xs
xsm
sm
md
lg

มีด้วยหรือ? หนีศาลแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

พ.ต.ท.ทักษิณ เอาแต่ได้จริงๆ เอาเปรียบประเทศชาติและประชาชนในทุกด้านอย่างร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ศาลสถิตยุติธรรมตัดสินแล้วว่าได้กระทำความผิด แต่ไม่ยอมรับผิดในการกระทำความผิดของตน ไม่รู้สำนึกในความผิดของตน อีกทั้งปลุกระดมพวกพ้องให้กระทำการทางการเมืองที่ไม่ชอบมาพากล แสดงถึงความเหลวแหลกของขบวนการทักษิณ ได้กระทำการเหยียบย่ำกฎเกณฑ์ของชาติบ้านเมือง ข่มขืนใจสาธุชนคนดีผู้มีสติสัมปชัญญะทั่วไปในชาติ

ท่านทั้งหลายจะต้องเข้าใจอย่างเป็นธรรมว่าระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัว กับความสัมพันธ์ต่อรัฐหรือความสัมพันธ์ในทางสาธารณะ ในความสัมพันธ์ส่วนตัว คุณทักษิณ อาจจะเป็นคนดีของใครก็ได้ เช่น เป็นคนดีของครอบครัว เป็นคนดีของพรรคพวกเพื่อนฝูง เป็นต้น

การกระทำของคุณทักษิณ เป็นการกระทำความผิดต่อชาติบ้านเมืองด้วยความโลภ เป็นความผิดต่อสาธารณะ และศาลก็ได้ตัดสินอย่างยุติธรรมที่สุดแล้ว แต่คุณทักษิณกลับหนีศาลไม่ยอมรับการการตัดสินของศาล และก็กระทำการโจมตีกระบวนการยุติธรรมของไทยต่างๆ นานา ต่อประชาคมโลก ทั้งนี้เพื่อทำความเชื่อถือของศาลไทย

คุณทักษิณ ก็ให้พรรคพวกเคลื่อนไหวทางการเมืองปลุกระดมล่ารายชื่อ เพื่อถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ

ท่านทั้งหลายโปรดทราบว่า ขบวนการเป็นการกระทำที่ชั่วร้ายมาก เป็นการกระทำที่หักล้างกฎข้อบังคับ กฎระเบียบการที่วางไว้ในการขอพระราชทานอภัยโทษ แท้จริงขบวนการทักษิณเป็นขบวนการของคนพาล ที่ได้กระทำการข่มขืนใจสาธุชนคนดีทั้งหลายภายในชาติ

ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สาธุชนคนดีทั้งหลายภายในชาติ ไม่ให้ถูกโดดเดี่ยว “ข่ม ปราบคนพาล อภิบาลคนดี” ย้อนกลับมาดูคำพิพากษาของศาล ดังความย่อ “องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 ม. 4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ...

สำหรับประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ จำเลยทั้ง 2 ยกเป็นข้อโต้แย้ง ประกอบด้วย เรื่องอำนาจของ คตส. ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ เรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ. 2542 สิ้นสภาพไปจากการยึดอำนาจของ คปค. รวมทั้งข้อต่อสู้เรื่อง คตส. ไม่มีอำนาจในการสอบสวน อีกทั้ง การสอบสวนไม่ชอบตั้งแต่เริ่มต้น ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อโต้แย้งทั้งหมดฟังไม่ขึ้น ส่วนบรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่างๆ ก็ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

สำหรับประเด็นข้อเท็จจริง ที่จำเลยทั้ง 2 ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กองทุนฟื้นฟูไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ อำนาจของจำเลยที่ 1 ว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยกฎหมาย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ม. 4 มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่น ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ใช้บังคับอยู่

จำเลยที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจ ควบคุมราชการทั้ง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค... มีอำนาจหน้าที่ขอบเขตอย่างกว้างขวาง มีอำนาจเหนือข้าราชการทุกตำแหน่ง ทุกกระทรวง ทบวง กรม

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจกำกับดูแล กองทุนฟื้นฟูฯ เคยใช้อำนาจในการควบคุมกำกับกองทุนฟื้นฟู องค์คณะผู้พิพากษามีมติ 6 ต่อ 3 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจ กำกับ กองทุนฟื้นฟู ข้อต่อสู้ของจำเลย ทั้ง 2 มิอาจรับฟังได้

