ขนาดตายยังไม่กลัว บาดเจ็บพิการยังไม่หวั่น
แล้วไอ้แค่การ “ยัดข้อหา” อันไม่เป็นธรรมของตำรวจ ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการ แจ้งความเท็จ
ยัดเยียดข้อหาความผิดอันเป็นเท็จ
ไม่มีการกระทำความผิดตามที่ถูกดำเนินคดีอยู่จริง
จึงไม่ได้สร้างความประหวั่นพรั่งพรึงใดๆ ให้กับผู้ถูกกล่าวหาในนาม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่วันนี้กำลังถูกอำนาจ
อธรรม
ยัดเยียดความผิดให้กลายเป็น “ผู้ต้องหา-ผู้สมรู้ร่วมคิดก่อการร้าย”!
ทั้งนี้ ยืนยันได้จาก ท่าทีอย่างเป็นทางการของกลุ่มบุคคลที่ถูกพนักงานสอบสวนคดีปิดล้อมหน้าสนามสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง จำนวน 35 คน
ไม่นับรวม กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาทั้งสองคดีในวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ณ สโมสรตำรวจ
จากคำแถลงหลังร่วมหารือถึงการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ที่บ้านพระอาทิตย์ เมื่อ 9 กรกฎาคม 2552 อันสรุปรวมความได้ว่า ผู้ถูกยัดข้อหาก่อการร้ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแกนนำในพรรคการเมืองใหม่อย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรค , สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค
รวมถึงแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง,นักเคลื่อนไหวการเมืองอิสระ นักสื่อสารมวลชน ผู้ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย และต้องการกำจัดซากเดนการเมืองอันเหม็นเน่าจากการทุจริต คอร์รัปชัน
ต่างยืนยันพร้อมจะไปรับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยพร้อมเพียงกัน
อันแสดงให้เห็นว่า นักสู้ทั้งหมดที่เป็นผลิตผลแห่งการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง 193 วัน เมื่อร่วมกันต่อสู้ตามแนวคิดของตัวเองแล้ว ก็ไม่ได้เกรงกลัวใดๆ ต่อภัยอันตรายทางการเมืองที่จะตามมา
มีแต่จะสร้างความฮึกเหิม และกระตุ้นให้เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวให้กับบางคนเสียด้วยซ้ำ กับความคิดคำนึงที่ว่า บัดนี้ได้เวลาอีกครั้งแล้ว กับการจะออกมาต่อสู้กับ
ความอยุติธรรม
และก้าวแรกของการต่อสู้ก็จะเริ่มต้นขึ้น เมื่อทั้งหมดเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา แล้วก็จะใช้สิทธิในการโต้แย้งเพื่อสู้คดี
โต้แย้งประเด็นในข้อกฎหมาย ในประเด็นที่ว่า พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาความผิดอันเป็นเท็จ เรื่องความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตามกฎหมายอาญา มาตรา 135/1
“ทีมข่าวการเมือง” ขอยกมาตราดังกล่าวมาให้เห็นกันชัดๆ เพื่อจะได้รู้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของคดีนี้ ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจน แต่ก็ยังดันทุรังกลั่นแกล้งประชาชนให้โดนข้อหาหนักจนได้
ซึ่งมาตรา135/1ระบุว่า การก่อการร้ายต้องเป็นการกระทำที่มีลักษะดังต่อไปนี้จึงจะเข้าองค์ประกอบความผิด
(1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
(2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
(3) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิด หรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
แต่ในข้อยกเว้นในวรรคท้าย ระบุไว้ว่า
“หากเป็นการกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตาม รัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย”
ในกรณีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ มีข้อเท็จจริงก็คือ ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมดได้ร่วมกันเคลื่อนไหวการเมือง 193 วัน ด้วยการปักหลักชุมนุมกันตามสถานที่ต่างๆ เช่นหน้าทำเนียบรัฐบาล หน้ารัฐสภา และเคลื่อนไหวไปยังจุดต่างๆ อาทิ หน้าสถานทูตประเทศต่างๆ กระทรวงการคลัง ถนนสีลม ด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการกระทำใดๆที่รุนแรง รวมถึงที่หน้าอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง
อันเป็นการชุมนุมตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในมาตรา 63 ที่บัญญัติว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”
ที่สำคัญเมื่อพิจารณาจาก”เจตนา” ที่ถือเป็นหลักสำคัญของการเอาผิดในคดีอาญา จะพบว่าผู้ถูกเอาผิดทั้งหมด มีเจตนาการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจทางการเมืองอันไม่ชอบธรรมของ
รัฐบาลนอมินีของระบอบทักษิณ ทั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฟอกผิดให้กับ ทักษิณ ชินวัตร
ก่อนจะขยายประเด็นการต่อสู้และเคลื่อนไหวออกไปอีกหลายเรื่อง แต่ทั้งหมดล้วนดำรงอยู่บนจุดยืนคือรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น การปกป้องอธิปไตยให้กับประเทศไทยในกรณีปราสาทพระวิหาร
“เจตนา” ของผู้ถูกตำรวจยัดข้อหาก่อการร้ายเอาผิดในครั้งนี้ จึงมิได้มุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อการสัญจร และการทำกิจการพาณิชย์ของสนามบินทั้งสองแห่ง ที่จะเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดหลักๆ ตามการทำสำนวนอันเป็นเท็จของตำรวจเลยแม้แต่น้อย
เรากล้าชี้ในตอนนี้ว่า งานนี้ตำรวจกับคนมีอำนาจการเมืองรวมหัวกันยัดข้อหาก่อการร้ายให้กับพี่น้องชาวพันธมิตรฯ แน่
เมื่อรูปคดีแสดงให้เห็นชัดว่า เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ จึงต้องฟ้องกลับกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมาตรา 200 ฐานถูกพนักงานสอบสวนกลั่นแกล้งให้ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น
โดยจำเลยที่ 1 ที่จะถูกฟ้องกลับคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นประธาน ก.ตร. แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะแบ่งงานและหน้าที่ดังกล่าวไปให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน ก.ตร.แทนก็ตาม รวมถึงจะมีอีกหลายคนซึ่งหลักๆ ก็คือ
ทีมพนักงานสอบสวน ที่ทำคดีนี้
ผลแห่งคดีนี้จะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด และคอยต้องเฝ้ามองรูปคดีและความเป็นไปของเรื่องนี้ด้วยว่า มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ?
