xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ศก.ไทยมีสัญญาณบวกพอใจออร์เดอร์สินค้าเริ่มเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มเห็นสัญญาณเป็นบวก โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจหลายตัวในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมากในจีดีพี เริ่มเห็นคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา มั่นใจช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอนาคตเริ่มปรับเพิ่มอยู่ที่ระดับ 50.2 ครั้งแรกในรอบ 15 เดือน แต่ห่วงความต่อเนื่องการใช้จ่ายภาครัฐ

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจหลายตัวในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 เริ่มมีสัญญาณจะเป็นบวก ถือว่าขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสแรกของปีที่หดตัวถึง 7.1% เนื่องจากมาตรการภาครัฐและคำสั่งซื้อ 3 เดือนข้างหน้าเริ่มปรับตัวดีขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำกว่านี้มีน้อยลงแล้วขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมเฉพาะเดือน พ.ค.ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือน เม.ย.

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นนอนทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อสินค้าและบริการต่อไปด้วย การใช้จ่ายภาครัฐที่หากสะดุดก็อาจทำให้โครงการต่างๆ ไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ของไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนถึง 40%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลักขยายตัวสูงถึง 20.7% ซึ่งเกิดจากสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ และเป็นการส่งออกไปยังจีนและไต้หวัน ถือเป็นส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ดีในขณะนี้

สำหรับการลงทุนยังคงทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อพิจารณาจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งองค์ประกอบด้านต้นทุนการประกอบการปรับลดลง โดยจากระดับ 39.2 ในเดือนเม.ย.ปรับมาอยู่ที่ 45.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะคำสั่งซื้อการผลิต และผลประกอบการสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ความยากในการปรับราคาสินค้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการดำเนินธุรกิจ แต่ดัชนีนี้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับมาอยู่ที่ระดับเชื่อมั่นที่ 50.2 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

“การลงทุนภาคเอกชนในขณะนี้ยังไม่ดีนัก และการใช้กำลังการผลิตยังต่ำอยู่ ซึ่งเครื่องชี้การลงทุนในช่วง 2 เดือนแรกก็ยังไม่ชัดเจนนัก ดังนั้น จึงต้องใช้แรงผลักดันจากภาครัฐให้เกิดการลงทุนชัดเจน เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้คำสั่งซื้อ โดยเฉพาะจากในต่างประเทศเริ่มเข้ามาแล้ว”

เช่นเดียวกับการบริโภคหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยเฉพาะสินค้านำเข้าด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 71.5 โดยเป็นการลดลงทุกรายการทั้งความเชื่อมั่นในปัจจุบันและอนาคตจากความวิตกกังกลเกี่ยวกับเสถียรภาพการเมือง ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก และการปรับขึ้นของราคาน้ำมันขาย

ขณะที่มูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง ลดลง 25.9% หรือมูลค่าการส่งออก 21,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวทั้งด้านราคาและปริมาณและเป็นการหดตัวในสินค้าทุกประเภท และเมื่อหักยอดส่งออกทองคำออกไป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกทองคำจำนวนมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวถึง 26.5% ส่วนการมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 18,900 ล้านเหรียญ หรือหดตัว 35.4% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และมองว่าในอนาคตยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทำให้เกินดุลการค้า 3,000 ล้านเหรียญ และขาดดุลลบริการ รายได้ และเงินโอน 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นช่วงตกงวดที่ต้องมีการส่งกำไรและเงินปันผลไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ

ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเฉพาะเดือนพ.ค.เกินดุล 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อนับ 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 เกินดุล 1.8 พันล้านเหรียญ และหากนับรวม 5 เดือนแรกของปีนี้เกิดดุล 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 3.3% ในเดือนพ.ค.และเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง 0.3% หดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนพ.ค. ปี 47 หรือในรอบ 5 ปี และมีอัตราการว่างงาน 2.1% หรือ 816,800 คน ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างหันมาจ้างงานล่วงหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 56% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. 53% ซึ่งมองแนวโน้มสอดคล้องกับการผลิตที่ดีในอนาคต

ด้านภาคการเงินในเดือน พ.ค. เงินฝากขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 6.2% เมื่อรวมกับตั๋วแลกเงิน (บีอี) ขยายตัว 8.8% ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนหดตัว 4.5% ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเป็นการชะลอในส่วนของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งการลดลงของสินเชื่อเกิดจากธนาคารพาณิชย์มีการขายหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท แต่หากบวกกลับเอ็นพีแอลนี้จะทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 4.9 พันล้านบาท ดังนั้น แนวโน้มสินเชื่อยังคงลดลงต่อเนื่อง.
กำลังโหลดความคิดเห็น