ประเด็นเรื่องทำให้กองทุนฟื้นฟูได้รับความเสียหายจากการประมูลซื้อขายที่ดินหรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี มีฐานะมั่งคั่ง เป็นบุคคลที่มีอำนาจบารมีทางการเมืองสูง การที่มีการประมูลราคา โดยมีผู้แข่งขันกันเพียง 3 ราย ขณะที่ผู้เสนอราคา ไม่ต้องการเสนอราคาที่สูง เพื่อไม่ต้องการซื้อในราคาที่แพง รวมถึงจำเลยที่ 2 ภรรยาจำเลยที่ 1 ก็ไม่สมควรเข้าไปซื้อทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟู เพราะการประมูลขายทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟู ซึ่งนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบ กองทุนฟื้นฟู

จำเลยที่ 2 เป็นภรรยานายกรัฐมนตรี และมีการรู้กันก่อนล่วงหน้าว่า ภรรยานายกรัฐมนตรีมาซื้อที่ดิน และข้าราชการส่วนใหญ่ ก็ย่อมปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองสูง ถือเป็นการประมูลโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ทำให้กองทุนฟื้นฟูได้รับความเสียหาย ประกอบกับจำเลยทั้ง 2 ไม่มีหลักฐานมาแสดงหักล้างได้ องค์คณะมีมติ 5 ต่อ 4 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วย ป.ป.ช.ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้ง 2 ฟังไม่ขึ้น

สำหรับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้าย ที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 2 ร่วมประมูลราคา และทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท เนื่องจากสถานภาพของ จำเลยที่ 1ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายกฯ ซึ่งต้องห้าม ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ จำเลยที่ 1 มีความผิด ต้องรับโทษ ตาม ม.100 องค์คณะมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าที่ดินพิพาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ที่ดินพิพาทและทรัพย์สิน จึงไม่จำเป็นต้องริบตามกฎหมาย

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100 ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง”

คำพิพากษานี้ สำหรับสาธุชนคนดีทั้งหลาย วิเคราะห์กันอย่างถึงที่สุดแล้ว ถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่ยุติธรรมที่สุด

แต่ทักษิณและพวกเป็นคนพาล จึงจำเป็นที่ ขบวนการสาธุชนคนดีทั้งหลาย จะต้องออกมาต่อต้านขบวนการคนพาลอันใหญ่โตของชาตินี้ให้เพลาลงเสียบ้าง

เรามาดูคำพูดของขบวนการคนพาล ตามข่าว “นายวีระ มุสิกพงศ์ พร้อมด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยืนยันว่าการดำเนินการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อถวายฎีกาของพระราชทานอภัยโทษในคดีที่ดินรัชดาให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของกลุ่มความจริงวันนี้ ไม่ได้ เป็นการไปกดดันให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท อย่างที่หลายฝ่ายต่างออกมากล่าวหา เพราะสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องรับผิดมาก่อน

ทั้งนี้ นายวีระ กล่าวต่อว่า การที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สำนึกผิดก่อนที่จะขอพระราชทานอภัยโทษว่า เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ พยายามจะยัดเหยียดความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งตนขอยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำความผิด” ส่วน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “เพราะถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มีความผิด” คำพูดของนายวีระ มุสิกพงศ์ และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ได้บ่งบอกถึงความเป็นคนพาล ที่ไม่ยอมรับการตัดสินของศาลไทย แต่ทำไมถึงยังเชิดหน้าชูตาอยู่ได้ มันเป็นยุคของ “กระเบื้องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยกลับถอยจม” จริงๆ

จะเห็นได้ว่าพวกเขาแยกแยะความสัมพันธ์ส่วนตัวกับส่วนรวมไม่ถูก พวกเขาจึงดำเนินการมั่ว ป่วน กูจะทำเสียอย่าง โดยไม่คำนึงถึงหัวอกของประชาชนผู้รักความเป็นธรรม

ความเห็นโดยธรรมของ พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี มีการถามว่า หากมีการขออภัยโทษจะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่ พล.อ.พิจิตร กล่าวว่า “ประเทศไทยมีฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติในการทำหน้าที่ชัดเจน ซึ่งอยากถามว่า ทางอำนาจตุลาการตัดสินไปอย่างไร ซึ่งตุลาการตัดสินไปแล้ว ดังนั้นต้องว่ากันไปตามกฎหมาย เรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในขั้นตอนของกฎหมาย”

รัฐบาลก็ดี ศาลก็ดี อย่าตกเป็นเงื่อนไข อย่าตกเป็นเครื่องมือ อย่าตกเป็นฝ่ายรับทางการเมืองให้กับกลุ่มชนคนชั่วทางการเมือง จะต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจน หมดความสงสัย แต่คิดว่าคงยาก อันเป็นความอ่อนแอของระบอบการเมืองเผด็จการฯ ก็คงจะรอให้สาธุชนคนดี ผู้รักความเป็นธรรมของชาติ ออกมาจัดการกับขบวนการอิทธิพลคนพาลของชาติ

กำลังโหลดความคิดเห็น