xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐานซัดเขมรมั่ว อ้างเส้นแดนฮุบ"เกาะกูด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการ กม.ทางทะเลชี้ชัด "เกาะกูด" และทรัพยากรในอ่าวไทย คือสมบัติของชาติไทยที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในสนธิสัญญากรุงสยาม-กรุงฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิในพื้นที่เกาะกูด รวมถึงเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลที่เขียนขึ้นมาเองก็ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้ "มาร์ค" ระบุไม่ยืดเวลาเคลียร์ปมข้อพิพาทปราสาทพระวิหารเกิดปัญหาแน่ อ้างเรื่องละเอียดอ่อนย้ำต้องทำไม่กระทบสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา "สุวิทย์" ฉะฝ่ายไทยอืดกว่ากัมพูชา แนะถกครั้งต่อไปที่บราซิลไทยควรมีจุดยืนที่ชัดเจนและควรมีผู้ใหญ่ไปร่วมประชุมด้วย

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ประเทศกัมพูชาได้จัดทำแผนที่และลากเส้นเขตหลักแดนทางทะเลของประเทศกัมพูชาแล้วเตรียมประกาศเป็นหลักเขตแดนร่วมกับไทย แต่แผนที่ดังกล่าวได้มีการลากเส้นเขตแดนผ่านเข้ามาในบริเวณเกาะกูด กล่าวคือได้มีการอ้างว่าพื้นที่บนเกาะกูดครึ่งหนึ่งเป็นของกัมพูชานั้น
วานนี้ (30 มิ.ย.) "ASTV ผู้จัดการออนไลน์" ได้รับข้อมูลและหลักฐานอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจากนักวิชาการด้านกฎหมายทางทะเล คณะลอจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เปิดเผยข้อมูลว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่ทางการกัมพูชากล่าวอ้างว่า "เกาะกูด" เป็นของกัมพูชานั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะใน "สนธิสัญญาระหว่างกรุงสยาม และกรุงฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907" (ซึ่งปัจจุบันก็มีหลักฐานดังกล่าวปรากฏอยู่ทั้งที่ในกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศของไทย และกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "รัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม"
นอกจากนี้ เมื่อฝรั่งเศสได้ทำสัญญาระบุว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของประเทศไทยแล้ว ข้อมูลดังกล่าวก็ได้ถูกนำมาประกาศในราชกิจจานุเบกษาของไทย เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๕ (ค.ศ.๑๙๐๗) โดยระบุข้อความว่า "รัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกดินแดน เมืองด่านซ้าย และเมืองตราดกับทั้งเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงลงไป จนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม" เช่นเดียวกับในสนธิสัญญา ดังนั้นจึงมีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า "เกาะกูด" เป็นสมบัติของไทยอย่างแน่นอน
นักวิชาการผู้นี้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ตั้งแต่อดีตเกาะกูด ถือเป็นอาณาเขตพื้นที่ของไทยมาเป็นเวลานานแล้ว โดยบนเกาะพบว่ามีหลักศิลาจารึกโบราณแผ่นหนึ่ง ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณเกาะกูดแห่งนี้เป็นแผ่นดินสยาม อีกทั้งยังมีการสร้างกระโจมไฟเอาไว้อำนวยความสะดวกด้านการเดินเรือทางทะเลของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันทั้งพื้นที่ซึ่งแผ่นศิลาจารึกตั้งอยู่ และกระโจมไฟดังกล่าวก็อยู่ในเขตพื้นที่ของทหารเรือไทยดูแล จึงยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำได้อย่างชัดเจนว่าไทยได้ถือครองกรรมสิทธิ์ในแผ่นดินเกาะกูดนานมากแล้ว และทางกัมพูชาเองก็ไม่เคยอ้างสิทธิ์ใดๆ ดังนั้น