xs
xsm
sm
md
lg

อย่าให้ประเทศไร้ซึ่งความเป็นนิติรัฐเพราะข้อหาการก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

บทความนี้ผู้เขียนมีเจตนาที่จะเสนอบทความทางวิชาการเพื่อให้ข้อคิดแก่ประชาชนและบุคคลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่และอยู่ในฐานะเป็นบุคคลชนชั้นของการเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน ผู้เขียนไม่มีเจตนาฝักใฝ่ในทางการเมืองแต่อย่างใด แต่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับผิดชอบในการทำหน้าที่เป็นองค์กรของรัฐในการบริหารราชการแผ่นดินได้ตระหนักถึงภาวะหน้าที่ที่จะต้องรักษา “รัฐ”หรือ”ประเทศ” ให้คงมีสถานะของการเป็นนิติรัฐโดยต้องจรรโลงไว้ซึ่งความยุติธรรมอันเป็นหน้าที่ของการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องกระทำตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้

จากข่าวซึ่งออกสู่สาธารณะในระยะ 2-3 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกและกล่าวหาประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้ทำการชุมนุมประท้วงรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ( ฝ่ายบริหาร ) รวมถึงผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ( จำนวนหนึ่ง ) ที่พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันมิใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน การชุมนุมประท้วงต่อต้านได้ใช้เวลายาวนานจนเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีใหม่ด้วยเหตุอื่นอันมิใช่เป็นการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเพราะการประท้วงที่มีมาตั้งแต่ต้น การประท้วงได้ติดต่อเป็นเวลาเกือบ 200 วัน ในระหว่างการชุมนุมประท้วงของประชาชนก็ได้เกิดเหตุการณ์อันเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งทำให้ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วง (รวมทั้งประชาชนทั่วไป) มีความวิตกกังวลถึงการสูญเสียอธิปไตยแห่งดินแดนให้แก่รัฐต่างประเทศ หรือเสื่อมเสียไปซึ่งเอกราชในดินแดนบริเวณรอบหรือต่อเนื่องกับเขาพระวิหารอันเนื่องมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร การชุมนุมประท้วงซึ่งมีที่มาของเหตุที่ไม่ให้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารในขณะนั้นได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ไม่ต้องการให้แก่รัฐธรรมนูญ) อันเป็นสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านโดยสันติวิธีที่จะไม่ให้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยเหลือบุคคลเพื่อให้พ้นจากการกระทำอันเป็นความผิดทางอาญาและกลับมาใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีกรณีปราสาทพระวิหารเกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว อันเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารในขณะนั้น ก็เป็นการตอกย้ำถึงความชอบธรรมของประชาชนผู้ชุมนุมต่อต้านการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของผู้มีอำนาจรัฐมากยิ่งขึ้นการชุมนุมต่อต้านของประชาชนจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 มาตรา 69 มาตรา 70 มาตรา 71 และบริบทแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนรวมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

จากการชุมนุมประท้วงดังกล่าวได้มีการใช้สถานที่ในการชุมนุมในบริเวณสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลได้ใช้อาคารสนามบินดอนเมืองเป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ( นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) ไปประชุมในต่างประเทศและกำลังจะเดินทางกลับประเทศไทย ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นสาธารณะได้มีการออกข่าวไปทั่วประเทศและทั่วโลกทั้งทางสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนและประชาคมโลก และผู้เขียนก็ได้รับทราบจากข่าวที่ปรากฏเป็นที่สาธารณะด้วยเช่นกัน