แม้จะแน่นอนว่า ผู้ร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ ทั้งหมดไม่ได้รู้สึกหนักใจกับการตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้แม้แต่น้อยนิด และมั่นใจในกระบวนการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม แต่คดีนี้ก็มีบางเสี้ยวของความเป็นไปที่น่าสงสัยและควรทำให้กระจ่างชัดว่า
มีการเมืองแทรกแซงหรืออยู่เบื้องหลังในการสั่งคดีของตำรวจหรือไม่?
บนวัตถุประสงค์ที่ถูกบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการเติบโตของเมล็ดพันธุ์การต่อสู้ของการเมืองภาคประชาชน
ที่เคยแสดงให้เห็นถึงพลังการต่อสู้บนท้องถนนในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร-สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และวันนี้ได้พัฒนามาสู่
พรรคการเมืองใหม่
ที่จะกลายเป็นพรรคการเมืองคู่แข่งของพรรคแกนนำรัฐบาลเวลานี้ นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์
จึงหวังใช้ “รูปคดี” บั่นทอนการเติบโตอย่างรวดเร็วของพรรค ”การเมืองใหม่” ยิ่งเมื่อแนวทางการทำการเมืองใหม่ของแกนนำพรรคนี้เห็นได้ชัดว่า สวนทางกับวิธีคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจทำให้แกนนำพรรคปชป.บางคนที่ไม่ชอบการตรวจสอบรัฐบาลปชป. อย่างเกาะติดของแกนนำพันธมิตรฯ บางคน อาจคิดไปไกลว่า หากปล่อยให้พรรคการเมืองใหม่เติบโตต่อไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเส้นทางอำนาจของตัวเอง ดังนั้น วันนี้เมื่อดึงพันธมิตรฯ และแกนนำพรรคการเมืองให้เข้ามา
เป็นมิตรไม่ได้ ก็ต้องให้ศัตรูอ่อนแอมากที่สุด และรีบน็อกให้ได้เร็วที่สุด
จึงจะถือโอกาสนี้ ทลายเสาเข็มการเมืองที่แกนนำพรรค
การเมืองใหม่กำลังเร่งลงหลักปักฐานเพื่อหวังให้เสาเข็มต้นนี้ล้มลงโดยเร็วที่สุด หรืออย่างน้อยก็ทำให้ต้องหยุดชะงักไปชั่วขณะก็ยังดี
แต่เรื่องนี้ จะเป็นจริงอย่างที่หลายฝ่ายวิเคราะห์และ คาดการณ์ไว้หรือไม่ เรามิอาจสรุปได้ในยามนี้ นอกจากต้องรอให้ความจริงปรากฏชัดในอีกไม่นาน
เพราะตอนนี้อันดับแรกต้องขอให้ทุกฝ่าย จับตามองผลพวงแห่งคดีนี้ชนิดกะพริบตาไม่ได้
เพราะไม่ว่ารูปคดีจะออกมาเช่นใด มันจะเป็นบรรทัดฐานทางข้อกฎหมาย และทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างแน่นอน
เช่น หากผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมดตกเป็นจำเลยในคดีความผิดตามสำนวนฟ้องของตำรวจจริง โดยเฉพาะความผิดเรื่องร่วมกันก่อการร้าย
ก็จะทำให้ “รูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรัฐสภา” ถึง “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ”
ที่เห็นชัดคือ การเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน จะทำได้ยากมากขึ้น หากพบเห็นการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบธรรม หรือรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชัน ปล้นชาติโกงแผ่นดิน แล้ว ไม่อาจพึ่งพาการตรวจสอบในระบบรัฐสภา และองค์กรอิสระ จึงต้องออกมารวมตัวกันเพื่อขับไล่รัฐบาลกังฉิน หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเรียกร้องสิทธิต่างๆ
เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน สินค้าเกษตรกรรมตกต่ำ ปัญหาการบุกรุกที่ดินของนักการเมือง และนักธุรกิจซึ่งมีอำนาจสูงในรัฐบาล
แล้วผู้กุมอำนาจรัฐในเวลานั้นที่ถูกการเมืองภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวกดดันนอกรัฐสภา จะหาทางกำจัดเสี้ยนหนาม จึงใช้กลไกตำรวจที่อยู่ในมือ
“ป้ายสีความผิด”
ให้กับกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองและเคลื่อนไหวเพื่อทวงสิทธิต่างๆ ด้วยข้อหาที่รุนแรงยิ่ง นั่นก็คือข้อหา “การก่อการร้าย” แล้วรีบเร่งทำคดีและเอาผิดกับกลุ่มผู้เคลื่อนไหว เพื่อต้องการให้การเคลื่อนไหวยุติโดยเร็วที่สุด
ถ้าเป็นแบบนี้ การเมืองภาคประชาชน ไม่ถึงจุดเปลี่ยนก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรแล้ว