การที่กัมพูชาเขียนแผนที่เขตแดนใหม่ว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชาครึ่งหนึ่งนั้นจึงไม่ถูกต้อง ซึ่งไทยก็จะต้องมีการดำเนินการเจรจาและชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ หากสังเกตจากในภาพแผนที่ที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นคนขีดเส้นแบ่งขึ้นมาใหม่ (เส้นประยาว) จะเห็นได้ว่า แผนที่ซึ่งทางกัมพูชาวาดขึ้นนั้น มีการตัดแบ่งเกาะกูดออกเป็น 2 ส่วน เพื่อที่เมื่อลากเส้นเขตแดนทางทะเลแล้วจะปรากฏว่าพื้นที่กรรมสิทธิ์ทางทะเลของกัมพูชา เลยเข้ามาในเขตอ่าวไทยมากยิ่งขึ้น (ซึ่งบริเวณนั้นเองที่เต็มไปด้วยทรัพยากรปิโตรเลียม และน้ำมัน) และหากกัมพูชาจะลากเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลตามที่ควรจะเป็นตามหลักสากล นั่นคือ 12 ไมล์ทะเลจากแผ่นดินของกัมพูชาแล้วก็ได้แนวเขตตามเส้นประสั้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอาณาเขตทางทะเลของกัมพูชาไม่เหลื่อมล้ำเข้ามาในพื้นที่อ่าวไทย
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพาผู้นี้ระบุว่า สาเหตุที่ตนนำหลักฐานและข้อมูลดังกล่าวมาเปิดเผยนั้นก็เพื่อต้องการให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ข้อเท็จจริงถึงกรณีดังกล่าว และคลายความกังวลว่าพื้นที่ทะเลในอ่าวไทยจะต้องตกไปเป็นของประเทศกัมพูชา เพราะเท่าที่ตนได้ทำการศึกษาค้นคว้ามานาน ซึ่งก็ได้พบหลักฐานมากมายตามที่กล่าวมา ประกอบอีกหนึ่งหน้าที่ของตนนั้นก็ได้ช่วยงานด้านพื้นที่ทางทะเลของกระทรวงการต่างประเทศมานาน ก็ทำให้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของข้อพิพาทที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาจะต้องนำหลักฐานมาอ้างอิงและอธิบายกับนานาประเทศต่อไป ไม่ได้หมายความว่าเมื่อกัมพูชาทำแผนที่มาแล้วไทยจะต้องยอมรับเสมอไป
"คือที่นำเรื่องนี้มาพูดก็คือ ต้องการอยากจะบอกกับประชาชนทั่วไปว่า ไม่ต้องกังวล เพราะทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในฝ่ายเทคนิค ฝ่ายกฎหมาย หรือกรมต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมานาน และก็ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมาโดยตลอด ดังนั้น ไม่ต้องกังวล ยืนยันได้ว่าเกาะกูดยังเป็นของไทย และจะไม่เสียไปให้ใครโดยเด็ดขาด ซึ่งเรื่องข้อพิพาทในเขตแดนทางทะเลของเรากับกัมพูชาก็ต้องมีการตกลงเจรจาแบบทวิภาคีกันต่อไป"
พร้อมกล่าวด้วยว่า "ส่วนที่มีการกังวลกันว่าจะมีเรื่องการเมืองเกี่ยวข้องหรือไม่ อันนี้ผมว่าไม่นะ เพราะการเจรจาเรื่องแบบนี้มันถือเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งฝ่ายเทคนิคของกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้เจรจาดำเนินงาน รัฐบาลหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาเสียมากกว่า แล้วอีกอย่างหากมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเขตแดนจริงก็ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และนานาประเทศ ตลอดจนต้องมีการลงในราชกิจจานุเบกษาที่ประมุขของทั้งสองประเทศจะต้องลงนาม จึงอยากให้ประชาชนได้มั่นใจว่าเรื่องนี้ว่าจะมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส และถูกต้องที่สุด"

