นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม “วิทยา” กรณีโรงเรียนกวดวิชานาน 2 สัปดาห์ ด้านเจ้ากระทรวงรับลูกหลังประชุมนานกว่า 2 ชม.เผยเตรียมชงเสนอครม.ลดจำนวนวันที่ปิด
เมื่อเวลา 10.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา และคณะ เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กรณีมติครม.สั่งปิดโรงเรียนกวดวิชานาน 2 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13-28 กรกฎาคม โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง
นายอนุสรณ์ กล่าวภายหลังการหารือ ว่า การปิดโรงเรียนกวดวิชาของ สธ.นั้น ไม่มีข้อมูลการระบาดของโรคในเด็กนักเรียนที่ไปเรียนกวดวิชาที่เป็นรายๆ อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นรายบุคคล ว่า มีเด็กกี่คน ชื่ออะไร เรียนที่ใด ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 บ้าง ซึ่งสำนักระบาดวิทยา มีข้อมูลเพียงโดยภาพรวมเชิงสถิติเท่านั้น ถ้าไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจนว่า โรงเรียนกวดวิชาเป็นแหล่งที่ระบาดของโรค ก็ควรจะมีการทบทวนมติ ครม.ที่ให้สั่งปิดโรงเรียนกวดวิชาใหม่ โดยขอชี้แจงว่า โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้เป็นจำเลยของสังคม แต่เป็นผู้เสียสละของสังคม ซึ่งการที่ปิดโรงเรียนกวดวิชาแล้ว 3 วัน คือ วันที่ 6-8 กรกฎาคมจำนวนผู้ป่วยก็ไม่ได้ลดลง
“โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้เป็นเด็กดื้อ แต่หากมีข้อมูลเชื่อถือได้ว่าโรงเรียนกวดวิชาเป็นที่แพร่ระบาดของโรค พวกเราก็พร้อมจะปฏิบัติตามอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.ในการแจกหน้ากากอนามัยและ เจลล้างมือให้กับเด็กนักเรียน ช่วยคัดกรองเด็กที่ป่วยให้ใส่หน้ากากอนามัย หรือให้กลับบ้านไปพักผ่อน ซึ่งในกรุงเทพฯ มีโรงเรียนกวดวิชาที่มีแบรนด์ได้มาตรฐานประมาณ 40-50 สถาบัน แต่ละสถาบันมีสาขารวมแล้ว 100 กว่าแห่ง ซึ่งเด็กนักเรียน ร้อยละ 80 สมัครเรียนในโรงเรียนกวดวิชาที่ได้มาตรฐานทั้งสิ้น” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า โรงเรียนแต่ละแห่งมาตรฐานไม่เหมือนกัน หากเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้มาตรฐานและขึ้นทะเบียนถูกต้องก็อาจจะพิจารณาให้ปิดเพื่อปรับปรุง อย่างเช่นกรณีที่ห้องเรียนมีความแออดัดเกินและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.
นายวิทยา กล่าวว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 14 ก.ค.นี้ ตนจะเสนอขอความเห็นชอบในหลักการให้ครม.พิจารณาทบทวนจำนวนวันในการปิดโรงเรียนกวดวิชาให้ลดลงจากเดิมที่ปิด 15 วัน โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการจะต้องดำเนินการมาตรการการเฝ้าระวังโรคให้ได้ตามมาตรฐานที่สธ.กำหนด คือ ก่อนเข้าเรียนต้องคัดกรองนักเรียน หากมีอาการป่วยให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านและโรงเรียนจะสอนชดเชยให้กับนักเรียน รวมถึงให้ใช้เจลล้างมือก่อนและหลังเข้าเรียน และระหว่างนั่งเรียนให้สวมหน้ากากอนามัยด้วย ส่วนโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถือว่าไม่ได้อยู่ในกรอบที่ให้มีการผ่อนผลัน
“วันที่ 16 ก.ค.เวลาประมาณ 13.00 น.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และโรงเรียนกวดวิชาจะประชุมร่วมกันเพื่อร่วมกันทำความเข้าใจในการวางมาตรฐานดังกล่าว จากนั้นหากโรงเรียนกวดวิชาสามารถดำเนินการได้ตามนี้ ก็จะลดจำนวนวันในการปิดโรงเรียนกวดวิชา ส่วนจะเริ่มเปิดเรียนได้เร็ว หรือช้าอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับโรงเรียนกวดวิชาจะสร้างมาตรการเฝ้าระวังได้เร็วแค่ไหน” นายวิทยา กล่าว