xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูฯ อ้างซื้อที่รัชดาเป็นโมฆะ ขอศาลห้าม “เมียแม้ว” ขายต่อ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร หรือดามาพงศ์  อดีตภรรยา ทักษิณ ชินวัตร
อัยการนำพยานเบิกความคดีกองทุนฟื้นฟูฯ ร้องศาลแพ่งให้คุ้มครองชั่วคราว ห้าม “พจมาน” โอนขายที่ดินรัชดาฯ ระบุกฎหมาย ป.ป.ช.ห้ามคู่สมรสทำสัญญากับหน่วยงานรัฐชัดเจน การทำนิติกรรมจึงเป็นโมฆะ ด้านทนายขอศาลใช้สิทธิไต่พยาน 1 ปาก “สมบูรณ์ คุปติมนัส” ผู้รับมอบอำนาจจากพจมานยื่นซองประมูล ศาลนัดไต่สวน 25 ม.ค.ปีหน้า

วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 412 ศาลแพ่ง เวลา 13.30 น. ศาลนัดไต่สวนคำร้องคุ้มครองชั่วคราวที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ขอให้ศาลห้ามคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร หรือดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำหน่าย จ่าย โอน ที่ดินรัชดาฯ จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 33 ไร่เศษ มูลค่า 772 ล้านบาท หลังจากที่กองทุนฟื้นฟูฯ ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 5379/2552 เรื่องโมฆะกรรม ให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรัชดาฯ เป็นโมฆะ และให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่คุณหญิงพจมาน เป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว และให้คุณหญิงพจมาน ส่งมอบที่ดินคืนกองทุนฟื้นฟูฯ

โดยอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดีให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ นำพยานเข้าไต่สวนเพียงปากเดียว คือนายพิภพ ภู่เพ็ง นิติกรอาวุโส สำนักกฎหมายและติดตามทรัพย์สินฝ่ายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งนายพิภพ ระบุว่า เหตุที่กองทุนฟื้นฟูฯ ยื่นฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาคดีการซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ดังกล่าว

โดยศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติการเข้าร่วมทำสัญญาซื้อขาย พ.ต.ท.ทักษิณ คู่สมรสของคุณหญิงพจมาน จำเลย กระทำการขัดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 ที่บัญญัติห้ามคู่สมรสทำสัญญากับรัฐในหน่วยงานรัฐที่ผู้นำมีอำนาจ ดูแลจัดการ นอกจากนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ ยังได้ทำหนังสือหารือถึงอัยการสูงสุดว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2546 เป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งอัยการสูงสุดได้ทำหนังสือตอบข้อหารือเมื่อเดือน ก.ค.52 ว่า การพิจารณาว่าสัญญาเป็นโมฆะหรือไม่เป็นเรื่องทางแพ่ง ไม่อาจนำผลคดีอาญามาใช้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 100 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ห้ามคู่สมรสเจ้าหน้าที่รัฐ ทำสัญญากับหน่วยงานรัฐที่เจ้าหน้าที่นั้นดูแลตรวจสอบ นิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ต้องห้ามอย่างชัดแจ้งโดยกฎหมาย และเหตุที่ต้องยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากการพิจารณาคดีในชั้นศาลใช้เวลายาวนาน จึงเกรงว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาซื้อขายที่ดิน กองทุนฟื้นฟูฯ โจทก์จะได้รับความเสียหายได้ และเหตุตามคำฟ้องโจทก์จะสิ้นสุดไปทำให้ได้รับความเสียหายเช่นกัน

นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประสาสน์ ทนายความคุณหญิงพจมานได้ซักถามพยานโจทก์ว่า หลังจากการซื้อขายที่ดินเมื่อปี 2546 จนถึงวันนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่าจำเลยจะนำที่ดินไปจำหน่าย จ่ายโอน ใช่หรือไม่ เพราะหลังซื้อที่ดินจำเลยยังไม่เคยทำประโยชน์ในที่ดินเลย นายพิภพตอบอย่างอึกอักว่ายังไม่มีข้อมูล แต่เหตุที่ไม่มีข้อมูลเพราะที่ดินฯ ดังกล่าวถูกฟ้องเป็นคดี จึงอาจทำให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้ามาซื้อขาย เมื่อทนายพยายามถามอีกว่า ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ฟ้องเรียกคืนที่ดินเพราะปัจจุบันราคาประเมินที่ดินดังกล่าวสูงถึง 900 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯ ไม่อาจยึดครองที่ดินไว้เอง ดังนั้น หากเรียกคืนแล้วก็จะนำไปขายอีกใช่หรือไม่ นายพิภพตอบว่า ไม่ทราบเป็นเรื่องของกองทุนฟื้นฟูฯ พยานเกี่ยวข้องเฉพาะการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวคดีนี้

ภายหลังไต่สวนพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว นายฉัตรทิพย์ ทนายความคุณหญิงพจมานแถลงศาลว่า ฝ่ายจำเลยมีพยานจะนำเข้าไต่สวน 1 ปาก ศาลพิจารณาแล้วจึงนัดไต่สวนพยานจำเลย ในวันที่ 25 ม.ค.53 เวลา 13.30 น.

ขณะที่ นายฉัตรทิพย์ ทนายความคุณหญิงพจมานกล่าวว่า สำหรับพยานที่เตรียมจะนำเข้าไต่สวน คือ นายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจจากคุณหญิงพจมาน ให้ยื่นซองประกวดราคาซื้อที่ดินกับกองทุนฟื้นฟู

อย่างไรก็ดี นายฉัตรทิพย์ยังกล่าวถึงการไต่สวนพยานอัยการ 2 ปากสุดท้ายคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าทีมทนายความพร้อมเต็มที่ในการซักค้านพยาน
กำลังโหลดความคิดเห็น