**"มาร์ค" ไม่ยืดเวลาเคลียร์กัมพูชา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ถึงกรณีข้อพิพาทประสาทพระวิหาร หลังจากที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ถึงการเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่สเปน กรณีที่กัมพูชาเสนอขอขึ้นทะเบียนประสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า โดยสรุปคือ ขั้นตอนที่กัมพูชาจะดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมติ เมื่อมีการยืดเวลาไปเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งเราได้แสดงจุดยืนและให้ข้อเท็จจริงกับทางคณะกรรมการมรดกโลกไปว่า ต้องระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง เพราะมันมีความละเอียดอ่อน และเราก็ไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณนั้นมีปัญหา มีความตรึงเครียด หรือมีความรุนแรง
เมื่อถามว่า แต่เวลานี้ยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่ การเผชิญหน้าก็ยังมีอยู่ในพื้นที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ ถ้าเขาไม่ยืดเวลาก็จะเป็นปัญหา เพราะมีหลายอย่างที่ต้องไปดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งตนเห็นว่า การยืดเวลานี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องเดินหน้าต่อไปได้

**"ปณิธาน" เผย "สุวิทย์" ทำสำเร็จ
ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ทาง ครม.เห็นว่าการเดินไปสเปน ของนายสุวิทย์ ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเราต้องการให้คณะกรรมการมรดกโลกรับทราบปัญหาของไทยและเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากที่ได้มีการจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกได้เกิดข้อพิพาทอย่างรุนแรงระหว่างไทยและกัมพูชาจนมีการเสียเลือดเนื้อและกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง ซึ่งทางการไทยต้องการให้คณะกรรมการมรดกโลกเข้ามาดูแลในกรณีการจดทะเบียนมรดกโลกในพื้นที่ที่มีปัญหาระหว่างประเทศ โดยระหว่างนี้ทางการไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการฯจะมีแนวความคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยลดปัญหาในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการฯ จะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไรจะมีการเปลี่ยนมติหรือไม่แต่ทางฝ่ายไทยก็หวังว่าจะเป็นมติที่ทำให้ประเทศที่อยู่ในรอยต่อของมรดกโลกมาร่วมมือกันอย่างสมานฉันท์ ซึ่งก็เป็นเจตนารมณ์เดิมของคณะกรรมการฯอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าเมื่อจดทะเบียนแล้วมีปัญหาเขาคงนำเรื่องนี้กลับไปทบทวนอีกครั้งและคาดว่านายสุวิทย์ จะเดินทางไปชี้แจงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจ

**"สุวิทย์"ฉะฝ่ายไทยอืดกว่ากัมพูชา
ขณะที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการมรดกโลกประเทศไทย กล่าวหลังเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกว่า ได้เห็นว่าปัญหาของไทยอยู่ที่ใดและมีประโยชน์ คือ ไปทำความเข้าใจกับกรรมการมรดกโลกและภาคีสมาชิกที่มาร่วมประชุม ถือว่าทำความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมามีปัญหา 1.ความไม่เป็นเอกภาพด้านนโยบาย 2.ขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ และการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเพราะจะพูดหลังจากที่มีมติออกมาแล้วนั้นมันไม่มีความหมาย ฉะนั้น การเตรียมการนั้นมันจำเป็นเพราะหากมองการเตรียมการของกัมพูชานั้นมีความพร้อมมากกว่าไทยเยอะ เรื่องนี้ตนได้พูดกับยูเนสโกและกรรมการมรดกโลกแล้ว
