้าย้อนกลับไปตรวจดูสถิติผู้ป่วยที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน มีผู้ติดเชื้อแค่ 40 กว่าราย แต่เมื่อมาถึงเดือนกรกฎาคมในปัจจุบัน ตัวเลขได้เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างน่ากลัว

แม้ว่าในเบื้องต้นอาจยอมรับว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ ได้แพร่กระจายมาจากต่างประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่ระบาดในหลายประเทศทางยุโรป และอเมริกาอาจจะไม่เลวร้ายเท่า เพราะมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนน้อยกว่าก็ตาม แต่หากดูจากสถิติล่าสุดในประเทศไทยแล้วเชื่อว่าหลายคนอาจต้องเปลี่ยนใจ เพราะน่ากลัว เนื่องจากได้เห็นการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เริ่มจากกระทรวงสาธารณสุข หากพิจารณาจากสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิต และติดเชื้อในเวลานี้ถือว่า “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง

เมื่อโฟกัสไปที่ตัวบุคคลที่รับผิดชอบไปตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วิทยา แก้วภราดัย นพ.ปราชญ์ บุญญวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึง นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รวมไปถึงผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา เมื่อเกิดเหตุการแพร่ระบาดก็ไม่ได้เห็นการทำงาน หรือมีมาตรการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้เลย

และมองให้ลึกลงไปอีกในระดับฝ่ายปฏิบัติการคือฝ่ายแพทย์และโรงพยาบาล กลับพบว่าไม่มีการประสานงานที่สอดคล้องกัน หากไม่ใช่เป็นการกล่าวที่เกินเลยหลังจากเกิดการแพร่ระบาดกลับแทบไม่เคยเห็นหน้าอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา เลย หรือถ้าปรากฎตัว ก็แทบจะนับครั้งได้ ทั้งที่ฟังเพียงชื่อคือ “กรมควบคุมโรค” และสำนักระบาดฯ ก็น่าจะมีบทบาทเข้มข้นมากกว่านี้แน่นอน

อย่างไรก็ดี หากมองอีกมุมหนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้นมา มันก็สามารถวัดประสิทธิภาพในด้านการทำงาน การบริหารของแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อพิจารณาจากผลงานที่ปรากฏ ก็ต้องสรุปแบบไม่ต้องไว้หน้าว่า “ไม่เอาไหน” และน่าจะต้องมีคนแสดงความรับผิดชอบบ้าง

ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขแทบทั้งหมดในปัจจุบันล้วนเติบโตมาในยุคของ “ระบอบทักษิณ” บางคนยังมีเสียงนินทาค่อนแคะว่า ได้ตำแหน่งมากับการวิ่งเต้นรับใช้การเมืองมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ไต่เต้ามาด้วยความสามารถอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อการบริหารเต็มไปด้วยเครือข่ายการเมืองระบบเก่า บางครั้งมันก็มีผลกระทบในด้านการสั่งการจากฝ่ายการเมือง จนไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเป็นไปได้ว่า รัฐมนตรีทำอะไรได้ไม่ถนัด

แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งเด็ดขาดของฝ่ายการเมืองในการบริหารสั่งการ

นอกเหนือจากนี้อีกระดับชั้นที่เหนือขึ้นไปที่จะต้องถูกตำหนิและปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ก็คือรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้บริหารสูงสุด ที่จะต้องลงมากำกับดูแลสั่งการอย่างใกล้ชิด

เพราะถ้าพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ถือว่าอยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤต แต่กลับกลายเป็นว่ายังบริหารกันไปตามปกติ ทุกอย่างก็เลยเลวร้ายเกินคาดคิด อย่างที่เป็นอยู่

ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการปิดประเทศ เพื่อควบคุมโรค หลายฝ่ายมองว่า มาถึงวันนี้ถือว่าสายไปแล้ว และได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเชื้อโรคได้แพร่กระจายไปทั่วจนควบคุมได้ยากแล้ว

ดังนั้นการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากจะต้องมีคนรับผิดชอบแล้ว อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลในการหามาตรการรับมือในแต่ละปัญหาอีกด้วย
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น