การตั้งข้อกล่าวหาที่เป็นการกระทำความผิดทางอาญา จึงต้องพิจารณาจาก “การกระทำ” (ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผล) ซึ่งต้องพิจารณาถึงต้นเหตุแห่งการกระทำว่าผู้กระทำมีจุดประสงค์ในผลอย่างไร หรือการกระทำนั้นย่อมเล็งเห็นได้หรือไม่ว่าจะเกิดผลขึ้นตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ถ้าการกระทำนั้นไม่ได้ประสงค์ต่อผลของการก่อการร้าย หรือไม่ได้เกิดผลของการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายแล้ว พนักงานสอบสวนจะตั้งข้อหาก่อการร้ายหาได้ไม่ (ผู้เขียนจะไม่ก้าวล่วงไปถึงปัญหาว่าใครเป็นผู้สั่งปิดสนามบินเพราะจะหมิ่นแหม่กับบทความที่ผู้เขียนประสงค์ให้เป็นบทความทางวิชาการเท่านั้น)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า ในขณะที่สนามบินหยุดให้บริการ ไม่มีการให้บริการในการบินนั้น ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารหมดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินลง ผู้ชุมนุมต่อต้านก็ได้ประกาศยุติการชุมนุมในทันทีและแยกย้ายกันกลับบ้าน การกระทำของผู้ชุมนุมต่อต้านจึงเป็นการกระทำที่มีมูลเหตุอันเนื่องมาจากคัดค้านต่อต้านมิให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระทำของผู้ชุมนุม ได้กระทำต่อเนื่องกันมา ซึ่งถือได้ว่า เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวที่กระทำต่อเนื่องกันมา โดยมีมูลเหตุของการใช้สิทธิชุมนุมตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ เจตนาของการชุมนุมได้แสดงออกต่อสาธารณะชน โดยการประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้นำชุมนุมและโดยการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุม อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณชนและประชาคมโลกอย่างชัดแจ้ง

ข้อหาการก่อการร้าย เป็นการกระทำความผิดที่ต้องมีเจตนาพิเศษ ผู้กระทำต้องกระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย และเป็นการกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆหรือเป็นการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือ โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายของเศรษฐกิจอย่างสำคัญ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1) มูลเหตุแห่งการชุมนุมเกิดจากการกระทำของการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ได้แสดงออกว่าจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้เกิดผลประโยชน์เฉพาะเรื่องที่มิใช่ประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมก็ดีการบริหารราชการแผ่นดินในกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นที่เคลือบแคลงว่าประเทศจะสูญสิ้นไปซึ่งอธิปไตยแห่งดินแดนก็ดีการชุมนุมดังกล่าวจึงมิได้เจตนาพิเศษในการกระทำการก่อการร้ายแต่อย่างใด

เมื่อพูดถึงการกล่าวหาเป็นคดีอาญากับบุคคลใดหรือกับประชาชนคนใดแล้ว คนมักจะเข้าใจว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางอาญาให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนไป พนักงานอัยการสั่งฟ้อง และให้ศาลตัดสินไป ซึ่งมักจะพูดกันว่าให้ไปพิสูจน์กันในศาล ซึ่งผู้เขียนได้ยินจากคำพูดของผู้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน หรือนักการเมืองผู้ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินอยู่เสมอ การพูดเช่นนั้นเป็นการพูดที่เข้าใจในหลักการของการบริหารราชการแผ่นดินและหลักรัฐธรรมนูญอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน ซึ่งก่อให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นในแผ่นดินอย่างทั่วหน้ามาจนทุกวันนี้ การที่บุคคลใดถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญา ถูกสอบสวนเป็นคดีอาญานั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณทั้งของตนเองและของบุคคลในครอบครัว ซึ่งได้รับการกระทบกระเทือนไปด้วย สถานภาพของบุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญาในทางสังคมและเศรษฐกิจจะถูกกระทบและเปลี่ยนแปลงในทันทีรัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีอาญาไว้อย่างชัดแจงใน “ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 39 ว่าจะต้องมี “การกระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้” กับได้บัญญัติไว้มาตรา 40 ( 4 ) ว่า “ ผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม” และมาตรา 40 ( 7 ) ว่า “ ในคดีอาญา ผู้ต้องหา หรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยชั่วคราว” ซึ่งกล่าวได้ว่า สิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่จะถูกกล่าวหาดำเนินคดีอาญานั้น พนักงานสอบสวนจะต้องทำการสืบสวนสอบสวนแล้ว มีการกระทำความผิดอันเป็นการก่อการร้ายเกิดขึ้นจริง มีผู้กล่าวโทษหรือมีผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวและพนักงานสอบสวนได้ทำการสืบสวนสอบสวนแล้วมีมูลการกระทำความผิดตามที่กล่าวโทษ ร้องทุกข์แล้ว หรือพนักงานสอบสวนพบเห็นการกระทำความผิดเองแล้วทำการสืบสวนสอบสวนว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและมีผู้กระทำความผิด มีพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนนั้นแล้ว เพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้องตั้งแต่การเริ่มต้นของการถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญา สิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่จะถูกดำเนินคดีอาญา เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับรองไว้โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ดังกล่าว

ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญได้บัญญัติแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้ในหมวดที่ 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเป็นเรื่องที่ทุกองคาพยพที่บริหารงานแผ่นดิน หรือที่เรียกว่าอำนาจ อธิปไตย (SOVEREIGNTY ) หรือที่เรียกว่าอำนาจรัฐ (ซึ่งก็คืออำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ องค์กรที่ใช้อำนาจอิสระตามรัฐธรรมนูญ) จะต้องยึดถือปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐทั้งสิ้น และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้บัญญัติ แนวนโยบายด้านกฎหมายและความยุติธรรมไว้ใน มาตรา 81 ว่า “ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรมดังต่อไปนี้ ( 1 ) ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง…………และจัดระบบงานราชการและงานรัฐอย่างอื่นในกระบวนยุติธรรมให้มีประสิทธิ์ภาพ……………… ( 2 ) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลให้พ้นจากการล่วงละเมิดทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและโดยบุคคลอื่น และต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน.” เมื่อปรากฏว่าการสอบสวนคดีอาญาเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งเป็นอำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร เพราะการสอบสวนเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหารอยู่ในอำนาจการควบคุมดูแลและบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจึงมีหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะต้องดูแลให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติการและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือประชาชน ให้พ้นจากการล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย โดยพนักงานสอบสวนจะกล่าวหาบุคคลใดเพื่อที่จะสอบสวนบุคคลนั้นในการกระทำอันมิใช่ความผิดอาญานั้นหาได้ไม่ ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลไม่อาจปล่อยปละละเลยให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการสอบสวนในความผิดโดยไม่มี “การกระทำความผิด” ได้แต่อย่างใดไม่ เพราะบุคคลไม่ต้องรับโทษในทางอาญาเว้นแต่ได้ “กระทำการ” อันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ (รัฐธรรมนูญมาตรา 39) เมื่อบุคคลหรือประชาชนไม่ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแล้ว อำนาจในการกล่าวหาเป็นความผิดและอำนาจในการสอบสวนเป็นความผิดอาญาของพนักงานสอบสวนไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งพนักงานสอบสวนจะทำการกล่าวหาหรือเรียกให้มารับข้อกล่าวหาหรือทำการสอบสวนไม่ได้เลย เพราะอำนาจอธิปไตย (SOVEREIGNTY) เป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนจึงไม่ใช่เป็นลูกฟุตบอลที่จะถูกเขี่ยลงกลางสนามเพื่อให้ผู้ใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมเตะเล่นกลางสนามตามอำเภอใจด้วยวิธีการส่งให้พนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการสั่งฟ้อง โดยจะเห็นว่าศาลเป็นสนามฟุตบอลนั้นหาได้ไม่ ประชาชนไม่ใช่วัตถุที่จะถูกกระทำโดยผู้ใช้อำนาจรัฐ แต่ประชาชนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรัฐและเกิดการใช้อำนาจรัฐ การใช้อำนาจรัฐจึงต้องดำเนินการเพื่อประชาชน การใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรจึงเป็นอำนาจรัฐที่ถูกจำกัดซึ่งสิทธิของการใช้อำนาจรัฐ ( LIMITED SOVEREIGNTY) โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติการจำกัดสิทธิของการใช้อำนาจรัฐไว้ ในมาตรา 26 ว่า “การใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานของรัฐ) ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และรัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ในมาตรา 27 อีกว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรง ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ”

การถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญาในข้อหาก่อการร้ายหรือข้อหาใดก็ตาม การถูกหมายเรียกเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา การดำเนินการสอบสวนคดีอาญา เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองไว้ทั้งสิ้นโดยบัญญัติไว้ในเรื่อง “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ดังกล่าว และเมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จะถูกดำเนินคดีอาญาไว้แล้วว่า บุคคลจะถูกดำเนินคดีอาญาจะต้องมีการกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด (มาตรา 39 ) และจะต้องได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้องและเป็นธรรม (มาตรา 40) ซึ่งผูกพันคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 แล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นองค์กรของฝ่ายบริหารถึงการกระทำอันกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดนั้นว่ามีมูลของการกระทำความผิดอาญาจริงหรือไม่ (PRIMA FACIE หรือ NON PRIMA FACIE) และกระบวนการยุติธรรมที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนในการกระทำจนมีการตั้งข้อหาการก่อการร้ายนั้น เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามกระบวนการตามกฎหมายหรือไม่ (CRIMINAL PROCEDURE DUE PROCESS OF LAW ) อำนาจการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ที่ฝ่ายบริหารต้องปฏิบัติในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และไม่ใช่เป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลและตนเองเป็นผู้มีอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีการกล่าวหาเป็นความผิดอาญานั้น มิใช่เป็นความผิดอาญาตามธรรมดาสามัญโดยทั่วไป แต่เป็นความผิดอาญาสากล (INTERNATIONAL CRIME) และมีการกล่าวหาบุคคลซึ่งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของประเทศ มีการกล่าวหาบุคคลซึ่งประกอบสัมมาอาชีพโดยเปิดเผย และเป็นสัมมาอาชีพที่เกี่ยวกับสื่อสาธารณะ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่เสียหายกับประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล หากข้อกล่าวหานั้นไม่มีมูลความผิดอาญา รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารจะต้องตรวจสอบกระบวนการกล่าวหาเป็นคดีอาญาในข้อหาการก่อการร้ายและกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนให้เกิดความชัดเจนต่อสาธารณชนและประชาคมโลกเสียก่อน ผู้ใช้อำนาจบริหาร ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ไม่มีสิทธิตามกฎหมายใดๆที่จะเรียกร้องให้รัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารที่ถูกกล่าวหาให้ลาออก แต่ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ผู้ใช้อำนาจบริหารจะต้องร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เพราะสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้นั้นผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐในการใช้บังคับกฎหมาย และการตีความในกฎหมาย ในข้อหาการก่อการร้ายด้วยกันทั้งสิ้น และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ปรากฏต่อสาธารณชนและประชาคมโลกเป็นที่ประจักษ์แล้ว การละเลยในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการกล่าวหาเป็นคดีอาญาในความผิดอาญาที่มีลักษณะเป็นความผิดอาญาสากล แต่กลับเรียกร้องให้รัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินลาออกจากตำแหน่งนั้น ย่อมเป็นการแสดงออกให้เห็นซึ่งการขาดองค์ความรู้ของการทำหน้าที่การใช้อำนาจอธิปไตย (SOVEREIGNTY) ของประชาชนในการบริหารงานแผ่นดินและขาดไร้การรักษาไว้ซึ่งความเป็นประเทศที่ใช้หลักนิติรัฐโดยสิ้นเชิง และรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาก็จะลาออกจากการบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ โดยเฉพาะการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะการลาออกย่อมเป็นการประจานให้ประชาคมโลกเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นไร้แล้วซึ่งความเป็นนิติรัฐ

พนักงานสอบสวนจะต้องไม่หวั่นไหวจาการกระทำหน้าที่ของตนในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ถ้ามีหลักฐานและได้ดำเนินการมาโดยชอบด้วยกฎหมายถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย (DUE PROCESS OF LAW) แล้ว ก็ต้องดำเนินการต่อไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ถ้าได้ดำเนินการมาโดยไม่ชอบเพราะหลงผิดหรือด้วยเหตุอื่นใดอันมิใช่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เพื่อรักษาไว้และแสดงออกให้เห็นความเป็นนิติรัฐของประเทศชาติให้เป็นที่ประจักษ์ของสังคมโลกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น