"การที่ผมไปคุยกับ ผอ.ใหญ่ยูเนสโกนั้นก็เริ่มเห็นปัญหาแล้วว่าความขัดแย้งของสองประเทศมีจริง ฉะนั้น ต้องพิจารณากันต่อว่าขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไปนั้น ไทยควรมีการเตรียมข้อมูลเสนอกรรมการมรดกโลกและไปคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องรวมท้งภาคีสมาชิกกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาช่องทางยุติปัญหาของไทยและกัมพูชา ตรงนี้คือทางออกที่ดีที่สุดของผม เหมือนวันนี้เราแข่งขันฟุตบอล ครึ่งแรกโดนยิงพรุน ครึ่งหลังตีเสมอได้ตอนนี้คือการต่อเวลา กรรมการมรดกโลกมีมติมาแล้วว่า การพิจารณาปราสาทเขาพระวิหารจะพิจารณาในปีหน้าในบราซิล ฉะนั้นหนึ่งปีนี้เราสามารถทำงานได้"นายสุวิทย์ กล่าวและว่า
หากถามว่าโอกาสยังมีหรือไม่ ยืนยันว่าตอนนี้ช่องทางนั้นมีหลายช่องทาง วันนี้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกมีหลายรูปแบบ การประชุมครั้งนี้มีรูปเบบใหม่ขึ้นมาคือขึ้นทะเบียนมรดกโลกสามทวีป ฉะนั้นกรรมการมรดโลกของไทยต้องประชุมและมีการเตรียมการที่มากกว่านี้หากไม่ทำงานแบบต่อเนื่องก็จะขาดตอน สิ่งสำคัญ คือ คนที่มีความรู้ในเรื่องนี้แบบต่อเนื่องนั้นมีไม่กี่คนและไม่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้ มันคือช่องว่างที่มีอยู่เพราะการขึ้นทะเบียนมรดกโลกมีหลายรูปแบบและบางครั้งการขึ้นทะเบียนไปแล้วก็ยังโดนถอดออกจากการขึ้นทะเบียนได้
"การไปประชุมครั้งนี้ก็เห็นรูปแบบหลายวิธีการ ขอเรียนว่าวิธีที่จะทำนั้นไทยจะดูดีและไม่น่ามีปัญหากับกัมพูชา" นายสุวิทย์ กล่าว และว่า แม้ปีหน้าอาจมีการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะเรื่องนี้มัน คือ การทำความเข้าใจด้านจุดยืน พรมแดน อธิปไตย
ส่วนเอกสารและหลักฐานที่จะยื่นเพิ่มเติมนั้น กรรมการมรดกโลกไม่ได้รับรายละเอียดหลายเรื่องจากกัมพูชาและกัมพูชาต้องยื่นเพิ่มไป เพราะการยื่นขอขึ้นทะเบียนนั้น ปัญหาด้านแผนที่และเขตแดน พื้นที่กันชน แผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันนั้นยังไม่มีข้อยุติ แม้กัมพูชาจะเสนอเรื่องนี้ไปตั้งแต่เดือน เม.ย.แต่ตอนนี้กัมพูชาต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้กรรมการมรดกโลกพิจารณาอีกครั้งในปีหน้า ฉะนั้น ตอนนี้ไทยต้องไปดูเรื่องเขตพื้นที่ สิ่งใดที่ร่วมมือกันได้ก็ควรร่วมมือกัน
"เรื่องนี้มีหลายฝ่ายที่เห็นด้วยกับแนวคิดคณะกรรมการปักปันชายแดนที่ต้องไปดูการกำหนดเขตแดนที่ต้องทำงานหนัก หากปักปันเขตแดนได้ชัดเจนแล้วนั้น กระบวนการนี้จะหมดปัญหา วันนี้ไทย-กัมพูชาไม่มีสิ่งใดขัดแย้งกัน มีเพียงกรรมการมรดกโลกของไทย กรรมการมรดกโลกและยูเนสโกต้องไปหารือกัน"

**นายกฯมอบ"สุวิทย์"รับหน้าเจรจาต่อ
มีรายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.กรณีเขาพระวิหารเผยว่าว่า นายสุวิทย์ ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศสเปน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ข้อมูลของยูเนสโก้และของกัมพูชานั้นยังไม่ตรงกัน ทำให้ต้องเลื่อนวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารไปเป็นปีหน้าที่ประเทศบราซิล ทั้งนี้ กัมพูชามีตัวแทนไปร่วมประชุม และพร้อมชี้แจงกับยูเนสโก้ และกรรมการมรดกโลก 20 กว่าคน ทั้งรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ และรัฐมนตรีคนอื่นฯ ซึ่งทำให้เห็นว่าการทำงานของกัมพูชาเป็นระบบและมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงๆ แต่ใส่วนของไทยนั้นในอดีตที่ผ่านมาบางครั้งก็มีตัวแทนไปร่วมประชมเพียง 2 คนและให้ข้อมูลไม่ตรงกัน
ฉะนั้น การประชุมกรรมการมรดกโลกปีหนี้ที่ประเทศบราซิล ไทยควรมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะเอาอย่างไร และควรมีผู้ใหญ่ไปร่วมประชุมด้วย ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ต้องรักษาความสัมพันธ์ของสองประเทศให้ดี และมอบหมายให้นายสุวิทย์ เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น